วิมานพญาแถน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิมานพญาแถน
ประเภทอุทยาน/พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่
ที่ตั้งถนนมงคลบูรพา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000
เปิดตัวทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
ผู้ดำเนินการเทศบาลเมืองยโสธร
สถานะสถานที่จัดกิจกรรมประจำจังหวัด

วิมานพญาแถน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของจังหวัดยโสธร ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำทวนฝั่งขวา ถนนมงคลบูรพา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศ และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยจังหวัดยโสธรได้นำเอาแนวคิดทั้งด้านการตลาดและนโยบายด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของชาวอีสาน ซึ่งการก่อสร้างวิมานพญาแถนได้เชื่อมโยงกับงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดยโสธร คือ ประเพณีบุญบั้งไฟซึ่งเป็นประเพณีขอฝนให้ตกตามฤดูกาลเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ได้มีน้ำเพื่อทำการเกษตรกรรมอย่างพอเพียง

ประวัติ[แก้]

จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่มีประเพณีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวยโสธร ซึ่งมีความเชื่อว่าโลกนั้นประกอบด้วย โลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกบาดาล โดยโลกมนุษย์อยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกเทวดาซึ่งชาวอีสานเรียกเทวดาว่า พญาแถน ซึ่งพญาแถนมีอิทธิพลต่อ ฝน ฟ้า ลม หากมนุษย์ทำให้พญาแถนโปรดปรานหรือพอใจ ก็จะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงเกิดพิธีการบูชาพญาแถนโดยการใช้บั้งไฟ เพื่อแสดงการเคารพและเป็นการขอฝนจากพญาแถน อันเป็นที่มาของประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธรอันโด่งดัง จากตำนานเรื่องเล่าอันถือว่ามีความสำคัญต่อจังหวัดยโสธรดังกล่าวข้างต้น จังหวัดยโสธรจึงจัดสร้าง “วิมานพญาแถน” ขึ้นบริเวณลำทวนเพื่อใช้เป็นสถานที่ที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งภายในวิมานพญาแถนนั้นประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่สะท้อนถึงตำนานบุญบั้งไฟของยโสธร จึงจัดสร้าง วิมานพญาแถน ขึ้นบริเวณลำทวนเพื่อใช้เป็นสถานที่ที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดอโดยเริ่มก่อสร้างวิมานพญาแถน มาตั้งแต่สมัย นายวันชัย อุดมสิน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรและอดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ได้เริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรก ต่อมาเมื่อนายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขณะนั้น ได้จัดสรรงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดคือ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ มาดำเนินการก่อสร้าง เป็นช่วงๆ ปี คาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 200 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกลุ่มจังหวัด[1]

ตำนานเกี่ยวเนื่อง[แก้]

ตำนานที่ 1[แก้]

ตำนานนั้นมีอยู่ว่า พญาคันคากเป็นโอรสของกษัตริย์ นามว่า เอกราช เหตุที่ได้ชื่อว่า “คันคาก” เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก ที่ชาวอีสานเรียกกันว่า คันคาก ถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือ จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน จนลืมที่บูชาพญาแถน พญาแถนจึงโกรธ ไม่ยอมปล่อยฝนให้ตกมายังโลกมนุษย์ ศึกการต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนจึงเกิดขึ้น โดยพญาคันคากนำทัพสัตว์ต่างๆ ขึ้นไปรบ จนได้ชัยชนะ พญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าต้องบูชาพญาแถนเช่นเดิมและให้จุดบั้งไฟเพื่อเป็นสัญญาณ เมื่อถึงจึงเดือนหกจึงเป็นต้นเดือนฤดูฝน ชาวอีสานจึงทำบั้งไฟจุดขึ้นบนฟ้าเพื่อเป็นสัญญาณ ฝนจะได้ตกตาฤดูกาลนั่นเอง

ตำนานที่ 2[แก้]

นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่าง ๆ ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย ในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้

ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาน หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง 3 ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร

ในตำราอ้างอิงถึงเรื่องผาแดงนางไอ่จบลงด้วยการเกิดเป็นหนองน้ำ ขนาดใหญ่จากการต่อสู้ของพญานาคกับท้าวผาแดง ต่างก็มีข้อมูลอ้างอิงถึง หนองน้ำที่ชื่อหนองหาน แต่กล่าวต่างกันไปในตำราแต่ละเล่มถึงหนองน้ำ ทั้ง 3 แห่ง

สัญลักษณ์ของอุทยานสวรรค์วิมานพญาแถน[แก้]

พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก[แก้]

พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ใช้รูปแบบภายนอกอาคารเลียนแบบกายภาพโดยตรงของคางคก

อาคารพญาคันคากที่เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวนั้น สร้างขึ้นเป็นรูปร่างพญาคันคาก มีความสูง 19 เมตร พื้นที่รวม 835 ตารางเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 18.97 ล้านบาท ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการจำนวน 5 ชั้น ได้แก่

  • ชั้นที่ 1 แสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองยโสธร
  • ชั้นที่ 2 ตำนานพญาแถนและพญาคันคาก
  • ชั้นที่ 3 ตำนานและเรื่องราวของบั้งไฟ
  • ชั้นที่ 4 อัตลักษณ์เมืองยโสธร
  • ชั้นที่ 5 จุดชมวิวเมืองยโสธร

พิพิธภัณฑ์พญานาค[แก้]

พิพิธภัณฑ์พญานาค

สร้างทอดยาวริมฝั่งลำน้ำทวน ด้านทิศเหนือของพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก อาคารกว้าง 12.50 เมตร ยาว 99 เมตร สูง 15-16 เมตร งบประมาณการก่อสร้าง 45 ล้านบาท มีแหล่งเรียนรู้ภายในอาคาร 5 โซน ดังนี้

  • โซนที่ 1 เล่าขานตำนาน เป็นเรื่องราวพญาคันคากและพญาแถน และการกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาค
  • โซนที่ 2 รากความเชื่อ กำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคและงูใหญ่ทั่วโลก
  • โซนที่ 3 สถิตในศรัทธา เรื่องราวของพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา นาคในคติพราหมณ์ฮินดู และพุทธ
  • โซนที่ 4 ปฐมกาลมหานที ตำนานการเกิดแม่น้ำโขงโดยพญานาค ความพิเศษของโถงนี้คือการจำลองบรรยากาศให้เหมือนถ้ำบาดาล นักท่องเที่ยวจะได้ยืนบนสะพานพญานาคและชมภาพวีดีทัศน์ผ่านกำแพงถ้ำ
    • โซนที่ 4.2 จารีตและวิถี แสดงความเชื่อตามจารีตประเพณีเกี่ยวกับพญานาค จัดแสดงในกล่องทรงกลมวางตามมุมต่างๆ บนพื้นที่จัดแสดง ซึ่งทุกเรื่องสามารถอ่านรายละเอียดได้บนหน้าจอสัมผัส หรือบนกราฟิกบอร์ด
  • โซนที่ 5 ชีววิทยาพญานาค ให้ความรู้เกี่ยวกับพญานาคและเรื่องราวของงูตามหลักเหตุผล โดยนำเสนอวิวัฒนาการของงู ผ่านกราฟิกบอร์ด, อนาโตมี่ของงูบนกราฟิกบอร์ด, ความหลากหลายทางชีวภาพของงู ผ่านการแสดงฉากจำลอง 6 ฉาก ตลอดจนได้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของงู โทษและประโยชน์ของงู รวมถึงการป้องกันรักษาเมื่อถูกงูกัด[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://pantip.com/topic/34241679
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-01. สืบค้นเมื่อ 2019-05-21.

[1]

  1. http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani