ผู้ใช้:Khaolaor/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Khaolaor/ทดลองเขียน
เกิด26 มิถุนายน 2471
จังหวัดสระบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต8 พฤศจิกายน 2551
สัญชาติไทย
อาชีพนักธุรกิจ, นักประชาสัมพันธ์, นักพูด, นักประดิษฐ์, นักสังคมสงเคราะห์, นักเขียน
คู่สมรสบุญเรือน พงษ์บริบูรณ์
บุตร4 คน

ลุงขาวไขอาชีพ หรือ วราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ นักธุรกิจ นักประชาสัมพันธ์ นักพูด นักประดิษฐ์ นักสังคมสงเคราะห์ และนักเขียนชาวไทย

ประวัติ[แก้]

วัยเด็ก[แก้]

วราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2471 ที่ตำบลหนองควายโซ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี[1][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ] จบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์[2] และปวส. ที่พาณิชยการพระนคร และเป็นยุวชนทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง[3][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]

งานเพื่อสังคม[แก้]

ปี 2509 "ลุงขาว" เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “กระจกเงาเยาวชน” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม บุคคลที่อ้างอิงได้ ที่เคยออกรายการคือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายการวิทยุ “ชีวิตนี้มีความหวัง” และรายการ “ลุงขาวไขอาชีพ” สอนอาชีพง่ายๆ ทางสถานีวิทยุ ททท. ประมาณปี พ.ศ. 2510 "ลุงขาว" เป็นกรรมการสมาคมศิษย์เก่าพาณิชยการพระนคร ได้จัดโครงการ อาสาสมัครพาณิชยการสามสถาบัน คือ พระนคร พระเชตุพนธ์ และตั้งตรงจิตร ทั้งสามวิทยาลัยร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัครเข้าไปช่วยถือของให้ผู้สูงอายุที่ตลาดนัดท้องสนามหลวงในวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อฝึกฝนให้มีความกล้าและรู้จักทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ฝึกสอนให้เป็นผู้รู้จักคิดรู้จักทำในทางที่ถูกต้อง และให้เกิดความสามัคคีในระหว่างวิทยาลัยทั้งสาม[4]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

"ลุงขาว" สมรสกับ คุณบุญเรือน (ขาวละออ) พงษ์บริบูรณ์ บุตรี หมอหลง ขาวละออ (บ.ภ., บ.ว.) ผู้ก่อตั้ง "ขาวลออโอสถ"[5] ซึ่ง"ลุงขาว" เป็นผู้บุกเบิกขยายตลาดไปต่างจังหวัดจนทั่วประเทศ ด้วยการฉายหนังพร้อมโฆษณาขายยา[6] ยาที่มีชื่อเสียงคือยาถ่ายพยาธิขาวละออ วิธีการของลุงขาวในการฉายหนังก็ไม่เหมือนผู้อื่น ได้ประยุกต์ใช้ปริซึมสะท้อนแสงฉายออกกระจกหน้าจอทีวี ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นมาก ซึ่ง ขาวลออโอสถ ก็คือ "ขาวละออเภสัช" ในปัจจุบัน[5]

ความเป็นมาของมูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ[แก้]

