ผู้ใช้:Kib1991

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยีราฟ (อังกฤษ: giraffe; ชื่อวิทยาศาสตร์: Giraffa camelopardalis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ GIRAFFIDAE และเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ยีราฟมีลักษณะเด่น คือ เป็นสัตว์ที่ตัวสูง ขายาว คอยาว มีเขา 1 คู่ ตัวของยีราฟมีสีเหลืองและสีน้ำตาลเข้มเป็นลาย มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ตัวผู้มีความสูง 4.8 ถึง 5.5 เมตร (16-18 ฟุต) และมีน้ำหนักถึง 900 กิโลกรัม (2,000 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดและความสูงน้อยกว่าเล็กน้อย จัดเป็นสัตว์บกที่มีความสูงที่สุดในโลก[1]

ถิ่นกำเนิด[แก้]

พบในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในแถบทุ่งหญ้าตั้งแต่ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราจนถึงบริเวณแอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาใต้[2]

การสืบพันธุ์[แก้]

ตั้งท้องประมาณ 14 – 15 เดือน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว[3]

ลักษณะพิเศษ[แก้]

ด้วยความที่เป็นสัตว์ตัวสูง ยีราฟจำเป็นต้องมีหัวใจขนาดใหญ่เพื่อหมุนสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง ยีราฟสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากกว่ามนุษย์ถึง 3 เท่า เพื่อไปเลี้ยงสมองที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 8 ฟุต เสมือนกับปั๊มน้ำที่สูบน้ำขึ้นไปยังตึกสูง หัวใจของยีราฟหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ระบบไหลเวียนโลหิตจึงเป็นแบบพิเศษ เรียกว่า "Rete mirabile" ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองมากเกินไปเวลายีราฟก้มตัวดื่มน้ำ ระบบไหลเวียนเลือดพิเศษนี้จึงเปรียบเสมือนวาล์วปิดเปิดน้ำ [4]

ยีราฟ เป็นสัตว์ที่กินพืช กินได้ทั้งหญ้าที่ขึ้นอยู่กับพื้น และพุ่มไม้สูง ๆ โดยเฉพาะพุ่มไม้ประเภทอาเคเชียหรือกระถินณรงค์ที่มีหนามแหลม มีรสฝาด และมีพิษ แต่ยีราฟก็สามารถกินได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะมีลิ้นที่ยาวถึง 45-47 เซนติเมตร และมีความหนาสาก ใช้ตวัดกินได้โดยไม่ได้รับอันตราย และทนทานต่อสารพิษได้ในระดับหนึ่ง[5] แต่เมื่อยีราฟจะดื่มน้ำหรือกินอาหารที่อยู่พื้นล่าง ต้องถ่างขาทั้งคู่หน้าออก และก้มคอลง เพราะมีกระดูกที่ข้อต่อต้นคอเพียง 7 ข้อเท่านั้น นับเป็นช่วงที่ยีราฟจะได้รับอันตรายจากสัตว์กินเนื้อที่บุกจู่โจมได้ เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในท่าที่ไม่คล่องตัว[6] วัน ๆ หนึ่งยีราฟจะกินอาหารเฉลี่ยวันละ 20-30 กิโลกรัม ขณะที่นอนหลับในท่ายืนเพียงวันละ 2 นาที-2 ชั่วโมงเท่านั้น ยีราฟเมื่อวิ่ง จะวิ่งได้ไม่นานนักเนื่องจากหัวใจจะสูบฉีดเลือดอย่างหนัก และเมื่อวิ่งจะต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะทั้งขาหลังและขาหน้า ที่อยู่ข้างเดียวกัน จะยกขึ้นลงพร้อม ๆ กัน จึงมีลักษณะการวิ่งแบบควบกระโดดโคลงเคลงไปมา และคอที่ยาวก็จะมีอาการแกว่งไกวไปมาด้วย [7]

