พระยาสุมนเทวราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าสุมนเทวราช)
เจ้าสุมนเทวราช
พระยาน่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน
องค์ที่ 58 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก6 มิถุนายน พ.ศ. 2358
ครองราชย์13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2354 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2368
รัชกาล15 ปี 134 วัน
พระอิสริยยศพระยาประเทศราช
ก่อนหน้าสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ
ถัดไปเจ้ามหายศ
ประสูติพ.ศ. 2294
พิราลัย26 มิถุนายน พ.ศ. 2367
(74 ปี) ณ กรุงเทพฯ
มเหสีแม่เจ้าพิมพาอรรคราชเทวี
พระราชบุตร4 พระองค์
พระนามเต็ม
พระยาสุมนเทวราช พระยาน่าน
ราชสกุลสมณะช้างเผือก [1]
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระบิดาเจ้าอริยวงษ์
พระมารดาแม่เจ้าเมืองรามราชเทวี[2]

เจ้าสุมนเทวราช[3] หรือ เจ้าหลวงสุมนเทวราช [4]ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58 และองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ทรงเป็นราชโอรสในเจ้าอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 และทรงเป็นพระนัดดา(หลานปู่)ในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ทรงครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2368

พระประวัติ[แก้]

เจ้าสุมนเทวราช มีพระนามเดิมว่า เจ้าสมณะ[5] ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2294 ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ในเจ้าอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 ประสูติแต่แม่เจ้าเมืองรามราชเทวี (ชายาที่ 2) และทรงเป็นพระนัดดา(หลานปู่)ในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ เจ้าสุมนเทวราชทรงมีพระเชษฐาร่วมพระมารดา 2 องค์ ดังนี้

  1. เจ้าขวา ภายหลังเป็น เจ้าพระยาจางวางขวา เมืองน่าน
  2. เจ้าซ้าย ภายหลังเป็น เจ้าพระยาจางวางซ้าย เมืองน่าน
  3. เจ้าสมณะ ภายหลังเป็น พระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58

พระอิสริยยศ และบรรดาศักดิ์[แก้]

  1. พระยาอุปราชสมณะ พระยาอุปราชเมืองน่าน (พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2353)
  2. พระยาสุมนเทวราช เจ้าพระยาน่าน (พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2368


(ใน พ.ศ. 2331 เจ้าอัตวรปัญโญ ได้ลงมาเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าฟ้าอัตวรปัญโญ” แล้วกลับให้ครองนครน่านต่อพร้อม กับสถาปนา เจ้าสุมนเทวราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของเจ้าฟ้าอัตวรปัญโญ เป็นเจ้าอุปราชหอหน้า (มีฐานะรอง จากเจ้าผู้ครองนคร)

เครื่องยศ[แก้]

เครื่องยศ ที่พระยาสุมนเทวราช ทรงได้รับพระราชทาน[6] ดังนี้ วันพุธ ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2354 หรือ (จุลศักราชได้ ๑๑๗๓ ตัวปีลวงเม็ดเดือน ๗ ลง ๖ ค่ำ) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯพระราชทาน เครื่องยศ แก่พระยาสุมนเทวราช ดังนี้

  • พานพระศรีคำ 1 ใบ
  • จอกคำ 2 ใบ
  • ผะอบยาสูบคำ 2 อัน
  • ซองพลูคำ 1 อัน
  • มีดด้ามคำ 1 อัน
  • อุบนวดคำ 1 ใบ
  • คนโทคำ 1 ลูก
  • กะโถนคำ 1 ใบ
  • แหวนธำมรงค์ราชลูกดีพลอยเพ็ชร ต้น 10 กลาง 10 2 วง
  • พระกลดแดงดอกคำ 1 ใบ
  • ปืนลองชนเครือคำ 1 กระบอก
  • ปืนลองชนต้นเรียบ 2 กระบอก
  • ปืนลองชนต้นกลม 3 บอก
  • ผ้ายกไหมคำหลวงสังเวียน 1 ผืน
  • ผ้านุ่งยกไหมคำ 4 ผืน
  • ผ้าโพกริ้วทอง 1 ผืน
  • เสื้อจีบเอวภู่ตราดอกคำ 1 ผืน
  • แพรขาวผุดดอกคำ 1 ผืน
  • มุ้งแพร 2 หลัง
  • สโต๊กเงิน 2 ใบ