ในปี 2511 "ลุงขาว" หลังจากรถยนต์ที่ใช้ฝึกสอนอาชีพเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ ไม่สามารถไปฝึกสอนในต่างจังหวัดได้อีก "ลุงขาว" และผู้ฟังวิทยุรวมกลุ่มกันจัดตั้ง "ชมรมสัมมาอาชีพวิทยาทาน" สอนอาชีพง่ายๆ โดยผู้สอนที่มิจิตใจเสียสละ มาสอนให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน ในปี 2512 "สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย" ถนนเพลินจิต ได้ให้สถานที่สอนอาชีพเพื่อเป็นวิทยาทานในวันเสาร์และอาทิตย์ มีผู้มาเรียนวันละประมาณ 400 คน วิชาที่จะเรียนก็เป็นอาชีพง่ายๆ เรียนได้ในวันเดียวหรือครึ่งวัน ไม่ต้องมีทุนทรัพย์มาก เช่น การทำขนมครก การทำปาท่องโก๋ เทคนิคการถ่ายภาพและอัดภาพ หรือกระทั่งการทำตุ่มซีเมนต์แบบง่ายโดยใช้กระสอบเย็บขึ้นรูปเป็นตุ่มบนแผ่นซีเมต์ก้นตุ่มที่ได้เตรียมไว้แล้ว ใส่แกลบเข้าไปในกระสอบให้เต็ม ทาจาระบีให้ทั่วแล้วพอกด้วยปูนซีเมนต์ เมื่อปูนแห้งก็นำแกลบและกระสอบออก ก็จะได้ตุ่มตามต้องการ ตุ่มซีเมนต์แบบนี้จะมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ได้ตามต้องการเพราะสร้างอยู่กับที่ไม่ต้องเคลือนย้าย ซึ่งผู้ที่เผยแพร่วิธีนี้แก่"ลุงขาว" คือ พ่อค้าชื่อ "หลวง มหานาม" ยังมีการสอนวิชาชีพจากวิทยากรที่เข้ามาช่วยโดยเสียสละเวลามาและไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพช่างต่าง ๆ ,การตัดเย็บเสื้อผ้า,การทำขนม เช่น โรตีสายไหม,น้ำหวานบรรจุขวดแบบไม่ใส่สารกันบูด (บุตรสาวลุงขาวสอนเอง),การต่อเรือเล็ก โดยอาจารย์บุญยืน สุวรรณานนท์ ,การสอนซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยอาจารย์นิวัฒน์ แจ้งพลอย การทำดอกไม้ประดิษฐ์ โดยอาจารย์ ประยงค์ บุญประกอบ การสอนศิลปป้องกันตัว การทำซิลค์สกรีน เป็นต้น ภายหลังชมรมสัมมาอาชีพวิทยาทาน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชมรมลุงขาวไขอาชีพ และ "มูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ" องค์กรสมาชิกสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามลำดับ[7]

เส้นทางการเมือง[แก้]

เพื่อหาทางขยายผลการฝึกสอนอาชีพแก่ประชาชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น "ลุงขาว" จึงตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในปี 2517 และได้ริเริ่มให้ กรุงเทพมหานครจัดหน่วยงานฝึกสอนอาชีพแก่ผู้ยากจนเป็นการถาวร โดยจัดสอนที่สวนลุมพินีทุกวันอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันคือ กองส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาชุมชน กทม. ในปี 2522 "ลุงขาว" ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตบางเขน สังกัดพรรคประชากรไทย โดยมีคะแนนสูงที่สุดในกรุงเทพฯ "ลุงขาว" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย และตริตาภรณ์ช้างเผือก

ผลงานประพันธ์[แก้]

  1. ตำราลุงขาวไขอาชีพ ISBN 9745340871

เส้นทางนักประดิษฐ์[แก้]

นอกจากนี้ "ลุงขาว" ยังเป็นนักประดิษฐ์ มีผลงานประดิษฐ์เครื่องคั้นน้ำอ้อยแบบลูกกลิ้งทองเหลือง เครื่องปั่นสายไหม และยังได้ประดิษฐ์หุ่นโครงเป็นเหล็ก ข้างนอกเป็นไม้พ่นสีขนาดเท่าคนติดมอเตอร์ มีสายบังคับให้เดินหน้า ถอยหลัง พร้อมลำโพงที่หน้าอก ที่สามารถฟังและพูดตอบกับผู้ชมได้ ประดิษฐ์กล่องไฟมีตัวหนังสือที่เดินได้ ซึ่งได้มีขึ้นก่อนป้ายไฟปัจจุบันที่เป็นชนิด LED ถึง 30 ปี หรือกระทั่งการฉายหนังผ่านตู้ทีวีที่มีแต่กระจกด้านหน้าและสามารถฉายออกพร้อมกันได้หลายๆจอ โดยใช้เทคนิคการสะท้อนภาพผ่านปริซึม แทนการฉายขึ้นจอผ้า ทำให้ผู้ชมใรู้นถิ่ธุรกันดารรู้สึกเหมือนได้ดูโทรทัศน์ โดยที่ขณะนั้นโทรทัศน์ยังเป็นของใหม่มากสำหรับเมืองไทย

ประมาณปี 2519"ลุงขาว" ได้ร่วมกับเพื่อนๆเปิด "บริษัท ซื้อขายความคิด (ประเทศไทย) จำกัด" เพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนนวัตกรรมและความคิดทางปัญญา แม้บริษัทนี้จะไม่ได้มีผลงานที่เด่นชัด แต่ก็แสดงถึงวิสัยทัศน์ของ "ลุงขาว" ที่เล็งเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้เข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในแวดวงจำกัด

ถึงแก่กรรม[แก้]

"ลุงขาว" นายวราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ ได้เสียชีวิตด้วยสาเหตุไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (อายุรวม 79 ปี) และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบเกียรติยศ และพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดธาตุทอง ราชวรมหาวิหาร เขตวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 โดยได้รับพวงมาลาจากศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งครอบครัว "ลุงขาว" สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เจตนารมย์ที่ถูกสานต่อ[แก้]

สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช) ได้ศึกษาและจัดทำชีวประวัติของลุงขาวไขอาชีพ เป็นวีดิทัศน์ เพื่อส่งเสริมสิ่งดีๆให้เป็นแบบอย่างและกำลังใจต่อสังคม และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในครั้งเมื่อ นายสุริยงค์ หุณฑสาร เป็นผู้อำนวยการ ได้สานต่อเจตนารมณ์ของ "ลุงขาว" โดยได้จัดทำวีดิทัศน์การสอนอาชีพต่างๆให้เข้าใจได้โดยง่ายทางสถานี NBT ตอนละ 5 นาที ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง พฤศจิกายน 2552 รวม 120 ตอน

ถึงแม้ลุงขาวไขอาชีพ จะเสียชีวิตไปแล้วแต่วิทยากรและกรรมการมูลนิธิก็ยังสานต่อเจตนารมย์ของลุงขาว ยังสอนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การสอนของลุงขาวมีหลักการที่เป็นของตนเอง ได้แก่ ไม่จดบันทึกชื่อผู้เข้าเรียน ไม่สอนในที่หรูหรา ไม่มีการติดตามผล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ยากจน ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้ามาเรียนได้อย่างอิสสระ ด้วยความสบายใจ ไม่ต้องเกรงกลัวในระบบ หรืออับอายในความยากจน และสอนในบริเวณที่เจ้าของสถานที่ที่ยินดีให้จัดสอนโดยไม่คิดมูลค่า การสอนจึงโยกย้ายไปในที่ต่างๆตามความเหมาะสม และขณะนี้จัดสอนที่ สนามบาสเก็ตบอลล์ ในหมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขารัตนาธิเบศร์ นนทบุรี[8] ทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของแต่ละเดือน เวลา 08:00 ถึง 12:00 น.

อ้างอิง[แก้]

  1. อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 17
  2. https://www.debsirin.ac.th/about-us/detail-student.php?id=836
  3. อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 19
  4. อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 32-33
  5. 5.0 5.1 https://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=0716010962&srcday=&search=no
  6. อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 26
  7. https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_128411
  8. สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย http://www.ncswt.or.th/news59/news108.pdf

บรรณานุกรม[แก้]

  • อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ https://www.sem100library.in.th/medias/1883.pdf

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

https://www.khaolaor.com/lungkhao-foundation/