วิบูลย์กิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ เป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทย รู้จักกันในชื่อย่อ VBK หรือชื่อเต็ม Vibulkij Publishing Group

ประวัติ[แก้]

วิบูลย์กิจเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์หัวแถวของตลาดหนังสือการ์ตูนแปลในเมืองไทยช่วงยุคเริ่มแรกที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์(ช่วงยุค80's-ต้นๆ90's) มีหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์มีชื่อหลายหัว เช่น เดอะซีโร่ (the Zero), อนิเมทวีคลี่ (Animage Weekly), วีคลี่สเปเชียล (Weekly-Special) และหนังสือการ์ตูนแนวฮีโร่รายสะดวกที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่าง ทีวีไลน์ และนิตยสารเกมแนวคอนโซลนาม เมก้า ภายหลังได้เป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนค่ายแรก ๆ ในประเทศ ที่หันมาซื้อสิทธิการ์ตูนอย่างถูกต้องจากต้นสังกัดในประเทศญี่ปุ่น[1] นอกจากนี้ทางวิบูลย์กิจยังเป็นสำนักพิมพ์เจ้าแรกๆในไทยที่สนับสนุนการสร้างสรรค์งานการ์ตูนฝีมือคนไทยผ่านทางนิตยสารในเครือเช่น Thai Comics(ไทยคอมิค)[2]

ทางวิบูลย์กิจได้ถือสิทธิของการ์ตูนญี่ปุ่นดังๆไว้เป็นจำนวนมาก และหลายเรื่องก็เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักอ่านการ์ตูนชาวไทย เช่น ข้าชื่อโคทาโร่, โคนัน, จีทีโอ คุณครูพันธุ์หายาก, คุณครูจอมเวทย์ เนกิมะ, ล่าอสูรกาย, เซนต์เซย์ย่า, จอมคนแดนฝัน เป็นต้น แต่ผลงานการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายสูงสุดได้แก่ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน[3]

ในอดีต วิบูลย์กิจปฏิเสธที่จะทำหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์แบบเล่มใหญ่ และใช้วิธีอ่านจากหลังไปหน้าแบบญี่ปุ่นด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการจะให้วิถีการอ่านของคนไทยต้องคล้อยตามวัฒนธรรมการอ่านของทางญี่ปุ่นมากเกินไปนัก ทำให้ไม่สามารถขอลิขสิทธิ์การ์ตูนบางเรื่อง ที่สำนักพิมพ์ค่อนข้างเข้มงวดกับรูปเล่มได้[4] ต่อมาจึงได้เริ่มตีพิมพ์โดยใช้วิธีอ่านจากหลังไปหน้า โดยการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ตีพิมพ์แบบจากหลังไปหน้าคือ xxxโฮลิค และ ซึบาสะ สงครามเทพข้ามมิติ จากนิตยสาร KC.Trio เนื่องจากทางญี่ปุ่นต้องการให้คงภาพและวิธีอ่านตามต้นตำหรับไว้ให้มากที่สุด โดยทำให้นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นและรวมเล่มทั้งหมดในเครือต้องปรับเป็นการอ่านจากขวาไปซ้ายมานับแต่นั้น

ปัจจุบันนับตั้งแต่พ.ศ.2559[5]เป็นต้นมา ทางวิบูลย์กิจได้ยุติการผลิตนิตยสารการ์ตูนในเครือลงทั้งหมดคงเหลือแต่ฉบับรวมเล่ม และเน้นไปที่การจัดทำในรูปแบบของ เเพลตฟอรม์ อี-บุ้ค ควบคู่กับตัวหนังสือการ์ตูนที่เป็นรูปเล่มดั้งเดิม [6]

นิตยสารในเครือ[แก้]

KC.Weekly[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ โดยต้นฉบับส่วนใหญ่มาจากนิตยสาร โชเน็นแม็กกาซีนรายสัปดาห์ ของสำนักพิมพ์ โคดันฉะเปิดตัวในปี พ.ศ. 2536 โดยมีการ์ตูนเด่น ๆ ในฉบับเช่น คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา,ข้าชื่อโคทาโร่, ก้าวแรกสู่สังเวียน ฯลฯ ในช่วงต้น ๆ ยุคหลัง ๆ จะมีเรื่องยาวเช่น โรงเรียนนักสืบ Q, คุณครูพันธุ์หายาก, เรฟ ผจญภัยเหนือโลก, GetBackers, คุโรมาตี้, คุณครูจอมเวทย์ เนกิมะ ฯลฯ ไปจนถึง Fairy tail,UQ Holder! ในช่วงท้าย ๆ ของนิตยสาร ก่อนจะยุติตัวเองแบบเล่มในปี 2559 และปรับไปเป็นนิตยสารออนไลน์ KC.Digimag แทน[7][8]

Viva Friday[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ อาคิตะโชเต็น ปัจจุบันปิดตัวแล้ว

Neoz[แก้]

นิตยสารการ์ตูนไทยและญี่ปุ่นรายสัปดาห์ โดยต้นฉบับคือนิตยสาร โชเนนซันเดย์ ของสำนักพิมพ์ โชงะกุกัง และสำนักพิมพ์ ฮาคุเซ็นฉะ มีเรื่องยาวเช่น Berserk, ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ส่วนงานการ์ตูนไทยจะมาจากทางนักเขียนที่มีผลงานในเครือ Thai Comics มีเรื่องยาว เช่น เตะระเบิดไม่ต้องเปิดตำรา, ซุปเปอร์หน่อไม้ แสบนี้ไม่มีเบรค, ป่าผี เปิดตัว พ.ศ. 2543 ปิดตัวในปี 2558[9]

KC.Trio[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายปักษ์ โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ โคดันฉะ ในปัจจุบันยุติการตีพิมพ์ไปเมื่อ 2 มี.ค.2558[10]

