กุลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุลา
ระบำนกยูง ซึ่งชาวกัมพูชารับอิทธิพลจากฟ้อนกิงกะหร่าของชาวกุลาในจังหวัดไพลิน
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศไทย · ประเทศลาว · ประเทศกัมพูชา
ภาษา
ไทยถิ่นอีสาน · เขมร
อดีต: ไทใหญ่ · ปะโอ
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทใหญ่ · ปะโอ · พม่า · มอญ · จิ่งพัว

กุลา, กุหล่า หรือ คุลา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทและปะโอ (หรือ กะเหรี่ยงดำ) ที่อพยพจากรัฐฉาน รัฐมอญ ประเทศพม่า หรือมณฑลยูนนาน ประเทศจีน อพยพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทยในช่วงสามทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และบางส่วนตั้งถิ่นอยู่ในจังหวัดไพลิน ทางตะวันตกของประเทศกัมพูชา ในฐานะกองคาราวานพ่อค้าเร่ นายฮ้อย หรือนักค้าอัญมณี ทำการค้าขายกับหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ

แต่เดิมชาวกุลามีรูปพรรณเช่นเดียวกับชาวพม่า มีศิลปกรรมในการสร้างศาสนสถาน พระพุทธรูป และการใช้อักษรอย่างเดียวกับพม่า[1] แต่ในปัจจุบันชาวกุลาเริ่มกลืนไปกับวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ตนอาศัยอยู่ เช่น ชาวกุลาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่หันไปรับวัฒนธรรมลาวอีสานแทน[2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

ในพจนานุกรมไทยระบุว่า กุลา มีความหมายว่า "ชนชาติต้องสู้และไทใหญ่, กุลา หรือ คุลา ก็ว่า" และปรากฏคำว่า คุลา เป็นชื่อการละเล่นคือ คุลาตีไม้ และกลอนกลบทชื่อว่า คุลาซ่อนลูก ซึ่งเป็นคำเรียกที่มีมาช้านานแล้ว[1] ทั้งนี้ กุลา จากคำพม่าว่า กุลา (พม่า: ကုလား) เป็นคำที่ใช้เรียกชาวอินเดียในเชิงเหยียดหยัน[2] ในอดีตใช้เรียกทั้งชาวอินเดียและชาวยุโรป[3] สอดคล้องกับภาษาไทยถิ่นเหนือที่มีคำว่า กุลวา ใช้เรียกชาวอินเดีย และ กุลวาขาว ใช้เรียกชาวฝรั่งตะวันตก[1] ในภาษาไทยถิ่นอีสาน กุลา แปลว่า "กุหล่า ชนจำพวกต้องสู้เรียก กุลา กุลากับม่านก็คือชนชาติพม่า ผู้ชายพม่าชอบสักขาและสักคอ สีที่ใช้สักชอบใช้สีชาด สีชาดอีสานเรียก น้ำหาง ลายที่สักจะมีสีแดง ดังนั้นคนอีสานจึงเรียกพม่าว่ากุลาขาก่าน ม่านคอลายใบหูของผู้ชายพม่าชอบเจาะรูหูสำหรับใส่ต้างหรือกระจอนยอย"[4] ส่วน กุหล่า ในภาษาลาว มีความหมายว่า "กลุ่มชนที่มาจากพม่าตอนเหนือ" และ กุฬา (កុឡា, ออกเสียง โกะลา) ในภาษาเขมร มีความหมายว่า "ชาวพม่า" หรือ "ชนชาติหนึ่งที่อยู่ในพม่า"[1][2]