แม้จะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ แต่ยีราฟก็ยังถูกคุกคามจากสัตว์กินเนื้อได้ เช่น สิงโต หรือไฮยีนา ยีราฟมีวิธีการป้องกันตัวคือ การเตะ จากขาหลังที่ทรงพลัง ซึ่งทำให้สิงโตได้รับบาดเจ็บได้ สิงโตจึงไม่ค่อยโจมตียีราฟตัวที่โตเต็มที่ แต่จะเล็งไปยังลูกยีราฟมากกว่า[8]

คอของยีราฟประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งยึดติดกับบริเวณหัวไหล่ คอของยีราฟจึงไม่ห้อยตกลงมา ซึ่งคอของยีราฟนอกจากจะใช้เพื่อการดำรงชีวิตทั่วไป ยังมีส่วนสำคัญในพฤติกรรมทางสังคมเช่นกัน ยีราฟตัวผู้จะเข้าต่อสู้โดยใช้คอของถูหรือฟาดกับยีราฟตัวอื่น เพื่อจะแสดงความเป็นจ่าฝูง และใช้เกี้ยวพาราสีหาคู่เพื่อสืบพันธุ์ด้วย

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของยีราฟ[แก้]

วิวัฒนาการของลามาร์กได้อธิบายลักษณะคอยาวของยีราฟว่า ยีราฟในอดีตนั้นคอสั้นกว่าปัจจุบัน ยีราฟต้องยืดคอขึ้นกินยอดไม้ที่อยู่สูง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้นาน ๆ จึงทำให้ลูกหลานยีราฟคอค่อย ๆ ยาวขึ้นและลักษณะดังกล่าวสามารถถ่ายทอดลักษณะไปสู่ลูกหลานได้ ในยุคนั้นได้รับการเชื่อถือมากแต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้ได้หมดไปเนื่องจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตไม่ได้เกิดจากการฝึกปรือหรือการใช้อยู่เสมอ และตามทฤษฎีของดาร์วินได้ว่า ยีราฟมี บรรพบุรุษ ที่คอสั้นแต่เกิดมี variation ที่มีคอยาวขึ้น ซึ่งสามารถหาอาหาร พวกใบไม้ได้ดี กว่าตัวพวกคอสั้นและถ่ายทอดลักษณะ คอยาวไปให้ลูกหลาน ได้ ส่วนพวกคอสั้นหาอาหารได้ไม่ดีหรือแย่งอาหาร สู้พวกคอยาวไม่ได้ในที่สุดก็จะตายไป จึงทําให้ ในปัจจุบันมีแต่ยีราฟคอยาวเท่านั้น[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://5640644.blogspot.com/2013/09/blog-post_1432.html
  2. http://www.komkid.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2/%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9F-giraffee/
  3. http://www.komkid.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2/%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9F-giraffee/
  4. ยีราฟมีวาล์ว
  5. สัตว์ก็ใช้สมุนไพรเป็นนะคร้าบ ตอนที่ 2
  6. เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ยีราฟคอยาวกินน้ำได้อย่างไร โดย กัมบูร์นัก ลอร์ แปลโดย ปราณี ศิริจันทพันธ์ (นานมีบุ๊คส์, 2548) 160 หน้า. ISBN 9789749601129
  7. หน้า 71, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  8. ทำไมยีราฟถึงคอยาว
  9. https://sites.google.com/site/biologyroom610/evolution/evolution2

http://5640644.blogspot.com/2013/09/blog-post_1432.html

http://www.komkid.com/%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2/%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9F-giraffee/ ยีราฟมีวาล์ว สัตว์ก็ใช้สมุนไพรเป็นนะคร้าบ ตอนที่ 2 เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ยีราฟคอยาวกินน้ำได้อย่างไร โดย กัมบูร์นัก ลอร์ แปลโดย ปราณี ศิริจันทพันธ์ (นานมีบุ๊คส์, 2548) 160 หน้า. ISBN 9789749601129 หน้า 71, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518) ทำไมยีราฟถึงคอยาว https://sites.google.com/site/biologyroom610/evolution/evolution2