ขอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ขอม" คำไทดั้งเดิม ในตระกูล ไทกะได

ขอม (Khom) หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ทางตอนใต้ของแคว้นสุโขทัย อาจจะหมายถึงพวก ละโว้ (หรือ ลพบุรี) เอกสารทางล้านนา เช่น จารึกและตำนานต่าง ๆ ล้วนระบุสอดคล้องกันว่าขอมคือพวกที่อยู่ทางใต้ของล้านนา(ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย) พวกนี้ตัดผมเกรียน และนุ่งโจงกระเบน กินข้าวเจ้า ฯลฯ แคว้นละโว้นับถือทั้งฮินดูและพุทธมหายาน อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนอธิบายไว้ว่า ขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดู หรือพุทธมหายาน เป็นได้ชื่อว่า ขอม ทั้งหมด ขอมไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติขอม แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ สยาม

นักวิชาการประวัติศาสตร์หลายคน เช่น ชาญวิทย์ เกษตรสิริ, ประเสริฐ ณ นคร, ไมเคิล ไรท์ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าขอมกับละโว้คือคนกลุ่มเดียวกัน[1][2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำ ขอม เป็นคำไทยใต้[3] (ไม่ได้หมายถึงคนไทยในภาคใต้ในปัจจุบัน) หรือคำไทยเดิมซึ่งถูกถ่ายทอดมาจากภาษาสันสกฤต คำ "ขอม" ไม่ใช่ภาษาเขมร[4] และไม่ได้แปลว่าเขมร[5] เพราะไม่ปรากฏคำว่า "ขอม" ในจารึกเขมรโบราณ[6]

ขอม มีความหมายดังนี้

  1. ขอม แปลว่า ใหญ่ หรือผู้เป็นใหญ่[7]
  2. ขอม แปลว่า ผู้มีภูมิรู้ประเสริฐสุด นระผู้บรรชาญ นระผู้คงแก่เรียน นระผู้รู้ เป็นคนชั้นหัวก๊ก ปู่ครูผู้บรรชาญในสาขาความรู้ต่าง ๆ[3]
  3. ขอม แปลว่า ใต้ ถิ่นใต้ สิ่งของทางใต้ คนใต้ หรือกลุ่มชนชาติไทยสยามที่ชาวไทยลื้อเรียกว่าไทยใต้[8]
  4. ขอม (กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทเรียกว่า ขรอม) แปลว่า คนที่พูดภาษาไตอาศัยอยู่ใกล้ๆ ทะเล หรือทางใต้ของภูเขา (โดยนาย มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการชาวเมียนมาร์ สันนิษฐานจากการอ่านศิลาจารึกภาษาขอมไทย พิพิธภัณฑ์โบราณคดีพุกาม และการสอบถามกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไท)[9]
  5. ขอม ในภาษาไทยละว้าเดิม แปลว่า รัด ครอบ สวม[10][4] พบการใช้คำนี้เรียกปากชะลอมที่จังหวัดราชบุรี
  6. ขอม ในตำนานไท เขียนว่า กรอม กล๋อม กะหล๋อม หรือ ก๋าหลอม แปลว่า คนที่อยู่ทางใต้[6]
  7. ขอม ในจารึกวัดศรีชุม แปลว่า กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากกว่าจะหมายถึงเขมรเมืองพระนคร[6]

ส่วนคำ ขอม ที่มีนัยหมายถึงเขมรในประเทศกัมพูชานับว่าเป็นทัศนะของผู้ชำระประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[6] ปรากฏในหลักฐานดังนี้[6]

  • ประชุมพงศาวดาร เรื่อง พงศาวดารตอนไทยมาจากเมืองเดิม ว่าด้วยต้นเหตุการณ์เกณฑ์ทหารไทยแต่โบราณ กล่าวว่า :-

แดนดินที่เป็นสยามประเทศนี้ เดิมทีเดียวได้เป็นที่อยู่ของชน ๓ ชาติ ซึ่งพูดภาษาคล้ายคลึงกัน คือพวกขอม (ซึ่งเรียกกันบัดนี้ว่าเขมร) อยู่ข้างใต้ตอนแผ่นดินต่ำในลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นแดนกรุงกำพูชาเดี๋ยวนี้ ชาติ ๑ พวกลาว (คือชนชาติที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่าละว้า) อยู่ตอนกลางคือในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ตลอดไปทางตะวันออกจนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนแผ่นดินสูง (คือมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรร้อยเอ็ดอุบลบัดนี้) ชาติ ๑ พวกมอญอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือตอนลุ่มแม่น้ำสาละวิน ตลอดไปจนถึงลุ่มแม่น้ำเอราวดีข้างตอนใต้ ที่เป็นแดนประเทศพม่าบัดนี้ชาติ ๑ แดนดินที่กล่าวมานี้ชาวอินเดียแต่โบราณเรียกกันว่า "สุวรรณภูมิ" เพราะเหตุเป็นบ่อที่มีบ่อทอง[11]

  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ (ต้นฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ)
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
  • กฏหมายตราสามดวงว่าด้วยกฏมณเฑียรบาล มาตรา ๒๐ ตราขึ้นปี จ.ศ. ๗๒๐ (พ.ศ. 1901)
  • คำฉันท์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงประสาททอง (ฉบับพระมหาราชครู)
  • จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ
  • เสภาพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่

นิรุกติศาสตร์[แก้]

