พญาแถน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ผีฟ้า)
รูปหล่อองค์พญาแถน ณ วิมานพญาแถน จังหวัดยโสธร

พญาแถนหรือผีฟ้านั้น ชาวไทยมีความเชื่อว่าเป็นเทวดามากกว่าเป็นผี ผีฟ้าจึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่น ๆ ส่วนแถนนั้น มีความเชื่อว่าเป็นคำเรียกรวมถึงเทวดา และแถนที่ใหญ่ที่สุดคือ "แถนหลวง" ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระอินทร์ ผีฟ้านั้นแต่ละพื้นที่มีการเรียกที่แตกต่างกันไป และมีความเชื่อว่าผีฟ้านั้นสามารถที่จะ ดับทุกข์เข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวงได้ และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ การที่มนุษย์เกิดการเจ็บป่วยนั้นเนื่องจากไปละเมิดต่อผี การละเมิดต่อบรรพบุรุษ การรักษาต้องมีการเชิญผีฟ้ามาสิงสถิตอยู่ในร่างของคนทรง เรียกว่า "ผีฟ้า นางเทียน" ในการลำผีฟ้าของชาวอีสานนั้นมีองค์ประกอบ ทั้งหมด 4 ส่วนคือ หมอลำ ผีฟ้า หมอแคน ผู้ป่วย และเครื่องคาย

หมอลำผีฟ้าจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุหรือบางท้องถิ่นจะเป็นผู้หญิงสาวโดยเฉพาะที่จังหวัดเลย และจะต้องสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มหมอลำผีเท่านั้น แต่ที่จริงผีฟ้าสามารถสิงได้ทั้งหญิง ชาย และเด็ก โดยไม่จำกัดอายุ หมอแคน (หมอม้า) จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป่าแคนมาเป็นอย่างดีเพราะในการประกอบพิธีจะต้องใช้เวลานานและต้องมีการเป่าอยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้ป่วยนั้น จะต้องแต่งกายตามที่ได้กำหนดไว้ คือ มีผ้าไหมหรือผ้าขาวม้าพาดบ่า มีดอกมะละกอซึ่งตัดร้อยเป็นพวงทัดหู ผู้ป่วยนั้นสามารถที่จะฟ้อนรำกับหมอลำได้ และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ เครื่องคาย เป็นสิ่งที่อัญเชิญครูอาจารย์ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วมาช่วยเหลือ รักษาผู้ป่วย

ในการรำผีฟ้านั้น จะมีความแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เมื่อครูบาเก่าเข้าสิงร่าง ผู้ทำพิธีจะต้องสวมผ้าซิ่นทับผ้าที่สวมอยู่ (กรณีที่ผู้ป่วยเป็นชาย) หรือถ้าผู้ป่วยเป็นผู้หญิงครูบาจะสวมผ้าแพรหรือผ้าฝ้าย โดยสวมทับผ้านุ่งเดิม ซึ่งจะจัดไว้อยู่ใกล้เครื่องคาย ในการรักษาทุกคนจะต้องฟ้อนรำกันทุกคนและขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยต้องการดูการฟ้อนรำก็จะทำหน้าที่ต่อไป แต่ถ้าไม่ต้องการครูบาก็จะนำเครื่องคายขึ้นไปเก็บบนหิ้ง และจะมาร่วมกันรับประทานอาหาร

ความเชื่อของชาวอีสานเชื่อว่าผีฟ้าสามารถที่จะกำหนดการเกิดการตายของมนุษย์ได้ การที่มนุษย์ตายไปขวัญจะออกจากร่างเพื่อไปพบบรรพชน แต่ขวัญจะไม่แตกดับเหมือนร่าง เป็นเพียงการจากไปของร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับผู้มีชีวิต สาเหตุที่มีการฟ้อนรำกันนั้น ก็เพื่อเป็นการทำให้คนไข้มีพลังจิตในการต่อสู้กับการเจ็บป่วย มีอารมณ์ผ่อนคลาย ความตึงเครียด จิตใจปลอดโปร่ง ไร้วิตกกังวล และสร้างจิตสำนึกด้านความกตัญญู เป็นคตินิยมของวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี จะเห็นว่าผีฟ้านั้นเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ โดยมีคติเตือนใจว่า "คนไม่เห็น ผีเห็น" *กลองกิ่งกลองศักดิ์สิทธิ์มักมีในตระกูลผีฟ้าตีเมื่อใดเสียงจะดังไปถึงพญาแถนผีหลวงจะขออะไรก็จะได้ทุกอย่างร่างทรงมักใช้ตีให้รักษาคนในบ้านเมื่อออกเดินทางเพื่อให้ผีฟ้าคุ้มครอง

อ้างอิง[แก้]