วัดช่องนนทรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดช่องนนทรี
วัดช่องนนทรี
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 463 ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดช่องนนทรี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ที่แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับบริเวณฝั่งบางกะเจ้า ก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2119 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2528 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2520 พระอุโบสถของวัดเปิดให้เข้าชมในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา[1]

โบราณวัตถุและจิตรกรรมฝาผนัง[แก้]

พระอุโบสถฐานเป็นโบสถ์แอ่นท้องสำเภา มีขนาด 5 ห้อง 2 มุข คล้ายโบสถ์มหาอุด ด้านหน้าพระอุโบสถทำเป็นมุขเด็จ มีเสาหารรองรับเครื่องบนหลังคาสี่ต้น หน้าบันทำเป็นฝาปะกนไม่สลักลวดลาย หลังคาเป็นลอนมุงกระเบื้องแล้วฉาบปูนติดเชิงชาย ด้านหน้าโบสถ์มีเจดีย์และใบเสมาเรียงรายกันอยู่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีพระพุทธรูปอีกสี่องค์เรียงรายลดหลั่นกัน ฐานองค์พระมีลายปูนปั้น ขาสิงห์เป็นรูปครุฑ

จิตรกรรมฝาผนัง มีครบทั้ง 4 ด้าน แต่มีสภาพสมบูรณ์เพียง 2 ด้าน เล่าเรื่องทศชาติชาดก อดีตพุทธ และพุทธประวัติโครงสีเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีชมพู โดยส่วนใหญ่เป็นสีจากธรรมชาติ ถือเป็นภาพเขียนสมัยอยุธยาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ใกล้เคียงกับวัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี คาดว่าเป็นงานจิตรกรรมสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[2] การวางภาพจะคั่นเรื่องราวด้วยลายร้อยรักเป็นเส้นตั้ง และคั่นเรื่องย่อยด้วยเส้นสินเทา ส่วนใหญ่โครงเป็นสีแดง นิยมปิดทองตัวกษัตริย์ราชรถและปราสาท การเขียนภาพมีลักษณะเหนือจริงเน้นความสวยงามมากกว่าความสมจริง โดยเขียนต้นไม้บิดเบี้ยวและภูเขาตัดเส้นแบบจีน มีบางภาพเขียนแบบทัศนียวิทยาแบบตะวันตกด้วย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศุภกิจ พิทักษ์บ้านโจด. "วัดช่องนนทรี ศิลปะไทยยุคกรุงศรีฯ ที่ยังมีลมหายใจ".
  2. "วัดช่องนนทรี". สำนักงานเขตยานนาวา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
  3. "วัดช่องนนทรี".