วัดเนกขัมมาราม (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเนกขัมมาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเนกขัมมาราม
ที่ตั้งตั้งอยู่เลขที่ 82 หมู่ 4 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
เจ้าอาวาสพระครูสังฆรักษ์วิชาญ สุภาจาโร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเนกขัมมาราม เลขที่ 82 หมู่ 4 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 70 ไร่เศษ ถนนลาดยางสายโคกวัดและตลาดเสรีผ่านหน้าวัด คลองขุดลัดราชบุรีผ่านหลังวัด

ประวัติ[แก้]

ประมาณปี พ.ศ. 2476 พระเดชพระคุณ พระธรรมวิรัตน์สุนทร (หลวงพ่อเชย) เจ้าอาวาสวัดโชติทายการาม ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก ท่านดำริที่จะจัดตั้งวัดขึ้น เพื่อความสะดวกของประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร จะได้ทำบุญสร้างกุศลตามสภาพท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ ณ บ้านหมู่ 4 ตำบลแพงพวยนี้ โดยมีคุณแม่อุบาสิกาทองดี แซ่กัว จัดซื้อที่ดิน จำนวน 11 ไร่เศษ นำไปถวายหลวงพ่อเชย จึงจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นก่อน เรียกว่า สำนักสงฆ์เนกขัมมาราม ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 จึงได้ประกาศตั้งเป็นวัดชื่อ วัดเนกขัมมาราม มีคำสั่งแต่งตั้ง พระภิกษุถนอม อตฺตนาโถ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดปรกเจริญ ตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นับเป็นรูปแรกของวัดเนกขัมมารามนี้

ในสมัยที่หลวงพ่อพระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ถึงปี พ.ศ. 2522 นั้น ท่านได้พัฒนาสร้างถาวรวัตถุด้านศาสนา และด้านการศึกษาต่างๆ หลวงพ่อพระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ มรณภาพเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2522 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมสิริอายุได้ 64 ปี นับว่าท่านได้สร้างความเจริญให้กับวัดเนกขัมมารามนี้ เป็นอย่างมาก

ต่อมาคณะกรรมการวัดฯ จึงได้ไปอาราธนาพระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ ( ในขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูสังฆรักษ์ชุ่ม สมฺปนฺโน ) ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มาดำรง ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม ในปี พ.ศ. 2523 นับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 2 สืบต่อมาถึงปัจจุบัน

นับว่าหลวงพ่อพระครูไพศาลพัฒนาภรณ์นี้ ท่านเป็นพระนักพัฒนา ท่านพัฒนาทั้งทางโลก และทางธรรมควบคู่กันไป เห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นที่สุด ท่านถือคติที่ว่า รากฐานของตึก อยู่ที่อิฐ รากฐานของชีวิต อยู่ที่การศึกษา นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเยาวชนอย่างยิ่ง โดยการจัดซื้อที่ดิน เพื่อจัดสร้าง โรงเรียนมัธยมประจำตำบลขึ้น เป็นการขยายระดับการศึกษา ต่อจากชั้นประถมศึกษาเป็นมัธยมศึกษาและก.ศ.น. พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับหน่วยราชการระดับจังหวัดและส่วนกลาง เพื่อจัดสร้าง มัธยม”เนกขัมวิทยา” พร้องทั้งยังเป็น องค์อุปถัมภ์อุปการะโรงเรียน และนักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยการมอบทุนการศึกษา จัดตั้งมูลนิธิสนับสนุนการศึกษาเนกขัมฯ ตั้งแต่เริ่มจัดสร้างโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า หลวงพ่อพระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เริ่มสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก “เนกขัมเจริญวัย” ขึ้นอีก ในปีพ.ศ. 2532 ท่านได้อุปการะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเนกขัมเจริญวัยแห่งนี้ และได้รับการสนับสนุนจากญาติโยม หลวงพ่อพระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ ท่านได้สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นับเป็นเวลา กว่า 31 ปี ที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านบูรณปฏิสังขรณ์วัดเนกขัมมาราม ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ดังที่ปรากฏแล้วว่า แต่เดิมวัดเนกขัมมาราม อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ท่านก็ได้มาปรับปรุงจัดระเบียบ ปรับปรุงเคลื่อนย้ายกุฏิสงฆ์ หอฉันหอสวดมนต์ จากเดิมชั้นเดียว และยกเป็น 2 ชั้น จัดเป็นระเบียบ เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ยกและย้ายอาคารโรงเรียน สร้างกำแพงวัด สร้างซุ้มประตูร่มเกล้า สร้างศาลาอเนกประสงค์ เพิ่มอีก 2 หลัง พร้อมทั้งทาสีถาวรวัตถุของวัดให้ใหม่สวยสดงดงาม อีกทั้งยังได้ก่อสร้าง เรือนรับรอง เพื่อเป็นที่รับรองพระสงฆ์ หรือคณะพุทธศาสนิกชน ที่ได้เดินทางมายังวัดเนกขัมมาราม เพื่อประกอบบุญพิธีในด้านต่างๆ และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัด มีการปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น และมีการเผยแผ่คติธรรมคติพจน์ คำกลอน ตามต้นไม้ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติหลวงพ่ออู่สำเภาทอง (แดง)[แก้]

ประวัติหลวงพ่ออู่สำเภาทอง( หลวงปู่แดง )

