ขัตติยา สวัสดิผล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขัตติยา สวัสดิผล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 (43 ปี)
กรุงเทพมหานคร
เชื้อชาติไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองขัตติยะธรรม (2553—2554)
เพื่อไทย (2554—2561, 2562—ปัจจุบัน)
ไทยรักษาชาติ (2561—2562)
คู่สมรสวิรุฬห์ กีรติพานิช
ที่อยู่อาศัยไทย

ขัตติยา สวัสดิผล นักการเมืองชาวไทย เป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย อดีตหัวหน้าพรรคขัตติยะธรรม และเป็นบุตรสาวของ พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ.แดง) ปัจจุบันเป็นวิทยากรและนักวิเคราะห์ทางวอยซ์ทีวีเเละปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร เเบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย-ปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

ขัตติยา สวัสดิผล ชื่อเล่น เดียร์ เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรสาวของพลตรีขัตติยะ กับนาวาเอกหญิง(พิเศษ) จันทรา สวัสดิผล มีพี่สาวร่วมบิดาคือ กิตติยา สวัสดิผล ชื่อเล่น เก๋ การศึกษา จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนราชินีบน ระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านกฎหมาย 2 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน และมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐ โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง วัชรเรศร วิวัชรวงศ์ (ท่านชายอ้น)[1]

ชีวิตครอบครัว[แก้]

ขัตติยา สวัสดิผล ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับ วิรุฬห์ กีรติพานิช ชื่อเล่น โอ๋ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ณ โรงแรมสุโขทัย ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร[2]

การทำงานและบทบาททางการเมือง[แก้]

เมื่อจบการศึกษาปริญญาโทแล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย โดยประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทเอกชน ช่วงปี 2551-2554[3] นอกจากนี้ขัตติยาย้งเคยเข้าร่วมคณะทำงานด้านสตรีและสังคมกับพรรคเพื่อแผ่นดิน[2]

ขัตติยา ได้เข้าฟังการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ขณะนั้นได้ยึดทำเนียบรัฐบาลโดยการชักชวนของ อัญชะลี ไพรีรัก ซึ่งสนิทสนมครอบครัวและกับบิดาของ ขัตติยาเป็นอย่างดี โดยเข้าไปนั่งฟังจำนวน 2 ครั้ง และ อัญชะลี ไพรีรัก ได้ประกาศบนเวทีชุมนุมว่าลูกสาว เสธ.แดง เข้ามาร่วมชุมนุมกับพวกเรา ต่อมาหลังจากการเสียชีวิตของบิดา ขัตติยาตั้งใจจะสานต่อปณิธาณทางการเมืองของบิดาต่อ จึงได้เข้าร่วมงานกับพรรคขัตติยะธรรม โดยได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคขัตติยะธรรม

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้รับการติดต่อทาบทามจากพรรคเพื่อไทยให้มาร่วมงาน จึงได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 44 และได้รับตำแหน่งกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 24

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เธอได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 50[3] แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันเดียวได้ตามพระราชกฤษฎีกา

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เธอได้ย้ายมาร่วมงานกับ พรรคไทยรักษาชาติ[4] โดยลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 6 แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562 ขัดติยาจึงย้ายกลับมาสังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

จนกระทั่งเมื่ออรุณี กาสยานนท์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์) ได้ลาออกจากวอยซ์ทีวีเพื่อรับตำแหน่งโฆษกพรรคเพื่อไทย ขัตติยาจึงได้รับการทาบทาบให้เข้าร่วมจัดรายการทอล์กกิงไทยแลนด์แทน ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ขัตติยาได้ลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 20 และได้รับการเลือกตั้งพร้อมกับลิณธิภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาวสุดหวงของ เสธ.แดง | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
  2. 2.0 2.1 หนังสือพิมพ์ออนไลน์สนุกดอตคอม วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  3. 3.0 3.1 ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  4. เดียร์ย้ายร่วมทษช. ชี้เป็นพรรคใหม่ไม่ติดกรอบความคิดเดิม-มุ่งประโยชน์ชาติเป็นหลัก
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๑๔๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๘๔, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]