เตลกฏาหคาถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เตลกฏาหคาถา แปลว่า "บทร้อยกรองที่กล่าวในกะทะน้ำมัน" เป็นวรรณกรรมบาลีประเภทร้อยกรอง มีคาถา 100 บท แต่เป็นวสันตดิลก 14 พยางค์ล้วนๆ เนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่บทสรรเสริญพระรัตนตรัย การระลึกถึงความตาย ความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง และโทษของบาปเวร

ที่มา[แก้]

ความเป็นมาของคาถานี้ มีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากัลยาณิยติสสะ ครองเมืองกัลยาณี ณ ลังกาทวีป ระหว่างพุทธราช 237 - 238 ทรงมีพระอนุชาเป็นอุปราชเคยศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระกัลยาณิยะเถระ จึงมีลายมือคล้ายพระเถระ ต่อมาพระอนุชาเกิดความสิเนหาในพระมเหสีของพระเชษฐาธิราช เมื่อความทราบถึงพระองค์ พระอนุชาจึงเสด็จหนีไป แต่ไม่นานนักรับสั่งให้ชายคนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระภิกษุในสำนักพระเถระติดตามพระเถระเข้าวัง พร้อมแอบซ่อนสาส์นรักไปเฝ้าพระมเหสี เมื่อพระภิกษุตัวปลอมฉันภัตตาหารแล้วลุกขึ้น ได้แอบโยนสาส์นรักให้พระมเหสี แต่บังเอิญพระราชาทอดพระเนตรเห็น และเข้าใจว่าเป็นสาส์นของพระเถระ จึงรับสั่งให้จับพระเถรโยนใส่กะทะน้ำมันที่เดือดพล่าน [1]

ในขณะที่พระเถรถูกโยนลงไปนั้น หลับปราฏแก้วอินทนิลผุดขึ้นมาเป็นที่นั่งรองรับในกะทะน้ำมัน พระเถระได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุอรหันตผล เพื่อได้พิจารณากรรมเก่าของตนจึงทราบว่าในชาติก่อนเคยเป็นเด็กเลี้ยววัวและได้โยนแมลงวันตัวหนึ่งในน้ำนมที่เดือดพล่าน ครั้งนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกรรมได้ ท่านจึงกล่าวคาถาเพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์มิให้มัวเมาประมาท ก่อนที่จะปรินิพพานในที่นัน จากนั้น พระราชารับสั่งให้ประหารชีวิตพระเถระและบุรุษนั้นเสียแล้วให้โยนศพทิ้งทะเล [2]

ทว่า ในเวลาต่อมาศาสนิกชนได้สร้างวิหารเป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ไว้ ณ สถานที่ซึ่งตั้งกะทะนั้นมันนั้น [3] และทั้งนี้ เนื่องจากท่านกล่าวคาถาในกะทะน้ำมัน จึงปรากฏนามว่า เตลกฏาหคาถา แปลว่า "บทร้อยกรองที่กล่าวในกะทะน้ำมัน"

เนื้อหา[แก้]

เตลกฏาหคาถามีเนื้อหาหลักอยู่ที่การสรรเสริญพระรัตนตรัย มีบทพรรณนาพระเกียรติคุณของกษัตริย์ลังกา ในฐานะที่ทรงส่งเสริมให้พสกนิกรกระทำความดีเป็นแบบอย่าง มีการระลึกถึงความตายว่าเป็นที่สิ่งที่แน่นอนเที่ยงแท้ โดยใช้อุปมาอุปมัยทางกวีนิพนธ์ที่แหลมคมและได้ภาพพจน์ มีการกล่าวถึงพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดจนโทษของการทำบาป โดยท่านผู้ประพันธ์มุ่งเตือนสติชาวพุทธไม่ให้ประมาทในการบำเพ็ญคุณงามความดี อาทิ บทที่ 24 ที่กล่าวว่า

โภ โมหโมหิตตยา วิวโส อธญฺโญ

โลโก ปตตฺยปิ หิ มจฺจุมุเข สุภีเม

โภเค ริตึ สมุปยาติ วิหีนปญฺโญ

โทลาตรงฺคจปเล สุปิโนปเมยฺย


ชาวโลกผู้ไร้อำนาจบุญ เพราะถูกความหลงครอบงำ ย่อมตกไปสู่ปากแห่งมัจจุราชอันน่าสะพรึงกลัว คนเขลาย่อมแสวงหาความเพลิดเพลินในสมบัติพัสถานอันเปรียบเสมือนความฝัน ไม่ยั่งยืน เหมือนชิงช้าและรอกคลื่น [4]