พระโอรส พระธิดา[แก้]

 เจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58 ทรงมีพระชายา 8 องค์ และพระโอรส/พระธิดา รวม 10 พระองค์ มีรายพระนามดังนี้

  • พระชายาที่ 1 แม่เจ้าเกสีอรรคราชเทวี
 - ไม่มีประสูติกาล
  • พระชายาที่ 2 แม่เจ้ามาลาวีราชเทวี ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้าอินทบุตร
    2. เจ้าอชิตวงษ์ ภายหลังได้เป็น พรเจ้าอชิตวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 60
  • พระชายาที่ 3 แม่เจ้าสุคันทาราชเทวี ประสูติพระโอรส 1 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้าบุญสาร
  • พระชายาที่ 4 แม่เจ้าคำทิพย์เทวี ประสูติพระโอรส 2 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้าอนุรุธ
    2. เจ้าค่ายแก้ว
  • พระชายาที่ 5 แม่เจ้าคำเฟือยเทวี
 - ไม่มีประสูติกาล
  • พระชายาที่ 6 แม่เจ้าปวงพระเจ้าเทวี
 - ไม่มีประสูติกาล
  • พระชายาที่ 7 แม่เจ้าคำปวนเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 3 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้าบุษรถ ภายหลังได้เป็น เจ้าเมืองแก่น
    2. เจ้าพัทธิยะ
    3. เจ้านางแปงเมือง
  • พระชายาที่ 8 แม่เจ้าต่อมแก้วเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 2 พระองค์ ดังนี้
    1. เจ้านางขวดแก้ว
    2. เจ้าพุทธวงษ์ [7]

พระกรณียกิจ[แก้]

  • ด้านศาสนา
  1. เมื่อปี พ.ศ. 2363 พระยาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน พร้อมด้วยราชครูสังฆสงฆ์เสนาอำมาตย์และประชาชนทั้งหลาย ได้ร่วมกันหล่อระฆังลูกนี้ไว้เพื่อใช้ตีในพิธีบูชาพระมหาชินธาตุเจ้า
  2. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2366 พระยาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน พร้อมกับพระนางพิมพาราชเทวี พระศรีอนุกัญญา พระราชบุตร พระราชนัดดา พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ประชานาถทั้งหลายร่วมกันสร้างพระพุทธรูป ณ วัดสถารส (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ วัดสถารศ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน)
  • ด้านบ้านเมือง
  1. เมื่อปี พ.ศ. 2353 พระยาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สนองพระเดชพระคุณเผยแพร่พระบารมีให้แผ่ไพศาลออกไปอีกครั้ง ด้วยการกรีฑาทัพเมืองน่านขี้นไปตีหัวเมืองไทลื้อต่างๆในสิบสองปันนา เช่น เมืองล้า เมืองพง เมืองเชียงแขง เมืองหลวงภูคา เป็นต้น และได้กวาดต้อนเชลยศึกเข้ามาไว้ในอาณาเขตเมืองนครน่านถึง 60,000 คนเศษ เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วจึงเสด็จลงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อนั้นก็ทรงยินดีโสมนัสเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของให้เหล่าแม่ทัพอํามาตย์มากมาย ดังในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๐ บันทึกไว้ว่า .. “ในศักราชเดียวนี้ เดือน ๓ อาชญาเจ้าหลวงท่านก็กวาดเอาคนครัวเมืองล้า เมืองพง เชียงแขง เมืองหลวงภูคา ลงมาไว้เมืองน่าน มีคน ๖๐,๐๐๐ คนหั้นแล” .. (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๐ , ๒๔๖๑ : ๑๔๗)
  2. เมื่อปี พ.ศ. 2360 (ในรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำในแม่น้ำน่านไหลเข้าสู่ตัวเมืองน่านด้วยความแรงและเชี่ยว ได้พัดพากำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกพังทลายลงทั้งแถบ บ้านเรือนพังทลายเกือบหมด วัดวาอารามในนครน่านหักพังเป็นอันมาก
  3. เมื่อปี พ.ศ. 2362 พระยาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้างซึ่งเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองน่าน (ปัจจุบัน) ทรงใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 6 เดือน จึงแล้วเสร็จ แล้วโปรดให้เรียกว่า "เวียงเหนือ" (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ์ และบ้านสถารส อ.เมืองน่าน) ห่างจากเวียงใต้ (เมืองน่าน ปัจจุบัน) ประมาณ 2 กิโลเมตร เวียงเหนือ มีลักษณะของเมืองคือทอดไปตามลำน้ำน่าน อยู่ห่างจากแม่น้ำน่านประมาณ 800 เมตร มีคูเมืองล้อมรอบ ซึ่งปัจจุบันยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินของพื้นที่หัวเวียงเหนืออยู่ ในปัจจุบัน คือ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน
  • หัวเวียงเหนือ มีพื้นที่อาณาเขต ดังนี้

