พระยาชัยสุนทร (หนู)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาชัยสุนทร
(หนู)
เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2420
ก่อนหน้าพระยาชัยสุนทร(กิ่ง)
ถัดไปพระยาชัยสุนทร(โคตร)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบปีเกิด
เมืองกาฬสินธุ์
เสียชีวิตพ.ศ. 2420
เมืองกาฬสินธุ์
ศาสนาศาสนาพุทธ

พระยาชัยสุนทร (หนู) หรืออีกนามเรียกว่า “ท้าวหนูหรือหนูม้าว” เป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 8 (พ.ศ. 2411–2420)[1] เป็นต้นเชื้อสายตระกูล ณ กาฬสินธุ์“ ซึ่งผู้ใช้นามสกุลส่วนใหญ่ตั้งรกรากและอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]

ชาติกำเนิด[แก้]

เกิดเมื่อราวปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฏ บิดาคือพระไชยสุนทร(หมาสุย)อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ ส่วนมารดาไม่ปรากฏนาม ซึ่งเป็นบุตรของพระยาไชยสุนทร(เจ้าโสมพะมิตร) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 1 ส่วนมารดาไม่ปรากฏนาม มีพี่น้องร่วมสายโลหิต เป็นชายได้แก่ ท้าวเกษ ท้าวกิ่ง ท้าวหนูม้าว ส่วนบุตรหญิงไม่ปรากฏนาม

การรับราชการ[แก้]

•บวชเรียนอักขระตามประเพณีสมัยนิยมพอเป็นหนังสือจึงเข้าไปบวชเรียนการปกครองบ้านเมืองที่สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารกรุงเทพมหานครเมื่อเติบโตขึ้นได้เข้ารับราชการในกรมการเมืองกาฬสินธุ์และได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ ในสมัยพระยาไชยสุนทร (กิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 7

•ภายหลังพระยาไชยสุนทร(กิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 7 ได้ถึงแก่กรรมลง ในปี พ.ศ. 2412 กรมการเมืองกาฬสินธุ์ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าฯ พระทานสัญญาบัตรตั้งท้าวหนูม้าว เป็นที่พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และพระไชยสุนทร(เหม็น)บุตรท้าวทองเจ้าเมืองคนเก่า เป็นที่อุปฮาด เพี้ยซานนท์(โคตร)บุตรท้าวหล้าเจ้าเมืองคนเก่า เป็นที่ราชวงศ์ และพระไชยสุริยมาตย์(สุรินทร์)บุตรท้าวโคตรว่าที่ราชวงศ์ เป็นที่ราชบุตร

•โปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องยศแก่กรมการเมืองประกอบบรรดาศักดิ์ดังนี้

เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ “พานเงินเครื่องในถมสำรับหนึ่ง คนโทเงินถมยาดำหนึ่ง ลูกประคำทองหนึ่ง กระบี่บั้งเงินหนึ่ง สัปทนปัศตูหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วดีตัวหนึ่ง แพรทับทิมติดขลิบผืนหนึ่ง ชวานปักทองผืนหนึ่ง แพรขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง” - พร้อมตราประทับประจำตำแหน่งเจ้าเมืองกาฬสินธุ์คือ “เทวดานั่งแท่นถือพระขรรค์และดอกบัว”

อุปฮาด “ถาดหมากเงินคนโทเงินสำรับหนึ่ง สัปทนแพรคันหนึ่ง เสื้อเข้มขาบริ้วดีตัวหนึ่ง ผ้าโพกขลิบผืนหนึ่ง ผ้าดำปักทองผืนหนึ่ง แพรขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง”

ราชวงศ์ “ถาดหมากเงินคนโทเงินสำรับหนึ่ง สัปทนแพรคันหนึ่ง เสื้อเข้มขาบลายก้านแย่งตัวหนึ่ง ผ้าโพกขลิบผืนหนึ่ง ผ้าดำปักทองผืนหนึ่ง แพรขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง”

ราชบุตร “เสื้ออัตลัตดอกถี่ตัวหนึ่ง ผ้าโพกขลิบผืนหนึ่ง ผ้าดำปักทองผืนหนึ่ง แพรขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง”

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

•ปี พ.ศ. 2411 พระยาไชยสุนทร(กิ่ง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์พร้อมกับพระอินทิสาร(ขี่)ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์และท้าวคำไภยราชวงศ์เมืองสหัสขันธ์ ถึงแก่กรรมลง จึงโปรดเกล้าฯให้อุปฮาดหนูม้าวเป็นที่”พระยาไชยสุนทร” เจ้าเมือง ท้าวเหม็นเป็นที่”พระไชยสุนทร”อุปฮาด เพี้ยซานนท์(โคตร)เป็นที่ราชวงศ์ พระไชยสุริยมาตย์(สุรินทร์)เป็นที่ราชบุตร พระศรีวรวงศ์(สี)และขอพระโพธิสาร(คำ)เป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง รักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป

•ปี พ.ศ. 2415 พระยาไชยสุนทร(หนู) ลงไปรับนามสัญญาบัตรเป็นที่เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ซึ้งท้าวเพี้ยเมืองสหัสขันธ์ที่ลงไปด้วยนั้นได้เป็นโจทก์ฟ้องกล่าวโทษพระประชาชนบาล(แสน)เจ้าเมืองเห็นว่ามีความผิด จึงโปรดเกล้าฯมีท้องตราขึ้นมาวางที่เมืองกาฬสินธุ์ให้ถอดพระประชาชนบาล(แสน)ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองและขอตั้งท้าวโคตรเป็นที่”พระศรีสุวรรณ”เจ้าเมืองแซงบาดาลได้รับพระราชทาน”ถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาส ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เป็นเครื่องยศและท้าวหงส์เป็นราชวงศ์เมืองท่าขอนยางได้รับพระราชทานเสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เป็นเครื่องยศ

