ข้ามไปเนื้อหา

สุจิตตาลังการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คัมภีร์สุจิตตาลังการ เป็นคัมภีร์เกี่ยวกับพระอภิธรรมที่อธิบายให้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่งโดยชาวพระเถระชาวพม่า นามว่า พระกัลยาณเถระ ผู้มีพรรษา 20 วัดสาตุสาตุล ทิศตะวันออกเฉียงใต้เมืองรัตนปุระ ประเทศพม่า[1][2]

ประวัติ[แก้]

คัมภีร์สุจิตตาลังการ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายเรื่องเกี่ยวกับพระอภิธรรมไว้โดยย่อ เปรียบเสมือนแบบเรียนเร็ว แต่งโดยพระกัลยาณเถระชาวพม่า ฉบับหอสมุดแห่งชาติใบลานเลขที่ 3687/ข/1-3 ต. 18 ช. 2 มี 3 ผูก มีจัดเรียงโครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ 17 หมวด ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ และการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่ออนุชนคนรุ่นหลังต่อไป ส่วนการวิเคราะห์การเรียนการสอนพระอภิธรรมในคัมภีร์สุจิตตาลังการบาลีอักษรขอม[3] ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นใน พ.ศ. 2172 ที่ประเทศพม่า มีเนื้อหาสาระสัมพันธ์สอดคล้องกันไปในทิศทางเดียวกันกับพระไตรปิฎก โดยพระกัลยาณเถระพยายามรักษาพระอภิธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยหยิบเอาคำว่า จิต เจตสิก รูป และ นิพพานในพระอภิธรรมปิฎกมาวิเคราะห์โดยไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระดั้งเดิมของธรรมะ เป็นการดำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น คัมภีร์สุจิตตาลังการที่พระกัลยาณเถระได้รจนาตามแนวคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกและคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ มีเนื้อหาที่จำแนกจิตเป็นประเภทต่าง ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ลักษณะการแต่ง[แก้]

คัมภีร์สุจิตตาลังการ แบ่งออกเป็น การวิเคราะห์ การอธิบายศัพท์ เช่น

คำว่า จิต มีวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมคิด อธิบายความว่า ย่อมรู้แจ้งอารมณ์เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า จิต

คำว่า เจตสิก มีวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดมีในจิต โดยมีความเป็นไปเนื่องกับจิตนั้น เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า เจตสิก

คำว่า รูป มีวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติใดย่อมเปลี่ยนแปร คือ ย่อมถึงความเปลี่ยนแปร ด้วยปัจจัยที่เป็นข้าศึกมีความหนาวและความร้อนเป็นต้น หรือ อันปัจจัยที่เป็นข้าศึกมีความหนาวและความร้อนเป็นต้น ให้ถึงความเปลี่ยนแปร เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า รูป

และคำว่า นิพพาน มีวิเคราะห์ว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่านิพพาน เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ออกไปแล้วจากตัณหา ที่เรียกว่า วานะ เพราะร้อยรัด คือเย็บไว้ซึ่งภพน้อยภพใหญ่

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า พระกัลยาณเถระพยายามรักษาพระอภิธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้โดยหยิบเอาคำว่า จิต เจตสิก รูป และ นิพพานในพระอภิธรรมปิฎกมาวิเคราะห์โดยไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระดั้งเดิมของธรรมะ เป็นการดำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า และท่านได้นำคำสำคัญในพระอภิธรรมมาอธิบายขยายความให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และวิเคราะห์การใช้ถ้อยคำในคัมภีร์สุจิตตาลังการเช่น คำว่า ฐาน เป็น ถาน เช่น กามโลเก ทส ถานานิ ภวนฺติ. ตํ ยถา. ปฏิสนฺธิถานํ ภวงฺคถานํ อาวชฺชนถานํ ปญฺจวิญฺญาณถานํ สมฺปฏิจฺฉนฺนถานํ สนฺติรณถานํ โวฏฺฐพฺพนถานํ ชวนถานํ ตทาลมฺพณถานํ จุติถานํ. เป็นต้น แปลว่า ในกามโลก ฐานมี 10 ได้แก่ ปฏิสนธิฐาน ภวังคฐาน อาวัชชนฐาน ปัญจวิญญาณฐาน สัมปฏิจฉนฐาน สันตีรณฐาน โวฏฐัพพนฐาน ชวนฐาน ตทาลัมพนฐาน จุติฐาน คำว่า ถาน นี้ มีใช้ในคัมภีร์สุจิตตาลังการเป็นจำนวนมาก ผู้วิจัยเข้าใจว่าต้นฉบับในคัมภีร์สุจิตตาลังการใช้คำว่า ถาน ไม่ใช้ฐาน ผู้บริวรรตจึงได้ปริวรรตตามตัวบาลีอักษรขอมเดิม จึงเป็น ถาน แต่ในเวลาแปลแล้วแปลเหมือนกัน หมายถึง ที่ตั้ง แต่ไม่ค่อยพบในคัมภีร์อื่น ๆ

โครงสร้างคัมภีร์[แก้]

โครงสร้างเนื้อหาเป็นหมวดหมู่ 17 หมวด ได้แก่

1.บุคคลเภท

2.เวทนาเภท

3.เหตุเภท

4.กิจจถานเภท

5.ทวารเภท

6.อารัมมณเภท

7.วัตถุเภท

8.มันทามันทมัชฌิมายุกเภท

9.ปัญจทวารวิถีเภท

10.มโนทวารวิถิเภท

11.ปกิณณก วินิจฉยเภท

12.ภูมิฐานเภท

13.สตฺตานังอายุเภท

14.กัปปวินาสเภท

15.โยนิเภท

16.รูปกลาปเภท

17.นิพพานเภท

ลักษณะการประพันธ์[แก้]

ลักษณะการประพันธ์ 2 แบบคือ

1. แบบร้อยแก้ว เป็นการดำเนินเรื่องตามธรรมดา

2. แบบร้อยกรอง หรือ ฉันทลักษณ์ มี 3 ฉันท์ คือ 1.ปัฐยาวัตร 2.อุปชาติฉันท์ 3.กุสุมวิจิตตาฉันท์

สำนวนภาษา[แก้]

สำนวนภาษาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

1. วิธีการใช้นามศัพท์

2. วิธีการใช้กิริยาศัพท์

3. วิธีการใช้อัพยยศัพท์

ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาคัมภีร์สุจิตตาลังการไว้เป็นอย่างดี เพราะเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมพระอภิธรรมที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาในรูปของบาลีอักษรขอมสมัยโบราณซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์

อ้างอิง[แก้]

  1. ดร. วิโรจน์ คุ้มครอง . (2560). คัมภีร์สุจิตตาลังการ : การปริวรรต การแปล และวิเคราะห์. กรุงเทพมหานคร : ระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ
  2. วิโรจน์ คุ้มครอง* คัมภีร์สุจิตตาลังการ : การปริวรรต การแปล และการวิเคราะห์ Sucittālaṅkāra : Transliteration Translation and Analysis วารสารมหาจุฬาวิชาการ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ [1][2]
  3. ฉบับหอสมุดแห่งชาติ (ฉบับบาลีขอม). คัมภีร์สุจิตตาลังการ. สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ในคราวทำ สังคายนาพระไตรปิฎกและรวบรวมคัมภีร์ทางพระศาสนา ระหว่าง พ.ศ. 2411-2436.