หลวงพ่ออู่สำเภาทอง (หลวงปู่แดง) เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักขึ้นจากศิลาแลง (ศิลาแดง) หน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว สูง ๖๙ นิ้ว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าผู้ใดสร้าง แต่ได้สันนิษฐานกันตามพุทธลักษณะว่า เป็นพระพุทธรูปโบราณ แต่เดิมนั้นชาวบ้านเรียกท่านว่า “ หลวงปู่แดง ” ตามพุทธลักษณะของท่าน และอีกประการหนึ่งเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น พวกพม่าได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเงินทอง แม้กระทั่งพระพุทธรูปต่างๆ พม่าก็นำไปเผาไฟ เพื่อหลอมเอาทองคำที่หุ้มองค์พระนำกลับไปพม่า ที่นำไปไม่ได้ก็ทุบทำลายเสียหายเป็นอันมาก มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเห็นการกระทำของพม่า จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่สลักด้วยศิลาแลง (ศิลาแดง) หลายองค์ลงเรือสำเภาใหญ่หนีมาถึงเมืองราชบุรี และมาเกยตื้นที่โคกหลวง และได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่าวัดโคกหลวง และนำพระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญมาด้วยนั้นขึ้นประดิษฐานที่วัดโคกหลวงนี้ หลวงพ่ออู่สำเภาทอง (หลวงปู่แดง) ได้ประดิษฐานอยู่ที่หน้าอุโบสถ และหลวงพ่อศรีโสภิส ได้ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ (ปัจจุบันวัดอมรญาติสมาคม ได้อัญเชิญไปเป็นพระประธานอุโบสถ เมื่อครั้งวัดโคกหลวงนี้ได้เป็นวัดร้าง)

หลวงพ่ออู่สำเภาทอง (หลวงปู่แดง) มีพระพักตร์กลมอิ่มยิ้มละมัย ในส่วนของพระเมาลีตอนโคนสุดเป็นรูปกลีบบัว ส่วนปลายแหลมเป็นเปลวเพลิง ตรงกลางเป็นรูปอุณาโลม เม็ดพระศกขมวดปลายแหลมเป็นก้นหอย พระกรรณ (หู) ยาวจรดพระอังสา (บ่า) พระเพลาเป็นแบบสมาธิ พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา ซึ่งเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่า “ ชนะมาร – สดุ้งมาร – มารวิชัย ” ลำพระองค์ได้สัดส่วน ห่อหุ้มด้วยทองคำเปลวซึ่งสาธุชนทั่วไปได้มาปิดทองถวาย ลักษณะอ่อนช้อยงดงาม

ต่อมา วัดโคกหลวงนี้ได้เป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พระธรรมวิรัตสุนทร (หลวงพ่อเชย) เจ้าอาวาสวัดโชติทายการาม เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก และพระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ เจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดเนกขัมมาราม ได้ทำพิธีอัญเชิญองค์หลวงพ่ออู่สำเภาทอง (หลวงปู่แดง) มาประดิษฐานที่วิหารหน้าวัดเนกขัมมาราม ริมคลองขุดลัดราชบุรี ซึ่งในระยะแรกนั้น ได้ปลูกวิหารเป็นไม้ มุงสังกะสี พอกันแดดกันฝนให้องค์พระ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๓๖ เวลา ๐๙.๓๙ น. พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ (ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูวินัยธรชุ่ม สมฺปนฺโน) เจ้าอาวาส และคณะกรรมการ คณะศิษยานุศิษย์ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างวิหารจตุรมุขหลังใหม่อันงามสง่าสมศักดิ์ศรี เพื่อเป็นที่ประทับประดิษฐานหลวงพ่ออู่สำเภาทอง (หลวงปู่แดง) ให้เป็นที่ถาวรสืบไป

เจ้าอาวาส[แก้]

  • พระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ พ.ศ. 2491 - 2522
  • พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ (ชุ่ม สมฺปนฺโน) พ.ศ. 2523 - 2565
  • พระครูสังฆรักษ์วิชาญ สุภาจาโร พ.ศ. 2565 ถึงปัจจุบัน

ประวัติเจ้าอาวาสรูปที่ 1[แก้]

  • พระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ (อุส่าห์ฤทธิ์) เจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม พ.ศ.๒๔๙๑ ถึง ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงพ่อพระธรรมธรถนอม  อตฺตนาโถ (อุส่าห์ฤทธิ์) เกิดเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง ณ หมู่ที่ ๒ ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี บิดาชื่อ  คุณพ่อมด   มารดาชื่อ  คุณแม่จัด นามสกุล อุส่าห์ฤทธิ์ ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งหมด ๖ คน ๑. พระธรรมธรถนอม  อตฺตนาโถ  (อุส่าห์ฤทธิ์) ๒. นายนุ่น  อุส่าห์ฤทธิ์ ๓. นายแนบ  อุส่าห์ฤทธิ์ ๔. นายจำเนียน  อุส่าห์ฤทธิ์ ๕. นายจำนวน  อุส่าห์ฤทธิ์ ๖. นายละเอียด  อุส่าห์ฤทธิ์ เมื่อเยาว์วัยท่านบรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดปรกเจริญ ตำบลตาหลวง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โดยมีพระอธิการเจือ เป็นเจ้าอาวาส และพระครูธรรมวิรัต เจ้าอาวาสวัดโชติทายการาม เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เป็นพระอุปัชฌายะ บรรพชาเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ สมัยท่านเป็นสามเณร ท่านศึกษาธรรมวินัยจนสอบได้ นักธรรมชั้นโท พออายุครบ ๒๐ ปี โยมพ่อ โยมแม่ ก็ให้อุปสมบทเป็นภิกษุ (ญัตติเป็นพระภิกษุเลย โดยมิได้สึกจากสามเณร) โดยพระครูธรรมวิรัต เป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๗๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด อุปสมบทแล้วท่านก็ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดปรกคงเดิม แต่งานของท่านเพิ่มขึ้นตามกาลสมัย ท่านต้องสอนภิกษุอยู่ถึง ๒ วัดคือเวลาเช้าไปสอนนักธรรมที่วัดสอนประดิษฐ์วราราม บ่ายสอนที่วัดปรกเจริญ (การสอนมีเฉพาะในพรรษา) นอกจากสอนพระเณรแล้วท่านยังเป็นครูสอนช่วยสอนที่ ร.ร.ของวัด (โรงเรียนประชาบาล) เพราะท่านสนใจต่อการศึกษามาก ต่อมาท่านได้รับคำสั่งจากพระครูธรรมวิรัต เจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เจ้าอาวาสวัดโชติทายการาม พระอุปัชฌายะของท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๙๑ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม (ตอนสร้างวัดใหม่ๆไม่มีเจ้าอาวาส มีแต่พระหลวงตามาอยู่รักษาวัดเฉยๆ เพราะยังไม่มีรูปใดที่เหมาะสม ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในพรรษานั้น มีพระภิกษุ ๒๗ รูป สามเณร ๔ รูป เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้วมิได้อยู่เฉยทำการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ เพิ่มเติมอยู่ขึ้นเรื่อยๆเพราะพระเณรเพิ่มอยู่เสมอ เป็นเพราะท่านมีเมตตามีคุณธรรมสูงหลวงพ่อเคยพูดอยู่เสมอว่าที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข เมื่อมีพระเณรมากโยมก็มากเป็นธรรมดา ต่อมาท่านก็ย้ายกุฏิที่จากที่เดิม (อยู่ตะวันตกตรงบ้านพักครู) มาสร้างที่ใหม่ (ปัจจุบัน) ท่านไม่หยุดอยู่เท่านั้นเมื่อมีที่อยู่ของพระเณรมีมากพอสมควรแล้วท่านก็หันมาสร้าง ร.ร.ประชาบาล ชื่อ โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม (ถนอมราษฏร์อุทิศ) เดิมใช้โรงครัวทำเป็นอาคารเรียน จากโรงเรียนก็สร้างศาลาการเปรียญ และเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถ ยังไม่แล้ว อาการของโรคต่างๆก็เริ่มสำแดงออกมาให้เห็น ตาเสียฝ้าฟาง เป็นอันดับแรกต่อจากนั้น เบาหวาน ไต และอีกหลายอย่างก็ตามมาเป็นขบวน ผลที่สุด วันแห่งความโศกเศร้า ของคณะศิษยานุศิษย์ญาติโยมทั้งหลายก็มาถึง คือหลวงพ่อพระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ช่วงบ่ายของวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๒ เวลา ๑๔.๖๔ นาที ที่ โรงพยาบาลดำเนินสะดวก สิริอายุได้ ๖๓ ปี ในสมัยที่หลวงพ่อพระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ ถึงปี ๒๕๒๒ นั้น ท่านได้พัฒนาสร้างถาวรวัตถุด้านศาสนาและด้านการศึกษาต่างๆดังต่อไปนี้ สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ๔ หลังๆละ ๔ ห้อง เป็นเรือนไม้เนื้อแข็งชั้นเดียว สร้างอุโบสถทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สร้างโรงเรียนประชาบาล “โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม (ถนอมราษฎร์อุทิศ)” อาคารเรียน ๑ หลัง สร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร สร้างหอฉัน-หอสวดมนต์ ๑ หลัง เป็นเรือนไม้เนื้อแข็งชั้นเดียว กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สร้างหอระฆัง ๑ หลัง ได้วางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังใหม่ ลักษณะแบบทรงไทยรัตนโกสินทร์ มีช่อฟ้าใบระกา ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ได้ดำเนินการก่อสร้างมาเรื่อยๆจนมุงหลังคา แต่ลวดลายการฉาบปูนยังไม่แล้วเสร็จ ท่านได้มรณภาพเสียก่อน * คัดจากหนังสือ อนุสรณ์ งานประชุมเพลิงศพ พระธรรมธรถนอม อตฺตนาโถ  ๘ มี.ค. ๒๕๒๔

ประวัติเจ้าอาวาสรูปที่ 2[แก้]

  • พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ (พระอุปัชฌาย์ชุ่ม สมฺปนฺโน , บุญเอี่ยม) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก เจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ถึง ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ สถานะเดิม ชื่อ  ชุ่ม  นามสกุล  บุญเอี่ยม  (สกุลเดิม ปุ่นเอี่ยม)  เกิดเมื่อวันศุกร์ที่   ๖   เดือน  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๑   ปีขาล บิดาชื่อ  นายฉ่ำ   มารดาชื่อ  นางศรี   นามสกุล  บุญเอี่ยม   (สกุลเดิม ปุ่นเอี่ยม) เกิดที่บ้านโพธิ์หัก  ตำบลโพหัก  อำเภอบางแพ  จังหวัดราชบุรี (ต่อมาย้ายไปอยู่ที่ บ้านโรงเข้ ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร) ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันทั้งหมด ๘ คน ๑.นางฉัตร    ปุ่นเอี่ยม ๒.นายใบ   ปุ่นเอี่ยม ๓.นางก้าน   ปุ่นเอี่ยม ๔.นายต้น   ปุ่นเอี่ยม ๕.นางบัว  ปุ่นเอี่ยม ๖.นางเฉื่อย ปุ่นเอี่ยม ๗.พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ (ชุ่ม สมฺปนฺโน, บุญเอี่ยม) ๘. นางช้อย ปุ่นเอี่ยม
  • บรรพชา วันที่  ๑  เดือนเมษายน   พ.ศ.  ๒๔๙๗   ณ วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร   ตำบลยกกระบัตร  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร พระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรธรรมวาที (โฉม สุนฺทโร) วัดธรรมจริยาภิรมย์ จังหวัดสมุทรสาคร (สมณศักดิ์ครั้งหลังสุดเป็น พระมงคลโมลี สย.)
  • อุปสมบท วันที่  ๒๖  เดือนกุมภาพันธ์   พ.ศ.  ๒๕๐๑   ณ วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร   ตำบลยกกระบัตร  อำเภอบ้านแพ้ว  จังหวัดสมุทรสาคร พระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรธรรมวาที (โฉม สุนฺทโร) วัดธรรมจริยาภิรมย์ จังหวัดสมุทรสาคร (สมณศักดิ์ครั้งหลังสุดเป็น พระมงคลโมลี สย.) พระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์บุญธรรม คุณสมฺปนฺโน วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร  จังหวัดสมุทรสาคร (สมณศักดิ์ครั้งหลังสุดเป็น พระมงคลพิพัฒน์ สย.) พระอนุสาวนาจารย์ พระอาจารย์บุญรอด วัดธรรมจริยาภิรมย์ จังหวัดสมุทรสาคร
  • วิทยฐานะ (๑) พ.ศ.๒๔๙๓ สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔  โรงเรียนวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จังหวัดสมุทรสาคร (ขณะนั้นชื่อ โรงเรียนประชาบาลตำบลโรงเข้ ๒) (๒) พ.ศ.๒๕๐๑ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี  สำนักเรียนวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จังหวัดสมุทรสาคร (๓) พ.ศ.๒๕๐๒ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท  สำนักเรียนวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จังหวัดสมุทรสาคร (๔) พ.ศ.๒๕๐๘ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก  สำนักเรียนวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จังหวัดสมุทรสาคร (๕) พ.ศ.๒๕๑๘ สำเร็จการศึกษาอบรมแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร (๖) พ.ศ.๒๕๒๒ สำเร็จการศึกษาอบรมวิชาเผยแผ่พระพุทธศาสนา จิตตภาวันวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี ความชำนาญพิเศษ ทรงจำพระปาฏิโมกข์และมีความชำนาญด้านนวกรรรม การก่อสร้าง
  • งานปกครอง (๑) พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร และพระกรรมวาจาจารย์ (๒) พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม (๓) พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลสี่หมื่น-แพงพวย (๔) พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ (๕) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๒๔ (๖) พ.ศ.๒๕๖๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก
  • งานด้านสาธารณูปการ พ.ศ.๒๕๒๓ บูรณะปฏิสังขรณ์ หอฉัน เป็นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๒๔ บูรณะปฏิสังขรณ์ ศาลาการเปรียญ เป็นจำนวน ๓๔๘,๕๐๐ บาท (สามแสนสี่หมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๒๕ สร้างอุโบสถ (แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗) เป็นจำนวน ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๒๗ สร้างพระประธานอุโบสถ เป็นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๒๘ บูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๒๐๖,๕๙๗ บาท (สองแสนหกพันห้าร้อยเก้าสิบเจ็ดบาทถ้วน) สร้างกุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๒๙ สร้างกุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๐ สร้างโรงครัว ด้านหลังศาลาการเปรียญ จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๗๕๒,๔๐๐ บาท (เจ็ดแสนห้าหมื่นสองพันสี่ร้อยบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๒ สร้างกุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๓๔๘,๕๐๐ บาท (สามแสนสี่หมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๕ บูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ ๒ ชั้น จำนวน ๖ หลัง สร้างห้องสุขา  ๖  ห้อง เป็นจำนวน ๑,๖๒๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านหกแสนสองหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๖ สร้างวิหารจตุรมุข หลวงพ่ออู่สำเภาทอง (หลวงปู่แดง) เป็นจำนวน ๒,๙๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านเก้าแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๙ สร้างหอระฆัง-หอกลอง จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๐ สร้างศาลาฌาปนสถานและเมรุ เป็นจำนวน ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านสองแสนบาทถ้วน) สร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทยประยุกต์ ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง เป็นจำนวน ๑,๕๔๙,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนสี่หมื่นเก้าพันบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๑ สร้างกำแพงแก้วรอบอุโบสถ ความยาวรวม ๔๘ เมตร เป็นจำนวน ๑,๔๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๒ เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าวิหารหลวงพ่ออู่สำเภาทอง เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๓ เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก รอบอุโบสถ รวม ๓๑๐ ตารางเมตร เป็นจำนวน ๑๗๔,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสี่พันบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๔ สร้างบันไดและระเบียงคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ เป็นจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๕ สร้างห้องน้ำ-ห้องสุขา ๑ หลัง (จำนวน ๖ ห้อง) เป็นจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๙ สร้างซุ้มประตูวัดเนกขัมมาราม เป็นจำนวน ๑,๔๒๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสี่แสนสองหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๒ สร้างศาลาเอนกประสงค์ (ศาลาเลศงาม) เป็นจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๕ สร้างอาคารเรือนรับรอง เป็นจำนวน ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านห้าแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๗ บูรณะกุฏิสงฆ์แถวหลังสุด ฝั่งตะวันออก เป็นจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๘ บูรณะกุฏิสงฆ์แถวหลังสุด ฝั่งตะวันตก เป็นจำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๙ สร้างวิหารจตุรมุข (สมเด็จโต) เป็นจำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๖๐ สร้างห้องน้ำ-ห้องสุขา ๑ หลัง (จำนวน ๑๓ ห้อง) กว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เป็นจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท (หกแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๖๑ บูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ต่อเติมโครงหลังคารอบศาลา เป็นจำนวน ๓๙๙,๓๔๕ บาท(สามแสนเก้าหมื่นเก้าพันสามร้อยสี่สิบห้าบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๖๒ สร้างห้องเรียนปริยัติธรรม พร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๖๓ วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ เป็นจำนวน ๖๓๐,๐๐๐ บาท (หกแสนสามหมื่นบาทถ้วน) บูรณปฏิสังขรณ์วิหาร ต่อเติมหลังคารอบวิหาร เป็นจำนวน ๑,๖๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านหกแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) สร้างศาลาปฏิบัติธรรม เป็นจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท (แปดแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๖๔ บูรณะกุฏิสงฆ์ ของวัดเนกชัมมาราม เป็นจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) บูรณะพื้นศาลาการเปรียญ ของวัดเนกชัมมาราม เป็นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๖๕ เทพื้นคอนกรีต ลานวัดเนกขัมมาราม เป็นผลงานสุดท้ายก่อนมรณภาพ เป็นจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) รวมผลงานด้านสาธารณูปการด้านศาสนา ๔๔,๙๔๘,๓๔๒ บาท (สี่สิบสี่ล้านเก้าแสนสี่หมื่นแปดพันสามร้อยสี่สิบสองบาทถ้วน)  
  • งานด้านศึกษาสงเคราะห์ ด้านสาธารณะสงเคราะห์ และ อื่นๆ พ.ศ.๒๕๒๕ ซื้อที่ดิน ๕๐ ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนมัธยม เป็นจำนวน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๒๗ พัฒนาปรับปรุงถนน-สะพาน ระยะทาง ๕ กม. เชื่อมถนนโคกขาม-รางสีหมอก และขุดลอกคลองส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทำเกษตร ขออนุญาตสร้างโรงเรียนมัธยมประจำตำบล ชื่อ โรงเรียนเนกขัมวิทยา พ.ศ.๒๕๒๘ สร้างเขื่อนริมคลองและบันไดคอนกรีต ริมคลองขุดลัดราชบุรี เป็นจำนวน ๑๐๖,๗๘๖ บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นเจ็ดพันแปดสิบหกบาทถ้วน) สร้างศาลาริมทาง "ศาลาร่วมใจ" จำนวน ๒ แห่ง เป็นจำนวน ๒๔๐,๐๐๐ บาท (สองแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) สร้างสะพานคอนกรีต ข้ามคลอง ชื่อ "สะพานร่วมใจ" จำนวน ๒ สะพาน เป็นจำนวน ๑,๒๔๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนสี่หมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๐ พัฒนาถนนสายวัดเนกขัมมาราม-วัดท่าเรือ ระยะทาง ๘ กม. เป็นจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๓๑ พัฒนาถนนสายวัดเนกขัมมาราม-บางป่า ระยะทาง ๕ กม. พ.ศ.๒๕๓๒ ก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเนกขัมเจริญวัย เป็นจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๒ ก่อตั้งศูนย์การเรียนชุมชนตำบลแพงพวย (กศน.) เป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๓ สร้างห้องสมุดพระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ โรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) สร้างห้องมัลติมีเดียเทคโนโลยีการศึกษา โรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๓๖๔,๖๗๐ บาท (สามแสนหกหมื่นสี่พันหกร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน) จัดซื้อเครื่องเสียงติดตั้งที่หอประชุมโรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๘๘,๐๐๐ บาท (แปดหมื่นแปดพันบาทถ้วน) สร้างสวนพฤกษา โรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๕ ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม เป็นจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) สร้างรั้วสนามเด็กเล่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเนกขัมเจริญวัย เป็นจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๖ ยก,เคลื่อนย้าย,ทาสี,ปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร ๑, ๒ โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม เป็นจำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๔๘ จัดสร้างแหล่งเรียนรู้ศาลาไทย จำนวน ๖ หลัง โรงเรียนเนกขัมวิทยาเป็นจำนวน ๓๘๐,๐๐๐ บาท (สามแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๐ ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน ๒๗ เครื่อง ให้โรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๖๗๕,๐๐๐ บาท (หกแสนเจ็ดหมื่นห้าบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๑ ซื้อเครื่องปรับอากาศติดตั้งที่ห้องคอมพิวเตอร์ ให้โรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๒ สร้างอาคารโรงอาหาร "ไพศาล สานรัก ปิยชน" โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม เป็นจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน) สร้างศาลาพักร้อน ๘ เหลี่ยม จำนวน ๒ หลัง โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) พ.ศ.๒๕๕๘ สร้างห้องอาหาร "บวร" โรงเรียนเนกขัมวิทยา เป็นจำนวน ๓๘๘,๗๐๑ บาท (สามแสนแปดหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยหนึ่งบาทถ้วน) รวมผลงานด้านสาธารณูปการการศึกษาและอื่นๆ ๑๑,๕๕๒,๑๕๗ บาท (สิบเอ็ดล้านห้าแสนห้าหมื่นสองพันหนึ่งร้อยห้าสิบเจ็ดบาทถ้วน)  
  • รวมทุกรายการเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น   ๕๖,๕๐๐,๔๙๙   บาท (ห้าสิบหกล้านห้าแสนสี่ร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน)
  • สมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสังฆรักษ์ชุ่ม สมฺปนฺโน ฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นราช ของ พระราชวิสุทธิเวที (บุญมา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสังฆรักษ์ชุ่ม สมฺปนฺโน ฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นเทพ ของ พระเทพวิมลโมลี (บุญมา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๙ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธรชุ่ม สมฺปนฺโน ฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นธรรม ของ พระธรรมวิมลโมลี (บุญมา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธรชุ่ม สมฺปนฺโน ฐานานุกรมพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ของ พระธรรมวโรดม (บุญมา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร และ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท  ในราชทินนามที่ พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ พ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท  ในราชทินนามเดิม พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก  ในราชทินนามเดิม
  • ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังนี้ พ.ศ.๒๕๕๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัล เสาเสมาธรรมจักร ประเภท สงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชน โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สาขา สงเคราะห์ประชาชนและชุมชน พ.ศ.๒๕๖๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานผ้าไตร น้ำสรง พานพุ่มดอกบัว เครื่องสักการะ ถวายเนื่องในงานทำบุญอายุวัฒนมงคล ๘๐ ปี วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑
  • มรณกาล พระครูไพศาลพัฒนาภรณ์ ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เวลา ๐๐.๐๙ น. ณ วัดเนกขัมมาราม ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี สิริอายุ ๘๓ ปี ๙ เดือน ๖๓ พรรษา

