แอนนาแอนด์เดอะคิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Anna and the King)
แอนนาแอนด์เดอะคิง
กำกับแอนดี เทนเนนต์
เขียนบทสตีฟ เมียร์สัน
ปีเตอร์ ไครกส์
อำนวยการสร้างLawrence Bender
Ed Elbert
นักแสดงนำโจดี้ ฟอสเตอร์
โจว เหวินฟะ
ผู้จัดจำหน่าย20th Century Fox
วันฉาย17 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ความยาว149 นาที
ภาษาอังกฤษ/ไทย/ฝรั่งเศส
ทุนสร้าง92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน113,996,937 ดอลลาร์สหรัฐ

แอนนาแอนด์เดอะคิง (อังกฤษ: Anna and the King) เป็นภาพยนตร์ซึ่งเข้าฉายในปี พ.ศ. 2542 มีโครงเรื่องจากนวนิยายเรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม เป็นเรื่องราวของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมี โจว เหวินฟะ แสดงเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โจดี้ ฟอสเตอร์ แสดงเป็น แอนนา ลีโอโนเวนส์ และ ไป่ หลิง แสดงเป็น ทับทิม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2 รางวัล (สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และสาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม) แต่ไม่ได้รับรางวัล

ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เดิมผู้สร้างได้ขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาต [ต้องการอ้างอิง] จึงได้ย้ายสถานที่ถ่ายทำเป็นที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีเผ่าทอง ทองเจือ เป็นที่ปรึกษาของกองถ่ายทำ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามฉายในประเทศไทยตามคำสั่งของนายชวน หลีกภัย เนื่องจากภาพยนตร์มีเนื้อหาบางส่วนที่บิดเบือนประวัติศาสตร์

โจดี ฟอสเตอร์ กับ โจว เหวินฟะ ในภาพยนตร์

โครงเรื่อง[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของแอนนา ลีโอโนเวนส์และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แอนนาเป็นแม่หม้ายที่เข้ามาในประเทศสยามพร้อมกับหลุยส์ลูกชายของเธอเพื่อที่จะเข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้พระราชทายาททั้งหมด 68 พระองค์

เหตุผลที่ภาพยนตร์ถูกห้ามฉาย[แก้]

นิตยสาร FLICKS ฉบับที่ 136 (ประจำวันที่ 5-11 พฤษภาคม 2549) คอลัมน์ THAIFLICKSISSUE (วิกฤษ ศิษย์พยายาม) สรุปเหตุผลที่รัฐบาลและคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ตัดสินใจห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 33 ข้อคือ[ต้องการอ้างอิง]

