ศิลปะอยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดหน้าพระเมรุ
กลุ่มปรางค์หน้าวัดไชยวัฒนาราม ได้รับอิทธิพลศิลปะขอม
วิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระนอนวัดโลกยสุธาราม ศิลปะยุคกลาง
พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปยุคปลาย พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

ศิลปะอยุธยา‎ เป็นศิลปะที่เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 จนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พ.ศ. 2310 นักประวัติศาสตร์ศิลปะมักแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ยุคที่หนึ่งนับตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893–1990 ยุคนี้นิยมศิลปะลพบุรี ยุคที่สองนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2171 ยุคนี้กลับไปนิยมศิลปะสุโขทัยอันเนื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นกษัตริย์ที่มีเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย ยุคที่สามนับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 ถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. 2251 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงโปรดศิลปกรรมแบบเขมร ยุคที่สี่นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2275 ถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พ.ศ. 2310[1]

สถาปัตยกรรม[แก้]

สถาปัตยกรรมยุคที่หนึ่งนับตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยานิยมสร้างปรางค์เป็นหลักประธานของวัด มีพระวิหารอยู่หน้าปรางค์ มีระเบียงคดล้อมรอบปรางค์ สถาปัตยกรรมยุคนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องลมแบบซี่ลูกกรงที่เรียกว่า เสามะหวด หรือบางแห่งทำแบบสันเหลี่ยมมีอกเลา

ยุคที่สองนิยมสร้างสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย โดยเฉพาะการสร้างเจดีย์ทรงกลม ที่เรียกว่า ทรงลังกา การสร้างอุโบสถ วิหาร มีความบึกบึน กว้างใหญ่ มีการยกฐานสูง นิยมมีพาไลด้านข้าง เช่น วัดหน้าพระเมรุ

ยุคที่สาม สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงโปรดศิลปกรรมแบบเขมร ศิลปกรรมยุคนี้เริ่มมีหน้าต่างเปิดปิดได้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีการก่อสร้างซุ้มประตูหน้าต่างโค้งแหลมแบบกอทิก เช่น วัดกุฎีดาว อาคารต่าง ๆ เริ่มนิยมทำเป็นเส้นโค้งที่ฐานและหลังคา คงเป็นลักษณะสืบเนื่องมาแต่ครั้งศิลปะสมัยสุโขทัย การมุงกระเบื้องใช้กระเบื้องชนิดหางตัดและกระเบื้องชนิดกาบ มีกระเบื้องเชิงชายประกอบ มีการใช้กระเบื้องเคลือบครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ยุคนี้ยังมีเจดีย์ที่เป็นแบบฉบับเรียกว่า เจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง

ยุคที่สี่เป็นยุคที่มีการซ่อมแซมมากกว่าสร้างขึ้นใหม่ สถาปัตยกรรมนิยมเส้นฐานและเส้นหลังคาอ่อนโค้งเป็นแนวขนาน[1]

ประติมากรรม[แก้]

ศิลปะอยุธยายุคต้นสืบต่อจากศิลปะอู่ทองตอนปลาย รูปประติมากรรมมีทั้งรูปเทพเจ้าและพระพุทธรูป ลักษณะส่วนใหญ่เข้มแข็ง บึกบึน มีลักษณะผสมทั้งลพบุรี อู่ทองและสุโขทัย พระพุทธรูปมีพระวรกายทั้งหนาและบาง มีลักษณะท่าทางขึงขัง บัวรองฐานทำเป็นฐานแอ่นโค้ง

พระพุทธรูปยุคกลางได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย มักทำวงพระพักตร์และพระรัศมีตามแบบสุโขทัย แต่มีไรพระศกเส้นเล็ก ๆ ทำสังฆาฏิขนาดใหญ่ ชายสังฆาฏิตัด ป็นเส้นตรง พระพุทธรูปทำจากปูนปั้น สลักหิน และหล่อด้วยโลหะ ส่วนมากนิยมทำพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระอิริยาบถแบบต่าง ๆ ตามแบบสุโขทัย

พระพุทธรูปยุคปลายมีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ โดยมีอยู่ 2 แบบคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ศิลปะการสลักไม้และปั้นปูนประดับพุทธสถานของสมัยอยุธยายุคปลาย มีความงามสูงสุด ลวดลายทำเป็นลายกระหนก อ่อนพลิ้วซ้อนกัน ปลายกนกสะบัดปลาย บิดไปมาราวกับธรรมชาติของเถาไม้และใบไม้ที่อ่อนไหว ลวดลายต่าง ๆ เริ่มประดิษฐ์เป็นแบบแผนเฉพาะตัวของไทยมากขึ้น[2]

จิตรกรรม[แก้]

จิตรกรรมสะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนา วาดไว้บนฝาผนังอุโบสถ วิหาร และสมุดภาพ ใช้สีฝุ่นผสมกาว ระบายเรียบ และตัดเส้น[3] ในระยะแรกใช้สีในวรรณะเอกรงค์ ต่อมาเมื่อมีการติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้มีสีต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา นิยมเขียนเรื่องอดีตพุทธ พุทธประวัติ ทศชาติชาดก เทพชุมนุมและภาพลวดลายต่าง ๆ มีการปิดทองที่ภาพสำคัญและทำลายดอกไม้ร่วงที่พื้นหลังภาพ[4] ลักษณะโดยรวมของงานจิตรกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้นคือ ยังคงใช้สีไม่มากนัก เทคนิคการเขียนสีลงบนรองพื้นสีขาว ระบายพื้นหลังตัวภาพด้วยสีแดง ตัวภาพมีการระบายสีขาว สีเนื้อและปิดทองคำเปลว ตัดเส้นด้วยสีดำหรือสีแดง

ในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีการพัฒนาเทคนิควิธีการเขียนภาพจิตรกรรม เริ่มใช้สีที่มีความหลากหลายขึ้น การปิดทองคำเปลว และตัดเส้นด้วยสีแดง[5] จิตรกรรมยุคหลังแตกต่างจากยุคแรกที่นิยมเขียนซุ้มเรือนแก้วมาเป็นภาพเล่าเรื่อง มีสีเพิ่มมากขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ศิลปะสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-พ.ศ. ๒๓๑๐". หน้าจั่ว.
  2. "ประติมากรรมไทยสมัยอู่ทองและสมัยอยุธยา". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๔.
  3. เล็กสุขุม, สันติ. ศิลปะอยุธยา (4 ed.). เมืองโบราณ. ISBN 9786167767826.
  4. วรรณิภา ณ สงขลา. จิตรกรรมสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรม. กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
  5. "เอกสารประกอบการอบรมอยุธยาสัญจร "ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยอยุธยา"".