ประวัติเจ้าอาวาสรูปที่ 3[แก้]

  • พระครูสังฆรักษ์วิชาญ  สุภาจาโร  (ปรียาชีวะ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ถึง ปัจจุบัน
  • สถานะเดิม ชื่อ  วิชาญ  นามสกุล  ปรียาชีวะ  เกิดวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐  ปีขาล ตรงกับวันที่   ๒๒   เดือน  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๙๓ บิดาชื่อ  นายแย้ม   มารดาชื่อ  นางบุญช่วย   นามสกุล  ปรียาชีวะ เกิดที่บ้านเลขที่ ๑๘๐ หมู่ ๒  ตำบลท่านัด  อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี
  • อุปสมบท วันที่  ๑  เดือน  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๒๗    ณ วัดใหม่สี่หมื่น  ตำบลสี่หมื่น  อำเภอดำเนินสะดวก  จังหวัดราชบุรี พระอุปัชฌาย์ พระครูวัตตโกศล วัดโพธิ์งาม จังหวัดสมุทรสงคราม พระกรรมวาจาจารย์ พระครูปลัดประเสริฐ วัดโคกพิกุลเรียง จังหวัดราชบุรี    พระอนุสาวนาจารย์ พระครูสมุห์น้อย วัดโคกหลวง จังหวัดราชบุรี
  • วิทยฐานะ พ.ศ.๒๕๐๗สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔  โรงเรียนวัดราษฎร์เจริญธรรม จังหวัดราชบุรี พ.ศ.๒๕๓๑ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท  สำนักเรียนวัดเนกขัมมาราม
  • งานปกครอง พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม พ.ศ.๒๕๔๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.๒๕๖๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม และเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี แห่งที่ ๒๔
  • สมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสังฆรักษ์วิชาญ สุภาจาโร ฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นราช ของ พระราชกิตติโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร

เสนาสนะ[แก้]

  • อุโบสถ
  • วิหาร หลวงพ่ออู่สำเภาทอง (แดง)
  • วิหาร สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
  • ศาลาการเปรียญ
  • กุฎิสงฆ์
  • ฌาปนสถาน
  • ศาลาเอนกประสงค์
  • ศาลาเลศงาม
  • เรือนรับรอง
  • หอระฆัง
  • ซุ้มประตู

เรื่องเล่าวัดเนกขัมฯในความทรงจำ...โดย...ศรีหมึก ลูกราชบุรี.....[แก้]

     ในสมัยก่อนนี้ บ้านนี้ (บริเวณที่ตั้งวัดเนกขัมมาราม) ทำนาเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีสวน บริเวณนี้ลึกมาก เวลาหน้าน้ำ น้ำจะท่วมถึงอกเลยทีเดียว (ประมาณ ๑.๕ เมตร) ก่อนจะมาเป็นวัดเนกขัมมารามนี้ ในสมัยก่อนนั้น หลวงพ่อเชย วัดโชติทายการาม ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอ ท่านไปธุระที่จังหวัดราชบุรี โดยสัญจรทางน้ำไปตามคลองลัดราชบุรี เมื่อผ่านมาถึงบริเวณนี้ ท่านเห็นว่าเหมาะแก่การสร้างวัด เพราะว่าวัดต่างๆอยู่ไกลจากบริเวณนี้มาก เช่น วัดสีดาราม วัดคูหาสวรรค์ วัดท่าเรือ ซึ่งห่างไกลไปหลายกิโลเมตร และวัดโคกหลวงก็ยังเป็นวัดร้างไม่มีพระจำพรรษา จึงเห็นว่าควรจะสร้างวัดที่นี่ จึงได้ถามชาวบ้านในบริเวณนี้ว่า ที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของใคร เมื่อได้ทราบชื่อเจ้าของที่ดินแล้วก็ติดต่อพูดคุยกันและได้สร้างวัดขึ้นในที่ดินนี้ โดยหลวงพ่อเชยได้ตั้งชื่อให้ว่า “วัดเนกขัมมาราม” ในขณะนั้น หลวงตามี ได้ย้ายจากวัดสีดารามมาเป็นผู้ดูแลวัดที่สร้างใหม่นี้ให้ โดยมารูปเดียว มาสร้างที่พักหลังคามุงแฝก (หรือที่เรียกว่าแถบ) เป็นที่พัก ซึ่งอยู่บริเวณหน้าอุโบสถปัจจุบัน เมื่อสร้างวัดได้มาระยะหนึ่งแล้ว ชาวบ้านก็ได้ไปหาหลวงพ่อเชย ที่วัดโชติทายการาม เพื่อขอพระมาเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อเชยได้แนะนำให้ไปที่วัดปรกเจริญ ไปขอพระภิกษุถนอม อตฺตนาโถ (อุส่าห์ฤทธิ์) มาเป็นเจ้าอาวาส ก็สำเร็จสมปรารถนาของชาวบ้านที่ต้องการ

