วัดจรรย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดจรรย์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดจรรย์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันออก ในตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน 20 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา

วัดจรรย์น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยชาวลาวที่อพยพเข้ามาอยู่ในละแวกนี้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ตั้งเป็นวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2455[1] เนื่องมาจากในสมัยก่อนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างวัดเป็นป่าที่มีต้นจันทน์ขึ้นอยู่หนาแน่นเมื่อราษฎรได้สร้างอาคารเสนาสนะขึ้นในชั้นต้น จึงเรียกว่า สำนักสงฆ์จันทน์ และต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดจรรย์"

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีพะไลต่อยื่นมาด้านหน้า มีประตูทางเข้าเฉพาะด้านหน้า 1 ประตู และมีหน้าต่างอยู่ที่ผนังข้างด้านละ 3 ช่อง หลังคาด้านบนซ้อนลด 2 ชั้น ส่วนฐานอาคารด้านล่างแอ่นโค้ง ภายในวิหารมีพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย 1 องค์ ภาพจิตรกรรมอยู่ทั้งภายนอกและภายใน เขียนด้วยสีฝุ่นมีรองพื้น สมัยต้นรัตนโกสินทร์ฝีมือช่างพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวง เป็นเรื่องราวพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานที่สอดแทรกวิถีชีวิตของชาวลาวไว้ด้วย จิตรกรรมมีการเขียนซ่อมเพิ่มเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] อุโบสถมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2460[3] กุฏิ 9 หลัง หอสวดมนต์ 1 หลัง มณฑป 2 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง และเจดีย์ 3 องค์[4]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • หลวงปู่กาพย์ พรฺหมฺสโร
  • พระสมุห์ไสว ธมฺมสาโร (พระเมธีธรรมสาร)
  • พระอธิการแช่ม
  • พระครูสุวรรณปสาทคุณ (แนบ จิตฺตปสาโท)
  • พระครูสุวรรณอมรรังสี (เสนาะ อมรรํสี)
  • พระปลัดสุชาติ สุชาโต

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดจรรย์". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. กรมศิลปากร. "วัดจรรย์" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 4 มกราคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  3. "วัดจรรย์". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  4. "วัดจรรย์". สำนักงานคณะสงฆ์ภาค ๑๔.