ขณะที่ชื่อ ตองสู, ต่องสู่ และ ต้องสู้ เป็นคำที่ใช้เรียกชาวกุลาได้เช่นกัน มาจากคำว่า ตองสู (တောင်သူ) เป็นชื่อเรียกชาวปะโอ หรือกะเหรี่ยงดำ ซึ่งเป็นชนชาติที่ขยันและซื่อสัตย์ ชาวไทใหญ่มักเลือกชนเผ่านี้มาร่วมเดินทางจากพม่าเพื่อค้าขายทางไกลด้วยเสมอ[5] ทั้งนี้ชาวกุลาบางส่วนปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้สืบเชื้อสายจากชาวปะโอหรือกะเหรี่ยงดำ หากแต่ยอมรับว่าบรรพบุรุษของตนใช้นามสกุลต่องสู่[6]

ประวัติ[แก้]

จากงานวิจัยของสุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559) พบว่าปูมหลังของชาวกุลา แบ่งได้สี่กลุ่ม คือ กลุ่มแรกมาจากปริมณฑลรอบเมืองตองยีในรัฐฉาน กลุ่มที่สองมาจากทางใต้ของเมืองมะละแหม่ง (เอกสารเก่าเรียก มรแม) และเมาะตะมะในรัฐมอญ กลุ่มที่สามมาจากเมืองก่อกะเระ (เอกสารเก่าเรียก ขุกคิก) ในรัฐกะเหรี่ยง และกลุ่มที่สี่มาจากบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย[7] ดังจะพบว่า ชาวกุลาจำนวนไม่น้อยเรียกแทนตัวเองว่า ต้องสู้ (คือปะโอ)[8][9] แต่บางกลุ่มเรียกตนเองว่า ไต (คือไทใหญ่)[10] จากการสืบเสาะข้อมูลลูกหลานชาวกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่าบางส่วนมีเครือญาติที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีลูกหาบที่ติดตามมากับชาวกุลาเป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง[11] พบหลักฐานการเดินทางของพ่อค้าเร่ชาวกุลาเก่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2381 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เข้าไปค้าขายทางเมืองเชียงใหม่ ตาก สวรรคโลก และกำแพงเพชร[12] และมีหลักฐานการเข้าไปค้าขายของชาวกุลาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ดังปรากฏเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวกุลากับเจ้าเมืองร้อยเอ็ด และบานปลายไปถึงการห้ามขายโคกระบือแก่คนต่างด้าว ทำให้ชาวกุลาประสบปัญหาทางธุรกิจมาก[12]

หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ชาวกุลาซึ่งเป็นคนในบังคับของสหราชอาณาจักรจะได้รับการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านการค้าจากรัฐบาลสยาม ทำให้ชาวกุลาเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว พวกเขาดำเนินกิจกรรมการค้าตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ตาก เชียงใหม่ แพร่ ลำพูน ลำปาง น่าน นครสวรรค์ สวรรคโลก ลพบุรี หล่มสัก และนครราชสีมา โดยต้องการสินค้าสำคัญ เช่น ช้าง งาช้าง เขาสัตว์ ไม้ซุง ไหม และโคกระบือไปขายที่เมืองพม่า โดยชาวกุลาจะเดินทางเป็นหมู่คณะ มีการพกปืนและดาบเป็นอาวุธประจำกาย[13] ชาวกุลามักนำสินค้ามาขายแก่เศรษฐีและคนจีนในท้องถิ่นต้องการ เช่น ฝิ่น ฆ้อง ผ้า ไหมดิบ ดาบ มีด เครื่องเงิน สีย้อมผ้า ด้วยการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราหรือแลกกับสิ่งของมีค่ามีราคา เช่น เขาสัตว์ สัตว์พาหนะ และสินค้าพื้นเมืองเป็นอาทิ[14] โดยมีเส้นทางเกวียนห้าเส้นทางที่ชาวกุลาสามารถเข้าไปค้าขายยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใน คือ เส้นทางดงพญาไฟออกไปปากเพรียว สระบุรี เส้นทางดงพญากลางไปบ้านสนามช้าง ลพบุรี เส้นทางช่องตะโกออกไปทางกบินทร์บุรี เส้นทางมะละแหม่งออกไปทางตาก และเส้นทางเขมรผ่านช่องจอม สุรินทร์ ออกไปทางเมืองศรีโสภณ[15] นอกจากนี้ยังมีชาวกุลาตั้งถิ่นฐานและค้าเพชรพลอยจำนวนมาก จากรายงานของกงสุลอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2432 พบว่า มีชาวกุลาในจังหวัดตราด 3,000 คน และจังหวัดพระตะบอง 2,000 คน ครั้น พ.ศ. 2439 พบว่ามีชาวพม่าและกุลาอาศัยอยู่ในจังหวัดไพลินมากถึง 1,500 คน[16] หลังจากนั้นก็โยกย้ายเข้าสู่จังหวัดจันทบุรีหลัง พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา[10]