     เมื่อหลวงพ่อถนอมมาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านก็เริ่มทำการก่อสร้างวัดและรักษาคนควบคู่กันไป การรักษาคนก็มีการรักษาคนบ้าและโรคทุกอย่าง ส่วนการก่อสร้างนั้นท่านก็เริ่มสร้างกุฏิสงฆ์ ๒ ฝั่ง และ ตรงกลางสร้างหอฉัน ด้านขวางเป็นหอสวดมนต์ โดยทั้งหมดที่สร้างนี้มีพื้นต่อเนื่องสามารถเดินหากันได้ทั้งหมด เมื่อสร้างกุฏิสงฆ์ ก็ได้รับการบริจาคบ้านทรงไทยนับสิบหลังจากชาวบ้านที่นำมาถวาย เมื่อสร้างกุฏิเสร็จแล้วท่านก็เริ่มสร้างโกดังเก็บศพ ในบริเวณต้นจามจุรีปัจจุบัน จากนั้นก็เริ่มสร้างอุโบสถหลังแรกด้วยไม้ทั้งหลังและขอวิสุงคามสีมา จากนั้นก็ได้สร้างวิหารประดิษฐานหลวงพ่อแดง (ปัจจุบันถวายพระนามใหม่ว่า หลวงพ่ออู่สำเภาทอง) ที่ริมคลองลัดราชบุรี โดยมีนายละเอียด แก้วช่างเขียน กับ นายละมัย คงอินทร์ เป็นผู้นำเรือมาดข้าวสวย ไปอัญเชิญหลวงพ่อแดง จากหน้าอุโบสถวัดร้างโคกหลวง ซึ่งในขณะนั้นได้ชำรุดเป็น ๓ ส่วน พออัญเชิญมาถึงวัดเนกขัมมาราม นายช่างสละ ได้ทำการซ่อมแซมองค์หลวงพ่อให้สมบูรณ์ดังเดิม จึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในวิหารที่สร้างนี้ (ปัจจุบันอยู่บริเวณบันไดโรงครัว) จากนั้นมีผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างศาลาริมน้ำถวายจำนวน ๒ หลัง ตรงบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปัจจุบัน ๑ หลัง (ศาลานี้ได้รื้อไปเมื่อครั้งสร้างโรงอาหาร “ไพศาล สานรัก ปิยชน”) และบริเวณร้านอาหารด้านหลังวัดในปัจจุบัน ๑ หลัง ซึ่งยังอยู่ ต่อมาท่านได้เริ่มดำเนินการสร้างศาลาการเปรียญ ซึ่งใช้เวลานานหลายปี แต่ก็สร้างจนสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะกระดานอาสน์สงฆ์นี้ จำนวน ๑๐ ยก ใช้เวลา ๕ ปี กว่าจะสร้างได้สำเร็จ จึงได้ใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะในสมัยก่อนนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ งานกฐินผ้าป่า ต้องใช้หอสวดมนต์ทุกงาน เมื่อสร้างศาลาเสร็จแล้วก็ได้สร้างโรงครัวต่อท้ายศาลา จากนั้นก็เริ่มสร้างอุโบสถ โดยใช้ต้นมะพร้าวจากแถวสี่หมื่น บางนกแขวก มาตอกเป็นเสาเข็มในการสร้างอุโบสถ โดยในสมัยนั้นมีนายบุญช่วย แย้มกลิ่น เป็นไวยาวัจกรผู้ดูแลการเบิกจ่ายเงิน พอตอกเสาเข็มเรียบร้อย ตัวผมเอง (นายดำรงค์ เลศงาม) เป็นคนไปติดต่อนายเก้า จากบ้านไร่ชาวเหนือ มาเป็นคนขุดดินเปิดหัวเข็ม ในราคา ๕,๐๐๐ บาท และทำการก่อสร้างมาเรื่อยๆ จนสามารถใช้บวชลูกหลานของชาวบ้านได้ หลวงพ่อถนอมก็ได้รื้ออุโบสถไม้ รื้อโกดัง และสร้างเมรุขึ้นแทนในที่นั้น ในระหว่างที่สร้างวัดนี้ ก็ได้สร้างโรงเรียนควบคู่กันไป และได้สร้างวัตถุมงคลมาเป็นระยะๆ เมื่อสร้างอุโบสถได้ประมาณ ๖๐% หลวงพ่อถนอมมีอายุ ๖๐ ปี ก็เริ่มมีอาการอาพาธเป็นระยะๆ และได้มรณภาพเมื่ออายุ ๖๓ - ๖๔ ปี ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๒ หลวงตาฟู จึงได้เป็นผู้รักษาการดูแลวัดในช่วงที่ยังไม่มีเจ้าอาวาส

     ต่อมาคณะกรรมการวัดเนกขัมฯได้พบกับหลวงพ่อบุญธรรม คุณสมฺปนฺโน เจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร จ.สมุทรสาคร ซึ่งท่านได้มาเยี่ยมญาติในละแวกนี้ จึงได้เอ่ยปากขอพระภิกษุมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม หลวงพ่อบุญธรรม ได้ส่งหลวงพ่อชุ่ม รองเจ้าอาวาสวัดหลักสี่ฯ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเนกขัมมาราม ซึ่งในปีนั้นถนนสายตลาดเสรี-พิกุลทอง ได้ตัดผ่านวัดเนกขัมมารามพอดี ทางผู้รับเหมาจากบริษัทสิริทวีการโยธาได้นำรถ-เครื่องมือโยธา มาจอดในบริเวณของวัด หลวงพ่อชุ่มจึงได้ติดต่อให้บริษัทสิริทวีการโยธา นำรถและเครื่องมือมาช่วยถมที่ดินในการสร้างอุโบสถโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เป็นงานแรกที่หลวงพ่อชุ่มได้เริ่มทำตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาส จากนั้นก็เริ่มสร้างอุโบสถต่อมาเรื่อย ๆ จนแล้วเสร็จ ซึ่งใน ๔๐% ที่มาสร้างต่อนี้เป็นงานละเอียดและใช้เงินมากกว่าที่สร้างมา ๖๐% ก่อนหน้านี้ เพราะเป็นงานปั้นลวดลาย ทาสี ติดกระจก อะไรต่างๆ จากนั้นท่านก็ย้ายเมรุไปตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน ย้ายกุฏิสงฆ์ทั้งหมด ยกเว้นหอระฆัง และ ได้ไปประมูลที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวกหลังเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้ นำมาต่อเติมหอฉัน-หอสวดมนต์ ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนหน้าวัดเป็นหลังวัด จึงได้รื้อโรงครัวหลังเดิมซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าศาลาในปัจจุบัน ไปสร้างใหม่ที่ปัจจุบันนี้ โดยใช้ไม้จากโรงสีอู่ ซึ่งเลิกกิจการจึงได้ถวายไม้ทั้งหมดให้กับวัดเนกขัมมารามนำมาสร้างโรงครัว โดยมีช่างแย้ม บรมสุข เป็นหัวหน้าช่างในการก่อสร้างโรงครัว ในขณะที่สร้างวัดนั้น หลวงพ่อชุ่มก็ได้สร้างคนให้มีการศึกษา ด้วยการซื้อขยายที่ดินของวัดเพื่อสร้างโรงเรียน ซึ่งในที่ดินแปลงแรกที่ซื้อนั้น ใช้สร้างโรงเรียนไม่ได้ เพราะมีเสาและสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดิน จึงต้องซื้อที่ดินต่อไปอีก หมอสมาน สังวาลย์เพ็ชร นายแก้ว ลักษณะภู นายเส่ง เลศงาม ได้เป็นผู้ติดต่อเจ้าของที่ดินถัดไปเพื่อขอซื้อที่ดินสร้างโรงเรียน เมื่อตกลงแล้วต้องใช้เงินในการซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท นายเส่ง เลศงาม จึงได้นำโฉนดที่ดินของตนเองไปจำนำกับธนาคารกรุงเทพ เพื่อนำเงินมาสำรองจ่ายค่าที่ดินให้วัดเนกขัมมาราม และในปีนั้นเองทางวัดได้จัดงานทอดกฐินมีเงินทำบุญมากกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท หลวงพ่อชุ่ม จึงรีบนำเงินไปจ่ายธนาคารกรุงเทพเพื่อไถ่โฉนดที่ดินมาคืนให้นายเส่ง เลศงาม ทันที และเมื่อได้ที่ดินแล้วจึงได้ดำเนินการยื่นเรื่องขอตั้งโรงเรียนมัธยม ในระหว่างนั้นเอง ได้ไปงานฉันเพลที่บ้านยายคิ้ม ได้พบกับ อาจารย์ขวัญเรือน อภิมณฑ์ ซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ในกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับอาสาช่วยติดตามเรื่องการขออนุญาตตั้งโรงเรียนให้และได้ผลสำเร็จเรียบร้อยสมความตั้งใจของหลวงพ่อชุ่ม จึงได้เปิดการเรียนการสอนในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นปีแรก

