ข้ามไปเนื้อหา

เอ็กซ์โป 2008

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กฎบัตรซาราโกซา)
ซาราโกซา 2008
ภาพรวม
ระดับ BIEเอ็กซ์โปวาระพิเศษ
หมวดหมู่มหกรรมระหว่างประเทศประเภทการรับรอง
ชื่อเอ็กซ์โป 2008
พื้นที่25 เฮกตาร์ (62 เอเคอร์)
ผู้เข้าชม5,650,941
มาสคอตฟลูวี
ผู้เข้าร่วม
ประเทศเข้าร่วม104
หน่วยงานเข้าร่วม21
ที่จัดงาน
ประเทศผู้จัดประเทศสเปน
เมืองเจ้าภาพซาราโกซา
พิกัด41°40′8.58″N 0°54′10.27″W / 41.6690500°N 0.9028528°W / 41.6690500; -0.9028528
ลำดับเวลา
เสนอตัวมิถุนายน 2003
คัดเลือก16 ธันวาคม ค.ศ. 2004 (2004-12-16)
เริ่มต้น14 มิถุนายน ค.ศ. 2008 (2008-06-14)
สิ้นสุด14 กันยายน ค.ศ. 2008 (2008-09-14)
เอ็กซ์โปวาระพิเศษ
ก่อนหน้าเอ็กซ์โป 1998 ที่ ลิสบอน
ถัดไปเอ็กซ์โป 2012 ที่ ยอซู
นิทรรศการโลก
ก่อนหน้าเอ็กซ์โป 2005 ที่ ไอจิ
ถัดไปเอ็กซ์โป 2010 ที่ เซี่ยงไฮ้
มหกรรมพืชสวน
ก่อนหน้าพืชสวนโลก 2006 ที่ เชียงใหม่
ถัดไปเอ็กซ์โป 2012 ที่ เวนโล

เอ็กซ์โป ซาราโงซา 2008 สเปน: Expo Zaragoza 2008 งานแสดงนิทรรศการนานาชาติที่เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 14 กันยายน 2551 ณ เมืองซาราโกซา ประเทศสเปน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญของทรัพยากรน้ำต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตตลอดจนการป้องกันปัญหาความขัดแย้งของภูมิภาค เรื่องการขาดแคลนทรัพยากรน้ำในอนาคต ทั้งนี้ ซาราโกซาได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองศูนย์กลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งทศวรรษ (ค.ศ. 2005 – 2015) ขององค์การสหประชาชาติด้วย

ประวัติ[แก้]

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 องค์การนิทรรศการนานาชาติ คัดเลือกให้เมืองซาราโกซา ประเทศสเปนเป็นผู้จัดการแสดงนิทรรศการนานาชาติ ณ เมืองซาราโกซา (สเปน: Expo Zaragoza 2008) เพื่อระลึกถึงการจัดนิทรรศการร่วมกันของประเทศสเปนและประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2451 (อังกฤษ: Spanish - French Exposition Zaragoza of 1908) จัดเป็นนิทรรศการที่ได้รับการรับรองจากองค์การนิทรรศการนานาชาติ ภายใต้แนวคิดหลัก "น้ำกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” (อังกฤษ: Water and Sustainable Development) โดยรัฐบาลสเปนได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลสเปน รัฐอรากอนและเมืองซาราโกซาเพื่อลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว เช่น ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (อังกฤษ: High Speed Train; AVE) ระหว่างกรุงมาดริดและบาร์เซโลนา ปรับปรุงสนามบิน ก่อสร้างอาคารแสดงนิทรรศการและที่พักอาศัย โดยมีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมจัดนิทรรศการ 102 ประเทศ และหน่วยงานเอกชนประมาณ 200 องค์กร

สัตว์สัญลักษณ์[แก้]

ฟลูวี

ฟลูวี (สเปน: Fluvi) หมายถึงหยดน้ำ[1]

การจัดพื้นที่[แก้]

เจ้าภาพได้กำหนดพื้นที่และอาคารต่าง ๆ ในการจัดงาน ได้แก่

พื้นที่และอาคารหลัก (อังกฤษ: Thematic Pavilions and Thematic Squares; สเปน: Pabellones Tematicos y Plazas Tematicas) ประกอบด้วย

อาคารสะพานข้ามแม่น้ำเอโบร[แก้]

อาคารสะพานข้ามแม่น้ำเอโบร (อังกฤษ: Bridge Pavilion; สเปน: Pabellon Puente) เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและจัดเป็นจุดสนใจของงานนี้ เป็นหนึ่งในสามทางเข้าชมงานโดยเป็นอาคารสะพานข้ามแม่น้ำเอโบร (สเปน: Rio Ebro) สถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร คือ Zaha Hadid ชาวอิรัก สามารถรองรับผู้ชมได้ชั่วโมงละ 1,300 คน เป็นการเสนอภาพรวมของใช้น้ำปัจจุบันและคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และความสำคัญของน้ำ