ในเวลาต่อมาชาวหรือกุลาหรือตองสู้จำนวนไม่น้อยเป็นเขยสู่หรือเขยลาวเพราะสมรสกับหญิงลาวในท้องถิ่น[17][18] พบการตั้งถิ่นฐานแพร่หลายทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และภาคตะวันออก ได้แก่ อำเภอเขาสมิง และอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด[9] ส่วนในประเทศกัมพูชาพบในจังหวัดไพลิน พระตะบอง และสตึงเตรง ซึ่งวัฒนธรรมของพวกเขาในกัมพูชาใกล้สูญหายหลังผ่านยุคเขมรแดงเป็นต้นมา[19] พวกเขากลายเป็นเป้าสังหารไม่ต่างจากชาวญวนหรือจาม ทำให้ชาวกุลาบางส่วนอพยพออกจากพื้นที่ไปยังพนมเปญหรือสหรัฐ[20] รวมทั้งการสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวเขมรและไทย[21]

ภาษา[แก้]

ชาวกุลาบางกลุ่มใช้ภาษากะเหรี่ยงผสมพม่าในการสื่อสาร[9] และใช้อักษรอย่างพม่าในการเขียน[1] แต่ใช้กันจำกัดจำเพาะในกลุ่มชาวกุลารุ่นแรกด้วยกันเท่านั้น ไม่นิยมถ่ายทอดวัฒนธรรมทางภาษาแก่ลูกหลาน ด้วยเหตุนี้ลูกหลานชาวกุลาจึงไม่สามารถใช้ภาษากุลาได้อีก และรับอิทธิพลวัฒนธรรมลาวอีสานแทนที่[2][22] ส่วนชาวกุลาในจังหวัดจันทบุรีในประเทศไทย จังหวัดไพลิน และจังหวัดสตึงเตรงในประเทศกัมพูชา จะใช้ภาษาไทใหญ่เป็นหลัก มีบ้างที่ใช้ภาษาลูกผสมระหว่างไทใหญ่กับไทยถิ่นเหนือ แต่ปัจจุบันภาษากุลาในกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยสูงมาก และชาวกุลามักใช้ภาษาลาวในการดำเนินธุรกิจ

วัฒนธรรม[แก้]

นักแสดงและนักดนตรีชาวเขมร สวมเครื่องแต่งกายอย่างชาวกุลา

ชาวกุลาในจังหวัดอุบลราชธานีมีอาหารที่นิยมบริโภคในครัวเรือน เช่น จอผักกาด น้ำพริกอ่อง ถั่วเน่า แกงฮังเล เจียวใบมะขามอ่อนใส่กระเทียมหรือหอมเจียวโรยเกลือ นิยมดื่มชาทุกวันช่วงพลบค่ำ มีการรับประทานข้าวเหนียวและปลาร้าเป็นครั้งคราว และมีอาหารประยุกต์กับวัฒนธรรมพื้นเมือง คือ ต้มปลาใส่น้ำปลาร้าและใบมะขามอ่อน ชาวกุลาไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่อย่างวัวและควาย รวมทั้งไม่บริโภคสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น เขียด กบ งู กิ้งก่า และปลาไหล[22] ส่วนชาวกุลาในประเทศกัมพูชามีอาหารขึ้นชื่อคือ หมี่กุลา (មីកុឡា) นอกนั้นเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น เช่น ต้มยำของไทย

