วัดค้างคาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดค้างคาว
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 138 หมู่ที่ 4 ซอยบางไผ่ ซอย 10 ถนนบางไผ่พัฒนา–แยกวัดตึก ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดค้างคาว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 บ้านบางไผ่น้อย ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา

ประวัติ[แก้]

ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้างวัดค้างคาว แต่สันนิษฐานจากรูปแบบทางศิลปกรรมได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง เริ่มแรกแรกบริเวณนี้มีค้างคาวมากมายจึงเรียกว่า "วัดค้างคาว" ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2339 ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523[1]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

อาคารเสนาสนะในวัดได้แก่ พระอุโบสถกว้าง 10.35 เมตร ยาว 26 เมตร ปัจจุบันไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์เนื่องจากการบูรณปฏิสังขรณ์ หน้าบันเป็นลวดลายไม้จำหลักรูปเทวดาประทับในปราสาท[2] เครื่องประกอบมีเครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง คันทวยรับเชิงชาย บานประตูหน้าต่างเป็นลายจำหลักไม้ ซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง เรียกว่า หลวงพ่อเก้า พระพุทธรูปในอุโบสถจำนวน 28 องค์ ศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายนอกมีกำแพงแก้วเป็นแบบกำแพงแก้วบัวหลังเจียด ช่องประตูหัวเสาเม็ดทรงมัณฑ์ ใบเสมาทำจากหินทรายแดง เป็นใบเสมาคู่ตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์โหย่ง อยู่รอบพระอุโบสถจำนวน จำนวน 16 ใบ มีลวดลายจำหลักหลายแบบ อายุเก่าแก่สุดมาจากสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนสมัยอยุธยา ลายพันธุ์พฤกษา ลายเครือเถา อายุถัดลงมาเป็นลายกระหนก[3]

เจดีย์ตั้งรอบพระอุโบสถมี 2 แบบคือ เจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมทรงสูง ศิลปกรรมสมัยอยุธยา และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ กุฏิสงฆ์จำนวน 5 หลัง หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เดิมวัดมีธรรมาสน์และตู้พระธรรมที่ถูกเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[4]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • หลวงปู่ชุ่ม
  • หลวงปู่จันทร์
  • หลวงปู่สำรวย
  • หลวงปู่ยิ้ม
  • หลวงปู่สมยา
  • หลวงปู่ฉัตร
  • พระอธิการวิชัย
  • พระครูสังฆรักษ์กมล

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดค้างคาว". มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สำนักบรรณสารสนเทศ.[ลิงก์เสีย]
  2. "พระอุโบสถ วัดค้างคาว". มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สำนักบรรณสารสนเทศ.[ลิงก์เสีย]
  3. "โบราณสถานวัดค้างคาว". มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สำนักบรรณสารสนเทศ.[ลิงก์เสีย]
  4. ประภัสสร์ ชูวิเชียร. "อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง". p. 317.