กลองตึ่งโนง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลองตึ่งโนง หรือกลองแอว เป็นกลองล้านนาทางภาคเหนือ ตัวกลองจะยาว มากขนาด 3-4 เมตรก็มี ใช้ตีเป็น อาณัติสัญญาณประจำวัด และใช้ในกระบวนแห่กระบวนฟ้อน ต่าง ๆ ประกอบกับตะหลดปด ปี่แน ฉาบใหญ่ และฆ้องหุ่ย ใช้ตีด้วยไม้ เวลาเข้ากระบวนจะมีคนหาม หรือบางแห่งอาจเป็นรถล้อลากนำขวบนไป[1]

กลองแอว เป็นกลองขึงด้วยหนังหน้าเดียว ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ประดู่ ไม้ชิงชัน ขึงหน้ากลองด้วยหนังวัวตัวเมียหรือเลียงผา แต่ละถิ่นมีชื่อเรียกต่างกันคือ จังหวัดเชียงใหม่เรียกกลองแอวหรือกลองตึ่งโน่ง จังหวัดลำพูนเรียกกลองเปิ้งหรือกลองเปิ่งโมง จังหวัดลำปางเรียกกลองตาเสิ้งหรือกลองตาเส้ง จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านเรียกกลองอึด จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยาเรียกกลองอึดสิ้ง

กลองแอวมีพัฒนาการมาจากกลองหลวงที่มีใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2345 – 2427 ในสมัยพระเจ้ากาวิละ กลองแอวแบ่งตามเสียงเป็น 3 ประเภทคือ

  1. กลองแอวเสียงใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 13 – 15 นิ้ว
  2. กลองแอวเสียงกลาง เส้นผ่านศูนย์กลาง 12.5 – 13.5 นิ้ว
  3. กลองแอวเสียงหน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 11 – 12 นิ้ว ปัจจุบันมีใช้น้อยลง เพราะเสียงเล็กแหลม เมื่อนำมาตีในวงติ่งโนง ทำให้ไม่สนุกครึกครื้นเท่ากลองแอวแบบอื่นๆ

หนังที่ขึงหน้ากลองแล้วให้เสียงดีที่สุดคือหนังเลียงผา แต่เมื่อเลียงผาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงเปลี่ยนมาใช้หนังวัวตัวเมียแทน โดยนิยมใช้หนังวัวที่ตกลูกมาแล้ว 3 ครอกขึ้นไป กลองชนิดนี้ต้องติดจ่ากลองเพื่อเทียบเสียงให้ตรงกับฆ้องอุ้ย จ่ากลองทำมาจากข้าวเหนียวบดแช่น้ำแล้วนำมาตำให้ละเอียดผสมกับขี้เถ้าไม้ลำไย สล่ากลองบางคนใช้ขนมจีนแทนข้าวเหนียว เพราะสะดวกกว่า

อ้างอิง[แก้]

  • นิรันดร์ ภักดี. ภูมิปัญญาล้านนาและคุณค่ากลองแอว ใน เพลง ดนตรี ปริศนา ผ้าทอ: ภูมิปัญญาทางด้านการละเล่นและการช่าง. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2548. หน้า 117 – 164.
  1. http://www.chiangmai-thailand.net/lanna_miraculous_music_instrument/tungnong.html สืบค้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555