•ปี พ.ศ. 2416 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออกว่าให้ยกเลิกตั้งธรรมเนียมการตั้งข้าหลวงกองสัก ที่มาสักเลกตามหัวเมืองและยอมอนุญาตให้ไพร่ไปอยู่ตามใจสมัครแล้วให้ทำบัญชีสำมะโนครัวตัวเลกส่งลงไปยังกรุงเทพฯและพระยาไชยสุนทร(หนู)ได้มีใบบอกขอตั้งเมืองกันทรวิชัยซึ่งเพี้ยคำมูลได้อพยพท้าวเพี้ยตัวเลกที่สมัครรวม ๒,๗๐๐ เศษมาตั้งอยู่นั้น โดยให้เพี้ยคำมูล ชาวเมืองมหาสารคามเป็นที่”พระประทุมวิเศษ”เจ้าเมือง เพี้ยเวียงแกเป็นที่อุปฮาด เพี้ยเมืองทอเป็นที่ราชวงศ์ เพี้ยนามวิเศษเป็นที่”หลวงจำนงภักดี”ผู้ช่วย ยกบ้านกันทาเป็นเมืองกันทรวิชัย ทำราชการขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์

•ปี พ.ศ. 2417 พระยามหาอำมาตย์(ชื่น) ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีเกณฑ์กำลังคนในหัวเมืองตะวันออกเพื่อเตรียมสู้รบกับจีนฮ่อ พระยามหาอำมาตย์(ชื่น)ได้สู้รบเป็นสามารถปะทะกับทัพจีนฮ่อที่เมืองหนองคาย จนพวกฮ่อพ่ายแพ้ถอยกลับไป เมื่อเสร็จราชการอยู่ที่เมืองหนองคายและโปรดเกล้าฯให้ตั้งตั้งหลวงจุมพลพนาเวส(มุ่ง)เป็นที่พระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์

•ปี พ.ศ. 2419 พระราษฎรบริหาร(เกษ) เจ้าเมืองกมลาไสย ถึงแก่กรรมด้วยวัย ๗๐ ปีเศษ เป็นเจ้าเมืองได้ ๑๑ ปีส่วนพระยาไชยสุนทร(หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีเหตุวิวาทบาดหมางกับพระพิชัยอุดมเดช เจ้าเมืองภูแล่นช้างและพระธิเบศวงษา(ด้วง) เจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์และได้ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานให้แยกเมืองกุดสิมนารายณ์ออกจากเมืองกาฬสินธุ์ไปทำราชการขึ้นกับเมืองมุกดาหารแทน ส่วนเมืองภูแล่นช้างแยกจากเมืองกาฬสินธุ์ไปทำราชการขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

•ปี พ.ศ. 2420 พระยาไชยสุนทร(หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีเหตุวิวาทบาดหมางกับหลวงจุมพนาเวส(มุ่ง) ผู้ว่าที่”พระประชาชนบาล”เจ้าเมืองสหัสขันธ์ จนมีเรื่องฟ้องร้องลงไปยังกรุงเทพฯ สอบสวนคดีความแล้วพระประชาชนบาล(มุ่ง)เป็นผู้ชนะ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงจุมพลพนาเวส(มุ่ง)เป็นที่”พระประชาชนบาล”เจ้าเมืองสหัสขันธ์ ให้แยกจากเมืองกาฬสินธุ์ไปทำราชการขึ้นกับเมืองกมลาไสยแทน ส่วนเมืองกมลาไสยนั้นโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาด(ทอง)บุตรเจ้าเมืองคนเก่าเป็นที่”ราษฎรบริหาร”เจ้าเมือง ราชวงศ์(บัว)เป็นที่อุปฮาด ราชบุตร(คำแสน)เป็นที่ราชวงศ์ หลวงชาญวิไชยยุทธ(นวน)ผู้ช่วยเป็นที่ราชบุตร ส่วนพระยาไชยสุนทร(หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ได้ล้มป่วยรักษาตัวอยู่ที่กรุงเทพฯเมื่อครั้งเป็นคดีความกับเมืองสหัสขันธ์ไม่นานก็ถึงแก่กรรม

ถึงแก่กรรม[แก้]

•พระยาไชยสุนทร(หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 8 ได้ล้มป่วยถึงแก่กรรม รับราชการเป็นเจ้าเมืองสนองพระเดชพระคุณ 10 ปี ที่วัดปทุมวานารามกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2411 สิ้นประวัติพระยาไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 8 เพียงเท่านี้

ทายาท[แก้]

พระยาไชยสุนทร(หนู) สมรสกับคุณหญิงบัว และมีบุตร 1 คน ได้แก่

1) ท้าวงวด ราบุตรเมืองกาฬสินธุ์ สมรสกับใครไม่ปรากฏ มีบุตร 1 คนคือ พระยาไชยสุนทร(เก) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 11 เป็นต้น

สายตระกูล[แก้]

ก่อนหน้า พระยาชัยสุนทร (หนู) ถัดไป
พระยาชัยสุนทร (กิ่ง)
เจ้าเมืองกาฬสินธุ์,
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

(พ.ศ. 2411 - 2420)
พระยาชัยสุนทร (โคตร)
  1. http://www.kalasinpit.ac.th/elearning/kroosert/data/kalasin.htm[ลิงก์เสีย]