ข้ามไปเนื้อหา

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)

พิกัด: 18°46′58″N 98°57′04″E / 18.782837°N 98.951132°E / 18.782837; 98.951132
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดอุโมงค์)
วัดอุโมงค์
เจดีย์ประจำวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสุคันธศีล (เจ้าคณะตำบลสุเทพเขต 2)
เว็บไซต์www.watumong.org
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
ทางเข้าอุโมงค์หลัก

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[1]

พญามังราย พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 1805–1854) ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น[2] และวัดได้รับการบูรณะและเปลี่ยนชื่อหลายครั้งตราบจนปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรได้เข้าบูรณะรูปปั้นโบราณในวัด โดยพอกปูนทับของเดิมแล้วปั้นขึ้นใหม่ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง[3][4][5]

ประวัติ[แก้]

วัดอุโมงค์เป็นวัดที่พญามังรายทรงสร้างขึ้น พระราชทานชื่อว่า "วัดเวฬุกัฏฐาราม" (วัดไผ่สิบเอ็ดกอ) เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณป่าไผ่เชิงดอยสุเทพ[2] พญามังรายทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของคณะสงฆ์ซึ่งเชิญมาจากเกาะลังกาโดยเฉพาะ[6]

ต่อมาพญากือนา (ครองราชย์ พ.ศ. 1898–1928) ทรงเชิญมหาเถรจันทร์ พระภิกษุที่ทรงนับถือ ให้มาพำนัก ณ วัดนี้ พร้อมทั้งทรงบูรณะวัดโดยซ่อมแซมเจดีย์และสร้างอุโมงค์ทางเดินทั้งสี่ทิศ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอุโมงค์เถรจันทร์" ตามนามของวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ที่มหาเถรเคยพำนักอยู่[2][7]

ในช่วงที่เมืองเชียงใหม่อยู่ใต้การปกครองของพม่า วัดอุโมงค์กลายเป็นวัดร้าง ไม่มีภิกษุจำพรรษา กระทั่งใน พ.ศ. 2492 เจ้าชื่น สิโรรส มาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากสวนโมกขพลารามของพุทธทาสภิกขุ และตั้งนามใหม่ให้แก่วัดว่า "วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนปัจจุบัน[2]

ใน พ.ศ. 2567 กรมศิลปากรได้เข้าบูรณะรูปปั้นยักษ์อายุ 400–500 ปีหลายรูปภายในวัด โดยพอกปูนทับของเดิมแล้วปั้นขึ้นใหม่ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ส่งผลให้สิ้นสภาพโบราณวัตถุ และไม่หลงเหลือฝีมือครูช่างแต่โบราณอีก[3][4][5]

ภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณเพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3 นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเห็นได้ อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์มีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น และการคัดลอกเป็นภาพสี จึงทำให้ยังสามารถเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนาซึ่งมีอายุกว่า 500 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม[8]

จิตรกรรมผาผนังภายในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ตามสภาพปัจจุบันนั้น อยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก จนหลายคนเข้าใจว่าคงไม่มีภาพจิตรกรรมหลงเหลือแล้ว แต่จากการสำรวจของโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ กลับพบหลักฐานของจิตรกรรมฝาผนังมากกว่าที่คาดคิด เป็นเหตุให้กรมศิลปากรช่วยเหลือโดยจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อมาทำการสำรวจ และอนุรักษ์จิตรกรรมแห่งนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2542-กลางปี พ.ศ. 2543

นอกจากนี้ ภัทรุตม์ สายะเสวี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดอุโมงค์ของกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้เข้าร่วมทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมอีกด้วย โดยการให้คำแนะนำและดูแลการปฏิบัติงานของทีมงานโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ เป็นอย่างดี

ส่วนการอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์นั้นได้นำกระบวนการทางเคมีและศิลปะ ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแตทำการสำรวจ, ทำความสะอาดภาพจิตรกรรม, เสริมความแข็งแรงของผนังปูนฉาบ, ชั้นสีของงานจิตรกรรมให้มั่นคงแข็งแรงพร้อมทั้งบันทึกหลักฐานตลอดงานการอนุรักษ์ทั้งภาพถ่าย แผนผัง และภาพลายเส้น ระหว่างขั้นตอนดังกล่าวทีมงานได้ค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมด้วยความบังเอิญ คือ เหตุที่ทำให้อุโมงค์ชำรุดเนื่องจากมีรอยร้าวที่อุโมงค์ เมื่อฝนตกทำให้น้ำไหลซึมเข้ารอยร้าว จึงเกิดการสะสมของหินปูนที่เคลือบลายจิตรกรรมจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทีมงานจึงเอาคราบหินปูนออกโดยใช้น้ำยาเคมีที่ทำให้คราบหินปูนอ่อนตัวลง จากนั้นใช้มีดฝานหินปูนออกทีละนิดจนหมด จึงปรากฏภาพจิตรกรรมที่สวยงาม[9]

