รวงผึ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รวงผึ้ง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Schoutenia glomerata) รวงผึ้งเป็นไม้ต้นที่นิยมปลูกในเดือนสำคัญของประเทศ จัดเป็นพืชในวงศ์ Malvaceae โดย สกุล Schoutenia เดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Tiliaceae ปัจจุบันอยู่วงศ์ย่อย Dombeyoideae ของวงศ์ Malvaceae มี 8 ชนิด พบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมี 5 ชนิด

อนึ่ง รวงผึ้ง S. glomerata King subsp. peregrina (Craib) Roekm. เป็นไม้ต้นที่มีการกระจายพันธุ์บริเวณดอยสุเทพ ที่ราบลุ่มทางภาคกลาง และกัมพูชา ใบขนาดเล็กกว่า subsp. glomerata ที่พบในคาบสมุทรมลายู และบอร์เนียว[1]

ต้นรวงผึ้งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ปลูกเป็นไม้ประดับบนดินร่วน ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม[3][4]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 8 เมตร ใบรูปมนรีหรือขอบขนานปลายแหลม ขอบใบเรียบ ขนาด 4–12 × 3.5–5 เซนติเมตร ฐานใบป้านและมักไม่สมมาตร ก้านใบยาว 0.2–0.9 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขน ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ สีเหลืองสด ขนาด 1.3–1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ เชื่อมกันใกล้ฐานเป็นรูปถ้วย ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมียปลายแยก 5 พู รังไข่กลม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน (7 - 10 วัน) ผลกลมมีขน ขนาด 0.5–1 เซนติเมตร[5]

เป็นพรรณไม้ที่ พบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ–ปุย บริเวณป่าดิบเขา ที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร เคยเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย (ไม่พบในต่างประเทศ) ต่อมามีรายงานการพบในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่จังหวัดนครสวรรค์ สกลนคร และนครพนม และยังพบในกัมพูชาอีกด้วยพบขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่งและเพาะเมล็ด ปัจจุบันต้นรวงผึ้งมีสถานภาพเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered; CR) จึงเป็นพรรณไม้ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบต่อไป


อ้างอิง[แก้]

  1. "ต้นรวงผึ้ง พรรณไม้หอมไทยแท้ ต้นไม้ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 10". Kapok.com. December 8, 2016. สืบค้นเมื่อ July 24, 2019.
  2. ""รวงผึ้ง" ดอกสวย หอมแรงมีต้นพันธุ์ขาย". ไทยรัฐ. June 29, 2018. สืบค้นเมื่อ April 30, 2019.
  3. ""รวงผึ้ง" ไม้หอมไทยแท้". อุทยานหลวงราชพฤกษ์. June 20, 2016. สืบค้นเมื่อ April 30, 2019.
  4. "รวงผึ้ง". บ้านและสวน. May 24, 2016. สืบค้นเมื่อ April 30, 2019.
  5. "รวงผึ้ง พรรณไม้ประจำรัชกาลที่ 10". คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. March 5, 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ April 30, 2019.