Young Friday[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือน โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ อาคิตะโชเต็น ปัจจุบันปิดตัวไปเมื่อ 24.มี.ค.2557[11]

RINA[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือน แนวผู้หญิง โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ อาคิตะโชเต็น ปัจจุบันปิดตัวไปในปี 2556

Mr. Monthly[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือน โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ โคดันฉะยุติการตีพิมพ์ไปเมื่อ 14 ก.ย.2558 [12]

NEXT[แก้]

(หรือ Thai Comic Next Generation) เป็นนิตยสารการ์ตูนรายสองเดือนที่แตกตัวจาก ไทยคอมมิค โดยได้ลิขสิทธ์จากทางญี่ปุ่นลงตีพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นควบการ์ตูนไทย ในช่วงแรกลงการ์ตูนไทย 5 เรื่องต่อการ์ตูนญี่ปุ่น 1 เรื่อง การ์ตูนไทยมีเรื่อง มยุราตร์, เทวราชันย์, Bad Vision, สายฟ้า และการ์ตูนสมัครเล่นจากทางบ้าน โดยมังงะเป็นลิขสิทธ์ของสำนักพิมพ์ โคดันฉะ เรื่อง มังกรอหังการหมาป่าคะนองศึก ภายหลังจะมีการ์ตูนไทยทั้งเรื่องสั้นเรื่องยาวมาลงตีพิมพ์สลับสับเปลี่ยนกับการ์ตูนญี่ปุ่นที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เปิดตัว ปี พ.ศ. 2538[13] ปิดตัวในปี 2554[14]

Thai Comics[แก้]

นิตยสารการ์ตูนไทยรายเดือน ที่เริ่มต้นจากการรวบรวมผลงานจากนักเขียนสมัครเล่นทางบ้านมาลงตีพิมพ์ ก่อนจะพัฒนานักเขียนประจำขึ้นมาและออกการ์ตูนคนไทยทั้งเรื่องยาวเรื่องสั้นหลากหลายมีนักเขียนที่สร้างชื่อกับหนังสือการ์ตูนหัวนี้หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์, วรา เตมียพันธ์ุ, สำราญ จารุกุลวนิชย์, อเบศ ลิ้มละมัย, วิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ, รัตนะ สาทิส, อดิศักดิ์ พงษ์สัมพันธ์, ทวีศักดิ์ วิริยะวรานนท์, จักรพันธ์ ห้วยเพชร ฯลฯ ตีพิมพ์เป็นเวลากว่า 21 ปี มีงานเด่น ๆ ในเครือ เช่น รวมเรื่องสั้นจิตหลุดที่ได้มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ จัดพิมพ์ช่วงปี 2535 ปิดตัวในปี 2556[15][16]

MEGA[แก้]

นิตยสารเกมรายสัปดาห์ที่จัดทำมาตั้งแต่ช่วงยุคที่ยังไม่มีการขอลิขสิทธ์ เน้นเนื้อหาไปทางเกมที่มาจากเครื่องเล่นวีดีโอเกม (Console Game) ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงนั้น ๆ เช่น Famicom, Sega Genesis, SNES,PlayStation เป็นต้น ก่อนจะมีเล่มแยกและปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวหนังสือมาตลอด จัดพิมพ์เมื่อปี.พ.ศ.2533 ปิดตัวในปี 2559[17]

MegaMONTH[แก้]

นิตยสารเกมรายเดือน เน้นการเจาะลึกเกมเด่น รวมถึงวิธีพิชิตเกม นั้น ๆ

ZIRIUS[แก้]

นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือนเน้นงานไปยังแนวไซไฟเป็นหลัก เช่น กายเวอร์ อมนุษย์เกราะชีวะ, ยอดหญิง Hyper Doll, คาเซ่ สายลมทลายฟ้า ออกวางตลาดครั้งแรก ในปี 1993 (2536) เลิกออกไปในปี 1997 เนื่องจากต้นฉบับที่ญี่ปุ่น นิตยสาร Monthly Shounen Captain (โทคุมะโชเต็น) ปิดตัวลง[18]

อ้างอิง[แก้]

  1. Comic Quest.Issue.14 Sep/2002,"บันทึกปูมหลังของการเข้ามาของฉบับลิขสิทธ์" น.29-34
  2. นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863,น.82-85
  3. ข้อมูลจากเว็บไซท์oricon(ภาษาญี่ปุ่น)
  4. "สัมภาษณ์ บ.ก.ยูตะ หรือ พิธูร ตีรพัฒนพันธุ์", Comics Quest.Issue.13 Aug/2002 น.24-25
  5. เพจบ้านการ์ตูนไทย 2559
  6. เพจบ้านการ์ตูนไทย
  7. บ้านการ์ตูนไทย
  8. ประกาศเปลี่ยนเป็นรูปแบบ Digital แล้ว. วิบูลย์กิจ
  9. บ้านการ์ตูนไทย
  10. แจ้งข่าวการ์ตูน VBK : ประกาศยุติการตีพิมพ์นิตยสารรายปักษ์ "KC.TRIO"
  11. iamzeon blog
  12. แจ้งข่าวการ์ตูน VBK : ประกาศยุติการตีพิมพ์นิตยสารรายเดือน Mr.MONTHLY
  13. นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863,น.165
  14. บ้านการ์ตูนไทย
  15. นิรวาณ คุระทอง. (2553). ประวัติย่อการ์ตูนไทย. สำนักพิมพ์ LET'S Comic. ISBN 9786169012863 น.122-168
  16. บ้านการ์ตูนไทย
  17. "รวมนิตยสารเกมไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-05. สืบค้นเมื่อ 2023-03-05.
  18. ข้อมูลจากเว็บComicvine

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]