ส่วนการแต่งกายของชาวกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนใหญ่ยังอนุรักษ์การแต่งกายอย่างเดิมไว้ คือ การสวมเสื้อทรงจีนแบบมีกระดุม นุ่งกางเกงขาก๊วย มวยผมยาว ครั้นจะออกนอกเคหสถานก็จะใช้ผ้าโพกศีรษะ[22] นอกจากนี้ยังมีขนบธรรมเนียมบางประการที่ได้รับอิทธิพลจากไทใหญ่ เช่น การบวชลูกแก้ว การรำมองเซิง และการออกพรรษาแบบกุลา กระทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2405 และยกเลิกไปใน พ.ศ. 2470[23] ทั้งนี้การรำมองเซิงจะมีการแต่งกายแบบชาวปะโอ และมีท่วงท่าการรำที่ช้ากว่าคนปะโอเล็กน้อย[24]

ในจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา มีการระบำนกยูงซึ่งได้อิทธิพลจากการฟ้อนกิงกะหร่า โดยจะมีการระบำเพื่อบูชาผียายยาต หรือชื่อภาษากุลาว่าเซน ติน (Sein Tin) ที่บนวัดพนมยาต ตามความเชื่อชาวบ้าน[20]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 สุจิตต์ วงษ์เทศ (10 สิงหาคม 2559). "สุจิตต์ วงษ์เทศ ไปอุบล พบคนกุลา (ทุ่งกุลาร้องไห้) เชื้อสายไทยใหญ่ในพม่า". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ติ๊ก แสนบุญ (22 ตุลาคม 2564). "ศิลปะงานช่างคนกุลาอีสาน…ทำไมถึงเป็นไทยใหญ่…!?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-24. สืบค้นเมื่อ 2009-05-24.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  4. "กุลา". อีสานร้อยแปด. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2), หน้า 24
  6. สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 336
  7. สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 337
  8. อิสริยะ นันท์ชัย และโชติมา จตุรวงศ์ (2562). สถาปัตยกรรมจองวัดปะโอ (ต่องสู้) ในประเทศไทยและเมืองสะเทิม ประเทศพม่า. หน้าจั่ว (16:1), หน้า 15
  9. 9.0 9.1 9.2 ศิริพร แดงตุ้ย (2553). พัฒนาการทางเศรษฐกิจพลอยในเขตอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด (PDF). มหาวิทยาลัยบูรพา. p. 35. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-02-13. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.
  10. 10.0 10.1 "กุหล่าเมืองจันท์". วารสารเมืองโบราณ. 26 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 339
  12. 12.0 12.1 สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2), หน้า 27
  13. สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2), หน้า 28
  14. สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 346
  15. "ทุ่งกุลาร้องไห้ บนเส้นทางการค้า กับโลกของชาว "กุลา" พ่อค้าเร่แห่งอีสาน". ศิลปวัฒนธรรม. 17 กันยายน 2564. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2), หน้า 29
  17. สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2), หน้า 28
  18. สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 361
  19. Ben Kiernan, The Pol Pot Regime: Race, Power and Genocide in Cambodia under the Khmer Rouge, 1975-1979. Page 300
  20. 20.0 20.1 Simon Lewis & Phorn Bopha (9 มกราคม 2558). "The Kola of Cambodia". The Irrawady. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. โมไนย-พจน์ (13 กันยายน 2556). "ไทย (โคราช) พลัดถิ่นที่บ้านไพรขะปั๊ว (ឃុំព្រៃខ្ពស់ ป่าสูง) พระตะบอง กัมพูชา". OK Nation. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. 22.0 22.1 22.2 สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 352
  23. สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี (2559). ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (12:1), หน้า 360
  24. สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2), หน้า 34