อาคารรูปหยดน้ำ[แก้]

อาคารรูปหยดน้ำ (อังกฤษ: Water Tower; สเปน: Torre del Aqua) นำเสนอนิทรรศการน้ำเพื่อชีวิต (อังกฤษ: Water for life) ที่ชั้นล่างเสนอนิทรรศการ "ธรรมชาติของน้ำ" (อังกฤษ: Nature of water) ประกอบด้วย น้ำคืออะไร อาณาจักรน้ำ พื้นที่สีฟ้า เราคือน้ำ มหัศจรรย์แห่งน้ำ และวัฏจักรของน้ ำ (อังกฤษ: Water is; Water Planet; Blue landscape; We are water; The magic of water and Water cycle) ทั้งนี้ ในพื้นที่แสดงนิทรรศการจัดแสดงประติมากรรม "แหล่งกำเนิดฝน" (อังกฤษ: Source of Rain) อาคารนี้ยังเปลี่ยนสีได้ตามแนวคิดของกลางวันและกลางคืน ซึ่งได้ก่อสร้างเป็นชั้น ๆ เพื่อการรับแสงและเป็นประกายของแสง ชั้นบนสุดเป็นพื้นที่บริการเครื่องดื่มขนาด 600 ตารางเมตร

อาคารแสดงนิทรรศการสัตว์น้ำจืด[แก้]

อาคารแสดงนิทรรศการสัตว์น้ำจืด (อังกฤษ: Freshwater Aquarium; สเปน: Acuario Fluvial) เป็นอาคารขนาด 7,850 ตารางเมตร จัดแสดงพันธุ์ปลาในถังกระจกเลี้ยงปลาขนาดเกือบสามล้านลิตร โดยมีการจำลองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำห้าสาย คือ แม่น้ำไนล์ แม่น้ำโขง แม่น้ำอเมซอน แม่น้ำดาร์ลิ่ง-เมอเรย์ และแม่น้ำเอโบร เพื่อแสดงพื้นที่ราบลุ่ม นกในบริเวณปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ฯลฯ จัดเป็นจุดสนใจที่สำคัญของงานอีกแห่งหนึ่ง

น้ำและเมือง[แก้]

น้ำและเมือง (อังกฤษ: Water and cities; สเปน: Ciudadas del Aqua) อาคารแสดงความสัมพันธ์ของน้ำกับเมือง ชุมชน และเสนอข้อมูลของเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในโลกและความสัมพันธ์กับการใช้น้ำ

น้ำกับความแห้งแล้ง[แก้]

น้ำกับความแห้งแล้ง (อังกฤษ: Water and Thirst; สเปน: Sed) อาคารรูปผลึกเกลือขนาดใหญ่ สูง 12 เมตร แสดงให้เห็นวิถีชีวิตและเทคโนโลยีในการต่อสู้กับการขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ผู้ชมสามารถมองเห็นวัฏจักรของน้ำทั้งหมดได้ภายในอาคารนี้ ตั้งแต่เป็นเมฆ ฝนและน้ำ มีการเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ใช้ในเมืองและปริมาณน้ำในทะเลทราย เพื่อเรียนรู้ถึงการอพยพเพื่อค้นหาแหล่งน้ำ

น้ำกับพลังงาน[แก้]

น้ำกับพลังงาน (อังกฤษ: Water and Energy; สเปน: Oikos) อาคารในจินตนาการขนาด 1.231 ตารางเมตร ออกแบบโดย Roland Olbeter และ Domingo Guinea แสดงให้เห็นบ้านในอนาคตของมนุษย์ซึ่งก่อสร้างให้มีการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน เป็นการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น

การแบ่งปันน้ำ[แก้]

การแบ่งปันน้ำ (อังกฤษ: Share Water; สเปน: Aqua Comparida) อาคารขนาด 1,240 ตารางเมตร แสดงให้เห็นถึงการสร้างโลกใหม่โดยการเสนอแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ คือ Victor Pochat และ Carlos Fernandez Jauregui ประกอบด้วย "ความยุ่งเหยิงของนโยบายในปัจจุบัน" (อังกฤษ: the chaos of division, current policy) ผู้ชมจะได้รับทราบข้อมูลในมุมมองต่าง ๆ และจบด้วยข้อมูลที่ถูกต้องในการบริหารจัดการน้ำ

น้ำท่วม[แก้]

น้ำท่วม (อังกฤษ: Extreme Water; สเปน: Aqua Extrema) อาคารสูง 22 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 36 เมตร ภายใต้การเสนอแนวคิดจากศาสตราจารย์ Javier Martin เพื่อเสนอข้อมูลผ่านการเดินทางด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น คลื่นยักษ์ พายุเฮอริเคน ผลกระทบของอากาศเย็นในบ่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมหันตภัยต่าง ๆ โดยเทคนิค Imax cinema เพื่อสร้างประสบการณ์ในการสัมผัสสถานการณ์เหมือนจริง (ข้อมูลคลื่นยักษ์ คือ เหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2545)