เดิม ขอม ไม่ได้หมายถึงเขมรกลุ่มเดียว เพราะ เขมร นั้น เป็นคำไทย ซึ่ง หมายถึง ขะแมร์ ชาวเขมร ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ขอม และไม่รู้จัก ขอม โดยคำว่า เขมร ได้ปรากฏขึ้นอย่างน้อย ๆ เมื่อ พ.ศ. 1069 จากจารึกคำว่า เขมร ในจารึกซับบาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา[12] ต่อมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วชื่อ ขอม มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นพวกเขมรเท่านั้น สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำไมชื่อขอม เปลี่ยนความหมายไปเป็นเขมร ? ยังหาคำอธิบายไม่ได้ชัดเจน แต่พอจะจับเค้าว่าเพราะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานับถือพุทธนิกายเถรวาทหมดแล้ว รวมทั้งละโว้ แต่ทางเขมรยังมีพวกนับถือฮินดูกับพุทธมหายาน คือขอมอยู่บ้าง

คำว่า ขอม ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย 2 แห่ง ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการคนแรก ๆ พยายามศึกษาและอธิบายคำคำนี้ใหม่ ได้เสนอว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง จิตร ยังอธิบายว่า คำว่าขอม ถูกนำมาใช้ในงานเขียนสมัยใหม่ (ขณะนั้น)โดยมีความรู้สึกชาตินิยมเป็นพื้นมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นการถือว่าขอมเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เคยแผ่อำนาจมาครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงสุโขทัย มีอิทธิพลต่อชาวไทยโบราณ ต่อมาชาวไทยที่สุโขทัยรุ่งเรืองในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา อิทธิพลของขอมได้หายไปจากแผ่นดินไทย[13]

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ก็เสนอว่า ขอม ในที่นี้น่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอม ใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เก่าแก่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และต่อมาจึงเรียกรวมไปถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอยุธยา จากนั้นในหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุธยา ได้ใช้คำนี้เรียกคนในดินแดนเขมรแถบเมืองพระนครหรือนครธม ในข้อความที่ว่า "ขอมแปรพักตร์"และในกฎมณเฑียรบาล น่าจะหมายถึงคนในเขมรหรือกัมพูชา[14] โดยสรุป คำว่า ขอม เป็นคำเรียกคน มีความหมายทางวัฒนธรรมและมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : ขอม คือ ใคร Who are the Khom?". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  2. ""เขมร" ไม่เรียกตัวเองว่า "ขอม" ไม่มีคำว่าขอมในภาษาเขมร คำว่า "ขอม" มาจากชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กระจายตัวอยู่ตามที่ราบลุ่มมีวิธีผันน้ำและปลุกข้าวทำเกษตร". ศิลปวัฒนธรรม. 27 January 2023. สืบค้นเมื่อ 30 January 2023.
  3. 3.0 3.1 กรมศิลปากร. (2530). ทักษิณรัฐ. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรติแด่ศาสตราจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 187 หน้า. หน้า 90.
  4. 4.0 4.1 พระราชกวี (อ่ำ ธมฺทตฺโต, ป.ธ.6) และวันอุ่น เขียนไทย. (2538). "ขอม สายสือขอม", ต้นไทย ฅนไทย ก่อนสุโขไทย. เรียบเรียงจากการค้นคว้าและการอ่านลายสือไทยจารึกในแผ่นหินทราย-กเบื้องจาร ของพระราชกวี (อ่ำ ธมฺทตฺโต ป.ธ. 6). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ. หน้า 72. ISBN 978-974-7-65138-6
  5. เทพ สุนทรศารทูล. (2545). ดาวพระศุกร์: ดาวประจำเมืองสยาม. กรุงเทพฯ: ดวงแก้ว. หน้า 35. ISBN 978-974-9-03342-5
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ศานติ ภักดีคำ. (2562). "เขมร คำที่ไทยใช้เรียกเขมรมาตั้งแต่เมื่อใด?", แลหลังคำ เขมร-ไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 375 หน้า. หน้า 61-87. ISBN 978-974-0-21687-2
  7. เทพ สุนทรศารทูล. (2533). ชีวประวัติ พระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์). กรุงเทพ: พระนารายณ์. 225 หน้า. ISBN 978-974-5-75133-0. หน้า 19.
    • ศิลปวัฒนธรรม, 23(7), (2545): 22.
  8. กรมศิลปากร, กรมกองโบราณคดี. (2518). ตำราเรียนอักษรโบราณของ อ.สวัสดิ์ วิเศษวงษ์. กรุงเทพฯ: วงศ์สว่างการพิมพ์. 110 หน้า.
  9. สารคดี: โยเดีย ที่คิด (ไม่) ถึง จารึกปริศนาภาษาไทยก่อนสมัยสุโขทัย. Thai PBS.
  10. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และคณะ. (2546). สิทธิชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองดั้งเดิม ล้านนา: กรณีศึกษาชุมชนลัวะ ลื้อ ปกาเกอญอ (กระเหรี่ยง) ในจังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่. กรุงเทพฯ: นิติธรรม. 440 หน้า. หน้า 282. ISBN 974-203-218-1
  11. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2507). ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒-๒๕). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 74.
  12. เยาวชนไทยกับขแมร์ ร่วมเมิลขแมร์แลไทย ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2558
  13. "ผลงานบางส่วนของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ 1". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-07-21.
  14. ขอม กับ เขมร เทียบเคียงคำว่าสยามกับไทยรี มติชนออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2565