คลองบางกรวย

พิกัด: 13°49′07″N 100°30′03″E / 13.818611°N 100.500833°E / 13.818611; 100.500833
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่แสดงการขุดคลองลัดต่างๆที่ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมในช่วงคลองบางกรวย กลายเป็นคลองไป

คลองบางกรวย แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ามาก่อน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา การติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก เส้นทางที่ใช้เดินเรือระหว่างปากแม่น้ำกับกรุงศรีอยุธยาไม่สะดวกแก่การเดินเรือ เพราะมีความคดเคี้ยวและใช้เวลานาน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดบางกรวยขึ้น จากแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมบริเวณเหนือวัดชลอไปออกวัดขี้เหล็ก (วัดสุวรรณคีรี) [1] ซึ่งช่วยย่นระยะทางจากปากแม่น้ำสู่กรุงศรีอยุธยาได้ และมีส่วนต่อการพัฒนาบ้านเมืองของจังหวัดนนทบุรีในระยะต่อมา จนกระทั่งถึง ปีพ.ศ. 2179 พระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุวัดเขมาภิรตาราม [2] ขึ้นทางเหนือของคลองลัดบางกรวย จากเดิมที่แม่น้ำนั้นไหลอ้อมทางบางใหญ่ ส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลเปลี่ยนทิศทางไปอีกครั้งหนึ่ง และคลองลัดบางกรวยซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่มีน้ำไหลผ่านน้อยลงกลายเป็นคลองอย่างเดิมเมื่อแรกขุด

ในปัจจุบัน คลองบางกรวยเป็นคลองสายสั้นๆ เชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาสายปัจจุบันไปออกยังคลองอ้อมนนท์ที่เป็นลำน้ำสายเดียวกันแต่เปลี่ยนชื่อเรียกโดยเริ่มจากจุดที่ตัดกับคลองลัดบางกรวย บริเวณวัดชลอ นอกจากนั้นคลองบางกรวยยังเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอบางกรวยและอำเภอเมืองนนทบุรีอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "คลองลัดเกร็ดน้อย ลัดเกร็ดใหญ่” ท้องถิ่นมีชุมชน/พุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 โดยนาน้อย อ้อยหนู
  2. ""ข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดนนทบุรี"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2011-11-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°49′07″N 100°30′03″E / 13.818611°N 100.500833°E / 13.818611; 100.500833