     ในชีวิตของหลวงพ่อชุ่มนั้นได้ประสบอุบัติเหตุหนักๆ จำนวน ๑ ครั้ง คือ เมื่อวันที่ไปรับบริจาคแก้วน้ำ จากผู้มีจิตศรัทธาที่มหาชัย สมุทรสาคร รถยนต์ที่หลวงพ่อชุ่มนั่งไปนั้นได้ชนเข้ากับรถสิบล้อหรือหกล้อไม่แน่ใจ รถชนครั้งนั้นเจ็บหนักมาก เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาครและโรงพยาบาลพญาไท ขณะที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพญาไทนั้น นายสำราญ (ปุ๊ด) ไชยภูมิสกุล ได้ไปนอนเฝ้าดูแลหลวงพ่อชุ่มตั้งแต่วันแรกจนถึงวันเดินทางกลับวัด เป็นระยะเวลาสิบกว่าวัน ชีวิตของหลวงพ่อนั้นเหนื่อยมากเพราะเหมือนกับสร้างใหม่ทั้งวัด สิ่งไหนที่มีอยู่ก็ยกย้ายให้เข้าที่เข้าทาง สิ่งไหนไม่มีก็สร้างขึ้นใหม่ตลอด ไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวของตัวเอง เรื่องสำคัญนอกวัดเนกขัมอีกเรื่องก็คือ “วัดโคกหลวง” เรื่องขอยกวัดให้ถูกต้องและมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาได้ค้างคามานานหลายสิบปี ไม่สำเร็จเสียที แต่ก็สำเร็จสมความตั้งใจของหลวงพ่อชุ่มในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ยกวัดโคกหลวงร้าง ขึ้นเป็น วัดโคกหลวง ที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา มีเจ้าอาวาสถูกต้องตามกฎหมาย

     และเรื่องสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติของวัดอีกเรื่องก็คือ เมื่อครั้งจัดพิธีพุทธาภิเษกก่อนงานปิดทองฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดเนกขัมมาราม ซึ่งกำหนดงานในช่วงตรุษจีน ปี ๒๕๓๘ หลวงพ่อชุ่มได้เดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จากวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา มานั่งอธิฐานจิตวัตถุมงคลที่วัดเนกขัมมาราม ท่านเดินทางไปวัดบ้านไร่มากกว่า ๑๐ ครั้ง ใช้เวลา ๑ ปี เพื่อนิมนต์หลวงพ่อคูณ แต่ในที่สุดหลวงพ่อคูณ ก็เมตตารับนิมนต์มาด้วยเฮลิคอปเตอร์ ลงจอดที่สนามโรงเรียนเนกขัมวิทยา เพื่อมานั่งอธิฐานจิตวัตถุมงคล ในวันศุกร์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๘ เรื่องทั้งหมดที่เล่ามานี้ เล่าจากความทรงจำของผมเอง เพื่อจัดพิมพ์ลงในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อชุ่ม ในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ นี้ ถ้ามีข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดบกพร่องไป ต้องขออภัยทุกท่านที่ได้อ่านมา ณ โอกาสนี้

ศรีหมึก ลูกราชบุรี (นายดำรงค์ เลศงาม) ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕

* บันทึกไว้เมื่องานทำบุญครบ ๕๐ วัน หลวงพ่อชุ่ม สมฺปนฺโน ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕

กิจกรรมภายในวัด[แก้]

  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม
  • งานทำบุญวันมรณภาพอดีตเจ้าอาวาส 6 กุมภาพันธ์
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน วันมาฆบูชา
  • บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน 1-30 เมษายน
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม วันสงกรานต์ 13 เมษายน
  • งานประจำปีปิดทอง สรงน้ำ หลวงพ่ออู่สำเภาทอง 16-18 เมษายน
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน วันวิสาขบูชา
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม วันเข้าพรรษา
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ทุกวันพระ ตลอดพรรษา
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม วันออกพรรษา
  • ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ฟังธรรม วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก
  • งานทอดผ้ากฐินสามัคคี (วันอาทิตย์แรกหลังจากออกพรรษา)
  • ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม และทอดผ้าป่าสามัคคี วันลอยกระทง
  • สวดมนต์ข้ามปี ตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นนต้นไป 31 ธันวาคม

อ้างอิง[แก้]