  1. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า ประตูพระบรมมหาราชวังเป็นสีทองทั้งหมด แต่ความจริงประตูพระบรมมหาราชวังเป็นสีแดง
  2. แหม่มแอนนาและบุตรชายของเธอนั่งรถลากจากท่าเรือมาที่พระบรมมหาราชวังผ่านหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่ความจริงกษัตริย์และหรือประชาชนไม่สามารถนั่งรถผ่านหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
  3. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มีภิกษุจำพรรษา แต่ความจริงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ไม่มีภิกษุจำพรรษา
  4. คำพูดของหลุยส์ตอนที่อยู่ในตำหนักอาศัยค่อนข้างดูถูกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยการนำเอาพระองค์ไปเปรียบเทียบกับพ่อของตนเองซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  5. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปิดประตูให้แหม่มแอนนา แต่ความจริงในพระบรมมหาราชวังมีข้าราชบริพารเปิดประตูให้
  6. จำนวนพระราชทายาทในภาพยนตร์ไม่ตรงกับความจริง ภาพยนตร์บอกว่า พระองค์มีพระราชทายาททั้งหมด 68 พระองค์ (พ.ศ. 2405) แต่ความจริงมี 56 พระองค์ (มีพระชนชีพ 46 พระองค์ และสิ้นพระชนม์ 10 พระองค์) อีกทั้งตลอดเรื่องเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระราชโอรส และพระราชธิดาถูกทำให้ดูต่ำต้อยกว่าแหม่มแอนนา
  7. เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) และหลุยส์ชกต่อยกัน แหม่มแอนนาโยนแผนที่ประเทศสยามซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  8. เจ้าจอมทับทิมถวายตัวในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีพระพุทธรูปที่จุดเทียนบูชาดูราวกับว่า พระองค์ต้องการให้พระพุทธรูปมองดูการกระทำซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  9. ภิกษุกวาดลานหน้าปราสาทเทพบิดร แต่ความจริงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ไม่มีภิกษุจำพรรษา
  10. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงว่าราชการแผ่นดินร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) และแม่ทัพอาลักษณ์ มีบุ้งกี๋วางอยู่หลังกำแพงแก้วซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  11. แหม่มแอนนาสอนให้ข้าราชบริพารรู้จักวิธีรินไวน์ ดูราวกับว่าข้าราชบริพารมีสติปัญญาต่ำต้อย
  12. แหม่มแอนนาไปหาเจ้าจอมทับทิมซึ่งห่มจีวรเป็นพระภิกษุณี โกนผมแต่ไม่โกนคิ้ว แต่ความจริงภิกษุณีต้องโกนคิ้วเช่นเดียวกับภิกษุ
  13. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงปัดพระมหาพิชัยมงกุฎล้ม แต่ความจริงพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสูงค่ามาก กษัตริย์ไม่อาจทำล้ม
  14. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงนั่งเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชไปส่งแหม่มแอนนาที่บ้านพัก มีการสบตาเหมือนพระเอกส่งนางเอกซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  15. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระองค์ทรงช้าง ทรงสูบซิการ์เหมือนในภาพยนตร์จีน และทรงชักชวนให้หลุยส์สูบซิการ์จนถูกแหม่มแอนนาต่อว่าดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  16. แม่ทัพอาลักษณ์กำลังจะยิงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เขากล่าวว่า เขาจะโค่นล้มราชวงศ์จักรีถือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชวงศ์
  17. การแสดงโขนใช้ดนตรีจีน แต่ความจริงต้องใช้วงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีไทยชนิดต่าง ๆ ครบชุด
  18. การประหารชีวิตเจ้าจอมทับทิมกับพระครูปลัดใบฎีกามีการตัดศีรษะทั้งสองหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่ความจริงไม่เคยมีการประหารชีวิตใครต่อหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
  19. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงขอโทษแหม่มแอนนาต่อหน้าขุนนาง แต่ความจริงไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดขอโทษใครต่อหน้าขุนนาง
  20. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องพระแสงปืนจนพระโลหิตกระจาย และสวรรคตที่ริมแม่น้ำเป็นฉากที่ดูรุนแรงเกินไป
  21. บทสนทนาหลายบทใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง เช่น ตอนที่แหม่มแอนนาสนทนากับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ใช้คำว่า “พระองค์” แต่ความจริงต้องใช้คำว่า “ทูลกระหม่อม”
  22. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงดูอ่อนแอและทรงต้องฟังแหม่มแอนนาซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  23. แหม่มแอนนาสามารถอยู่ใต้พระมหาเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แต่ความจริงไม่มีใครสามารถอยู่ใต้พระมหาเศวตฉัตรได้นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์
  24. แหม่มแอนนาสามารถนั่งข้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และมีข้าราชบริพารเชิญพัดโบกให้ แต่ความจริงไม่มีใครสามารถให้ข้าราชบริพารเชิญพัดโบกได้นอกพระบรมวงศานุวงศ์
  25. แม่ทัพอาลักษณ์กล่าวหาว่า ราชวงศ์จักรีถูกควบคุมโดยขุนนาง ประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสิน และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงยอมรับว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถูกหักหลังจริงซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  26. ภาพยนตร์ใช้นักแสดงชาติอื่นแต่งตัวเลียนแบบภิกษุ และพูดภาษาไทยไม่ชัด
  27. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) เจ้าจอมมารดาเที่ยง และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ให้ความเคารพต่อแหม่มแอนนาอย่างมากซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  28. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงผูกระเบิดที่สะพาน และทรงต่อสายฉนวนด้วยพระองค์เอง แต่ความจริงกษัตริย์ทรงทำไม่ได้
  29. แหม่มแอนนาพูดถึงสามีของตนเอง และทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ว่าตอนนี้เธอไม่คิดถึงสามีของเธอ ดูราวกับว่าเธอบอกรักพระองค์ซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  30. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงโอบกอดแหม่มแอนนา และทรงใช้พระปราง (แก้ม) ของพระองค์มาแนบที่แก้มของแหม่มแอนนาต่อหน้าสาธารณชนซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  31. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ตรัสขอบคุณแหม่มแอนนาที่ทำให้แผ่นดินสยามรักษาเอกราชซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  32. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงจูบพระโอษฐ์ (ปาก) ของเจ้าฟ้าจันทรมณฑลต่อหน้าพระราชอาคันตุกะซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมของประเทศสยาม และดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  33. ภาพยนตร์ยกย่องแหม่มแอนนาราวกับว่า ถ้าไม่มีแหม่มแอนนาประเทศสยามอาจตกเป็นอาณานิคมของประเทศอื่นซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

อ้างอิง[แก้]

  • นิตยสาร FLICKS ฉบับที่ 136 (ประจำวันที่ 5-11 พฤษภาคม 2549) คอลัมน์ THAIFLICKSISSUE