  • ภาพจิตรกรรมนกสลับดอกโบตั๋น
  • ภาพจิตรกรรมดอกบัวสลับลายเมฆ
  • ภาพจิตรกรรมดอกบัวสลับลายประจำยาม

การใช้สี[แก้]

ภาพจำลองจิตรกรรมภายในอุโมงค์สร้างขึ้นโดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากการคัดลอกงานจิตรกรรม และการปฏิบัติงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังด้วยกระบวนการทางเคมี ทำให้สามารถเห็นจิตรกรรมฝาผนังในสภาพเดิมก่อนการชำรุดเมื่อราว 500 ปีก่อน พบว่างานจิตรกรรมนี้มีสีที่ใช้มากอยู่ 2 สี คือสีแดงสด (แดงชาด) และลีเขียวสด สองสีนี้เป็นสีตรงข้าม ส่วนอัตราการใช้สีอยู่ที่ 70:30 หรือ 80:20 ซึ่งตรงกับทฤษฎีสีที่พบในงานจิตรกรรม ในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงภาพจากการถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล ซึ่งเป็นทฤษฎีสีตรงข้ามตามอัตราส่วนดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า ช่างล้านนาสมัยนั้นรู้จักแนวคิดทฤษฎีสีและองค์ประกอบทางศิลปะก่อนที่ศิลปะจากตะวันตกจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยภายหลังอีกหลายร้อยปีต่อมา[10]

การสร้างอุโมงค์ของคนโบราณ[แก้]

ทางเดินภายในช่องอุโมงค์

ชาวล้านนาสร้างอุโมงค์โดยการก่ออิฐถือปูน แล้วฉาบปูนปิดทับโครงสร้างอิฐอีกชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันชั้นปูนฉาบนี้ได้หลุดกะเทาะเกือบหมดสิ้นแล้ว คงเหลือก็เพียงส่วนของเพดานโค้งภายในอุโมงค์ที่ปรากฏจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น ส่วนบริเวณด้านนอกเกือบทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏชั้นของปูนฉาบแล้ว เหลือเพียงอิฐก่อผนัง และอิฐก่อโครงสร้างอุโมงค์เท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2546 ในระหว่างราวปลายเดือนเมษายน-กันยายน ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อุโมงค์ครั้งใหญ่ที่ดำเนินงานโดยการรับเหมาผ่านเอกชน ภายใต้การกำกับของกรมศิลปากร มีการซ่อมแซมโครงสร้างของอุโมงค์ให้แข็งแรงขึ้น โดยขุดเปิดหน้าดินที่อยู่เหนืออุโมงค์ทั้งหมดจนลึกถึงระดับเดียวกับพื้นอุโมงค์ จึงพบหลักฐานเพิ่มเติม คือโครงสร้างแต่ละอุโมงค์ก่อด้วยอิฐถือปูน แยกไปแต่ละช่อง โดยเริ่มก่ออิฐเรียงสลับกันจากผนังอุโมงค์ขึ้นมาทั้งสองด้านจนได้ความสูงระดับที่เป็นเพดานก่ออิฐให้โค้งเข้าหากัน โดยใช้ด้านสันของอิฐที่มีทรงสี่เหลี่ยมคางหมูหันด้านสันเข้าหากัน จึงเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม จำเป็นต้องก่ออิฐผนังหนามากเพื่อรองรับโครงสร้างของอุโมงค์ ส่วนเหนือสุดก็มีการก่ออิฐเหลื่อมเรียงสลับกันปิดอยู่ด้านบนอีกชั้นหนึ่ง และพบว่าพื้นที่ระหว่างอุโมงค์แต่ละช่องนั้นล้วนเป็นดินลูกรังสีน้ำตาลอมส้มจนถึงระดับพื้นดินทั้งสิ้น ไม่ปนเศษอิฐ ปูน หรือเศษเครื่องเคลือบดินเผาเลย และชั้นดินลูกรังนี้ปิดมิดคลุมเพดานทุกอุโมงค์ด้วย และชั้นบนสุดจะมีอิฐปูทับอีกหลายชั้น ดังนั้น ภายในอุโมงค์ล้วนเป็นดินลูกรังและปิดทับด้วยอิฐภายนอกทั้งสิ้น และไม่มีห้องลับใดๆซ่อนอยู่ในระหว่างอุโมงค์ตามที่สงสัยกันแต่แรกแต่อย่างใด และบ่งชี้ได้ว่าเป็นอุโมงค์ที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากการก่อสร้างของมนุษย์ขึ้นมาอย่างจงใจ[11]

