ไทยทรงดำเพชรบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไทยทรงดำ)

ผู้ไทดำ หรือไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ในปัจจุบัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ผู้ไทดำหรือไทยทรงดำมีชื่อเดิมเรียกกันว่า ไทดำ (Black Tai)หรือ ผู่ไต๋ดำ เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนไทที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น “ไทขาว”หรือ(White Tai) นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและไทแดง หรือ(Red Tai) ชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งชายเสื้อสีดำเป็นต้น ไทดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยภาคกลางเรียกกันว่า “ลาวทรงดำ” เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับลาวและอพยพมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่น ๆต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า”ดำ” หายไปนิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า”ลาวทรง”หรือ “ลาวโซ่ง” ซึ่งไม่ใช่คำเรียกที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือเรียก ชนกลุ่มนี้ว่า ผู้ไท ดำนั่นเอง คำว่า โซ่ง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่ากางเกงเพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง คนไทยและลาวพวนจึงเรียกว่า ลาวซ่วง ซึ่งหมายถึงลาวนุ่งกางเกง ต่อมาเพี้ยนเป็น โซ่ง เหตุที่เรียกไทดำว่า ลาวโซ่ง เพราะคำว่า “ลาว” เป็นคำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนที่อพยพมาจากถิ่นอื่น แต่ชาวไทดำหรือไทยทรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไท จึงนิยมเรียกตนเองว่า ไทดำ หรือผู้ไต๋ดำ

ที่มาและการตั้งถิ่นฐาน[แก้]

ผลพวงจากสงครามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทำให้ไทดำ หรือไทยทรงดำ ถูกกวาดครัวมาอยู่เพชรบุรี

ระยะแรกไทดำตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย (สมัยพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1) ระยะที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 3) โปรดฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ไทดำหรือไทยทรงดำ จึงมาตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร้ง เมื่อปี พ.ศ. 2378 - 2381 ก่อนไทยมุสลิมท่าแร้ง ซึ่งถูกกวาดครัวเข้ามาภายหลังไทดำ ไทยมุสลิมหรือที่เรียกว่า แขกท่าแร้ง มาสู่เพชรบุรีในลักษณะถูกกวาดครัว เข้ามาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรีราวปี พ.ศ. 2328 เนื่องด้วยเหตุผลทางสงครามเช่นกัน

สงครามครั้งนั้น พวกลาวพวน พวกลาวเวียง ซึ่งเป็นชนชาติไทยด้วยสาขาหนึ่ง ได้ถูกกวาดครัวมาด้วยกัน เมืองเพชรจึงประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “สามลาว” อันได้แก่ ไทดำ ลาวพวน และ ลาวเวียง

ธรรมชาติของผู้ไทดำ หรือไทยทรงดำ ชอบอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เสมือนถิ่นดั้งเดิมของตน ครัวโซ่งกลุ่มนี้ มิชอบภูมิประเทศที่ท่าแร้ง เพราะโล่งเกินไป จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สะพานยี่หน ทุ่งเฟื้อ วังตะโก บ้านสามเรือน เวียงคอย เขาย้อย ตามลำดับ


ลักษณะที่อยู่อาศัย[แก้]

โซ่งปลูกบ้านที่มีลักษณะของตนเองแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูง มุงด้วยตับต้นกกมิใช่ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจม คลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝา ดูไกลๆ จะดูเหมือนไม่มีฝาบ้าน เพราะหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านผู้ไทดำ จะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากไทดำ มาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขา อากาศหนาวเย็น ไม่ชอบมีหน้าต่างให้ลมโกรก พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ รองพื้นด้วยหนังสัตว์ มีใต้ถุนบ้านสูงโดยใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ด้วย


ผู้ไทดำ กับการก่อสร้างพระนครคีรี[แก้]

การก่อสร้างพระราชวังบนเขา ห้วงที่เครื่องจักรกล เครื่องทุนแรงยังไม่มี การแผ้วถางปรับสภาพยอดเขาทั้งสามยอด ให้รานราบมีทางขึ้นลงเชื่อมต่อกัน การลำเลียง อิฐ หิน ดิน ทราย อุปกรณ์การก่อสร้าง จำเป็นต้องใช้แรงงานขั้นพื้นฐานจำนวนไม่น้อย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พระสมุหกลาโหม ในฐานะแม่กองงานใหญ่ ในการก่อสร้างพระราชวังบนเขา มีทั้งอำนาจทางทหารกำลังไพร่พลในการควบคุมดูแลโซ่งที่ได้กวาดครัวมาไว้ที่เพชรบุรี สมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2378 – พ.ศ. 2381) ได้อพยพมาจากท่าแร้งโดยตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เชิงเขากิ่ว สะพานยี่หน เวียงคอย วังตะโก ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาสมน จึงถูกกำหนดเกณฑ์มาใช้เป็นแรงงาน สร้างพระราชวังในครั้งนี้

นับเนื่องแต่ พ.ศ. 2401 – พ.ศ. 2405 เป็นต้นมาทุกเช้าจรดเย็น แรงงานไทดำ นุ่งกางเกง(ซ่วง)สีดำ สวมเสื้อก้อมย้อมสีครามดำ เดินออกจากหมู่บ้านสะพานยี่หนมุ่งตรงไปยังเขาสมน นับวัน นับเดือน นับปี ด้วยความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อหน้าที่

เมื่อพระราชวังบนเขา พระนครคีรี สำเร็จเป็นที่แปรพระราชฐาน ทรงงาน รับรองพระราชอาคันตุกะต่างประเทศ และเป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรหลานเจ้าเมืองและคหบดีที่มีชื่อ มารับราชการเป็นมหาดเล็ก และโปรดเกล้าฯให้คัดเลือกผู้ไทดำ มาเป็นเด็กชาด้วย เนื่องจากทรงเห็นความดีความชอบจากที่ผู้ไทดำ มาเป็นแรงงานก่อนสร้าง ช่วงก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรีด้วยความอดทน อุตสาหะ


อ้างอิง[แก้]

ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์, ขุนนางโซ่ง, 2549, สำนักพิมพ์เพชรภูมิ,หน้า 16-35.