• ทิศใต้ จดกับ ทุ่งนาริน

• ทิศตะวันออก ทอดยาวไปตามถนนสุมนเทวราช

• ทิศตะวันตก จดกับ มุมรั้วสนามกีฬา อบจ. น่าน

• ทิศเหนือ จดกับ ทุ่งควายเฒ่าข้าวสาร

• วัดสถารส สันนิษฐานว่าเป็นวัดหลวงกลางเวียงของหัวเวียงเหนือ ซึ่งเป็นวัดแห่งเดียวในหัวเวียงเหนือที่มีพระธาตุเจดีย์ จึงสันนิษฐานว่าเป็นวัดหลวงกลางเวียง

• ศูนย์กลางการปกครองของเมืองนครน่าน ที่ตั้งอยู่ที่หัวเวียงเหนือสืบกันมาได้ 36 ปี จนถึงในรัชสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 จึงได้โปรดให้ย้ายศูนย์กลางการปกครองของเมืองนครน่านกลับลงมาอยู่ ณ ที่ตั้งของเมืองน่านในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา

  • ด้านการถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี
  1. เมื่อปี พ.ศ. 2359 พระยาสุมนเทวราช พระยานครน่าน ได้นำช้างพลายเผือกเอก ลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 2 ณ กรุงเทพฯ ครั้นเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2359 (แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลูนพศก) เสด็จไปรับแลมีการแห่สมโภช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อขึ้นรวางเป็น ... " พระยาเสวตรคชลักษณ์ ประเสริฐศักดิสมบูรณ์ เกิดตระกูลสารสิบหมู่ เผือกผู้พาหนะนารถ อิศราราชธำรง บัณฑรพงษ์จตุรภักตร์ สุรารักษรังสรรค์ ผ่องผิวพรรณผุดผาด ศรีไกรลาศเลิศลบ เฉลิมพิภพอยุทธยา ขัณฑเสมามณฑล มิ่งมงคลเลิศฟ้า " ... แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ พระยาสุมนเทวราช พระยานครน่าน เป็นอันมาก แต่มิได้เลื่อนยศขึ้น เพราะเหตุที่ว่าเจ้าผู้ครองเมืองน่านในครั้งนั้น เป็นตระกูลเจ้ามาแต่ก่อน ใช้นามในพื้นเมืองว่า "เจ้าฟ้าเมืองน่าน" เหมือนอย่างเจ้าเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ไม่ใช่เปนตระกูลซึ่งตั้งเปนเจ้าขึ้นใหม่เหมือนเจ้า ๗ ตน เมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน [8]

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม[แก้]

  1. ถนนสุมนเทวราช

ราชตระกูล[แก้]

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า พระยาสุมนเทวราช ถัดไป
สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 58
และองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2368)
พระเจ้ามหายศ