เจดีย์ในวัดอุโมงค์[แก้]

ช่องทางเดินภายในอุโมงค์

เจดีย์วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ต่อเนื่องกับอุโมงค์ทางทิศเหนือ ซึ่งอยู่ภายในวัดอุโมงค์เจดีย์วัดอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังระยะแรกของศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรับปรุงมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งในศิลปะพุกาม ครั้นล่วงมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องกับต้นพุทธศตวรรษถัดมา เจดีย์ทรงนี้คลี่คลายไปโดยมีรูปทรงที่สูงโปร่ง และในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังจึงมีการคลี่คลายปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว เพราะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย อีกทั้งเป็นเจดีย์องค์สำคัญยุคต้นๆของพัฒนาการเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา งานก่อสร้างเริ่มขึ้นในรัชกาลของพระเจ้ามังรายคงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ต่อมาได้รับการบูรณะในรัชกาลของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆังมีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวประกอบกันเป็นบัวคว่ำและบัวหงาย (ปัทมบาท) ตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า ส่วนองค์เจดีย์ในปัจจุบัน ยังเหลือแบบแผนที่น่าจะเป็นเค้าเดิม คือระเบียบของฐานในผังกลม 3 ฐานซ้อนลดหลั่น เป็นชุดฐานรองรับทรงระฆังใหญ่ ต่อขึ้นไปคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม ส่วนยอดที่ทรงกรวยประกอบด้วยส่วนสำคัญที่ทางภาคกลางเรียกว่า ปล้องไฉน และปลี ที่ท้องไม้ของบานกลมแต่ละฐานประดับด้วยแถวช่องสี่เหลี่ยมไว้โดยรอบงานประดับเช่นนี้รวมทั้งขนาดที่ใหญ่ของทรงระฆัง เกี่ยวข้องกับแบบแผนของเจดีย์แบบหนึ่งของพุกาม สร้างเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่18 เช่นเจดีย์ในบริเวณวัดถิทสวดี (Thitsavadi Temple) ในหมู่บ้านปวาสอ (Pwasaw) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง[12]

ข้อมูลจำเพาะ[แก้]

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน[แก้]

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่[14]

คลังภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปิยะรัตน์ โกมาศ. ประวัติวัดอุโมงค์. [ลิงก์เสีย] (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล (2023-04-05). "วัดงามแห่งเขตอรัญญิก วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดป่าเชิงดอยสุเทพที่สร้างในสมัยพญามังราย และมีเจดีย์ประธาน-จิตรกรรมเก่าแก่ที่สุดในเชียงใหม่". readthecloud.co.
  3. 3.0 3.1 "โวย บูรณะยักษ์ล้านนาวัดอุโมงค์ อายุ 500 ปี กลายเป็นของใหม่". thairath.co.th. 2024-06-08.
  4. 4.0 4.1 "ไม่เหลือสภาพโบราณวัตถุ!!! อ.เปิดภาพเทียบชัดๆ "วัดดัง" โบกปูนทับยักษ์โบราณ 500 ปี". sanook.com. 2024-06-08.
  5. 5.0 5.1 "โบกปูนทับ ยักษ์โบราณล้านนา อายุ 400 ปี จนใหม่เอี่ยม ที่แท้ผู้ว่าฯสั่ง". khaosod.co.th. 2024-06-09.
  6. "เที่ยว...วัดอุโมงค์ วัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้ากือนาธรรมิกราช". smk.co.th. 2017.
  7. "ย้อนประวัติ "วัดอุโมงค์ เชียงใหม่" สัมผัสความสงบงามท่ามกลางเมือง". thairath.co.th. 2022-09-16.
  8. จิตรกรรมฝาผนังล้านนา : การค้นพบใหม่ที่วัดอุโมงค์. เก็บถาวร 2007-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  9. เมื่อมีดผ่าตัดช่วยไขปริศนาในงานจิตรกรรมโบราณ. เก็บถาวร 2007-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  10. สีสันในจิตรกรรม. [ลิงก์เสีย] (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  11. คนโบราณเขาสร้างอุโมงค์กันอย่างไร. เก็บถาวร 2007-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  12. ที่มาของเจดีย์วัดอุโมงค์. [ลิงก์เสีย] (เชียงใหม่ : โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์, ม.ป.ป.)
  13. "กันยารัตน์ บุตทนุ,นางสาว.รายงานวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย.ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2547". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-09-12.
  14. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

18°46′58″N 98°57′04″E / 18.782837°N 98.951132°E / 18.782837; 98.951132