บ้านดิน[แก้]

บ้านดิน (สเปน: El Faro) เป็นนิทรรศการที่เกิดจากความคิดริเริ่มของประชาชน หรือ The Beacon และเป็นครั้งแรกที่องค์กรเอกชน (อังกฤษ: Non Government Agencies; NGOs) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและกำหนดเนื้อหาของนิทรรศการ ก่อสร้างในรูปแบบบ้านดิน เสนอแนวคิดการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับน้ำ ได้แก่ สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการเข้าถึงระบบประปาและสุขาภิบาลน้ำสะอาด เป็นต้น โดยจัดเป็นนิทรรศการเรื่องต่าง ๆ รวม 8 แนวคิดเพื่อแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต้องการเสนอข้อมูลถึงสังคมโดยรวม

นิทรรศการน่าสนใจ[แก้]

ศาลาสเปน[แก้]

ศาลาสเปน (สเปน: Pabellon de Espana) รัฐบาลสเปนในฐานะประเทศเจ้าภาพได้กำหนดแนวคิดในการเสนอนิทรรศการ คือ วิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ (อังกฤษ: Science and creativity) โดยมีสถาปนิกจากรัฐเนวารา (สเปน: Navarra) ชื่อ Patxi Mangado เป็นผู้ออกแบบ ด้วยความร่วมมือจาก (อังกฤษ: The National Centre for Renewable Energies of Spain; CENRE) เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาคารนี้จึงเป็นอาคารประหยัดพลังงานที่มีการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ เนื้อหาที่เสนอภายในศาลาสเปนประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์การ์ตูนในสถานการณ์จำลอง เรื่องน้ำและเด็ก (อังกฤษ: Children of Water) นิทรรศการน้ำกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (Water on Earth) โดยการฉายวีดิทัศน์ประกอบการใช้เทคนิค Ghost Effect การใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในสเปน (Spain and Water) การแสดงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการและการศึกษาของสเปนที่เกี่ยวข้อง (Understand to Survive: the Climate)และการออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Zaragoza Kioto exhibition: architectures for a sustainable planet)

ศาลาเตอร์กี[แก้]

ศาลาเตอร์กี (สเปน: Pabellon de Turquia) แสดงวัฒนธรรมและวิธีการจัดการน้ำ ผ่านแหล่งน้ำต่าง ๆ ในประเทศเตอร์กี (อังกฤษ: Water source of life) โดยแสดงวิธีการใช้น้ำในชีวิตประจำวันผ่านศิลปะที่ตกแต่งก็อกน้ำสาธารณะ (อังกฤษ: Fountains for life) แสดงแสง สีและเสียง ผ่านชีวิตและวัฒนธรรมเกี่ยวกับน้ำ (อังกฤษ: Water and life for all) และเสนอความสุขจากน้ำ (อังกฤษ: The pleasures of water)

ศาลาเยอรมัน[แก้]

ศาลาเยอรมัน (สเปน: Pabellon de Alemania) เป็นการจำลองการควบคุมวัฏจักรของน้ำทั้งในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ การผลิตน้ำบริสุทธิ์ และการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้การนั่งเรือชมแหล่งกำเนิดน้ำใต้ดิน และเล่าเรื่องระหว่างการล่องแม่น้ำโคโลญญ์ อังกฤษ: Cologne River) ในลักษณะสถานที่จำลอง

ศาลาญี่ปุ่น[แก้]

ศาลาญี่ปุ่น (สเปน: Pabellon de Japon) จัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาและวัฒนธรรมการใช้น้ำกับเทคโนโลยีโดยผนวกแนวคิดจากการจัดงานแสดงนิทรรศการโลกที่เมืองไอจิ ประเทศญี่ป่น เมื่อปี ค.ศ.2005 โดยใช้สัตว์สัญลักษณ์ (อังกฤษ: Mascot) ชื่อ Maruzo มาดำเนินเรื่องร่วมกับสัตว์สัญลักษณ์ของงาน ชื่อ ฟลูวี (สเปน: Fluvi) และเสนอภาพวีดิทัศน์ในห้องโถงใหญ่แสดงวีถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับการใช้น้ำ เล่าผ่านตัวการ์ตูนญี่ปุ่น (เต่า)

ศาลาเกาหลี[แก้]

ศาลาเกาหลี (สเปน: Pabellon de Corea) เสนอแนวคิด "น้ำเป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์และความเป็นจริง" (อังกฤษ: Water as a symbol of history and reality) ผ่านมุมมองเกี่ยวกับน้ำของคนเกาหลี

อ้างอิง[แก้]

  1. "Fluvi". expozaragoza2008.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2012.

Eopo Zaragoza 2008