ทั้งนี้ 3 บทแรกของเตลกฏาหคาถาเป็นการพรรณนาคุณของพระรัตนไตร ด้วยฉันลักษณะและกวีรสที่งดงามอลังการ ดังนี้


บทพรรณนาพระพุทธคุณ

โย สพฺพโลกมหิโต กรุณาธิวาโส

โมกฺขากโร รวิกุลมฺพรปุณฺณจนฺโท

เญยฺโยทธึ สุวิปุลํ สกลํ วิพุทฺโธ

โลกุตฺตมํ นมถ ตํ สิรสา มุนินฺทํ.


พระจอมมุนีที่ชาวโลกทั้งปวงบูชา ทรงเพียบพร้อมด้วยพระกรุณา เป็นบ่อเกิดแห่งความหลุดพ้น เปรียบดั่งพระจันทร์เพ็ญท่ามกลางนภาอันเป็นอาทิตยวงศ์ ทรงตรัสรู้เญยยธรรมทั้งหมดอันไพศาลดั่งมหาสมุทร เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระจอมมุนีผู้ประเสริฐในโลก พระองค์นั้น [5]


บทพรรณนาพระธรรมคุณ

โสปานมาล’มมลํ ติทสาลยสฺส

สํสารสาครสมุตฺตรณาย เสตุง

สพฺพาคติภยวิวชฺชิตเขมมคฺคํ

ธมฺมํ นมสฺสถ สทา มุนินา ปณีตํ.


เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระธรรมอันพระมุนีตรัสสอน เป็นขั้นบันไดอันหมดจดแห่งสวรรค์ ประดุจสะพานข้ามมหาสมุทรคือสงสาร และเป็นทางเกษมปลอดจากทุคคติภัยทั้งมวลทุกเมื่อ [6]


บทพรรณนาพระสังฆคุณ

เทยฺยํ ตทปฺป’มปิ ยตฺถ ปสนฺนจิตฺตา

ทตฺวา นรา ผล’มุลารตรํ ลภนฺเต

ตํ สพฺพทา ทสพเลนปิ สุปฺปสตฺถํ

สํฆํ นมสฺสถ สทามิตปุญฺญเขตฺตํ.


เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระสงฆ์ ผู้เป็นนาบุญหาประมาณมิได้ ซึ่งแม้พระทศพลก็ทรงสรรเสริญเป็นนิตย์ ที่มหาชนมีใจเลื่อมใสแล้วถวายไทยธรรมแม้เล็กน้อยแล้วได้รับผลบุญอันโอฬาร [7]

การแพร่หลายในประเทศไทย[แก้]

จารึกเนินสระบัว พบที่เนินสระบัว ในบริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้ถูกเคลื่อนย้ายมาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์ใหญ่ในวัดโพธิ์ศรีมหาโพธิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เดิมนัก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ออกสำรวจที่แหล่งโบราณคดีนี้ จึงได้พบจารึกหลักดังกล่าว และได้ทำสำเนาจารึกหลักนี้ไว้ ต่อมา ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่าน-แปลจารึกหลักนี้ แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ในปี พ.ศ. 2506 และ นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ได้อ่านและแปลใหม่อีกครั้ง แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ในปี พ.ศ. 2529 [8]

เนื้อหาในจารึกระบุมหาศักราช 683 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1304 กล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และการอุทิศพระโค เดิมเชื่อว่า จารึกเนินสระบัว เป็นวรรณคดีภาษาบาลี ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนักปราชญ์ในอดีตคือ พระพุทธสิริรจนาขึ้น มิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์พระบาลี หรืออรรถกถาใด ๆ [9]

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ดร.โรหนะ ชาวศรีลังกา ได้อ่านจารึกนี้พบว่า พระบาลีสามบทในจารึกเป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยตรงกับ เตลกฏาหคาถา หรือ คาถากระทะน้ำมัน ในบทที่ 2, 3 และ 4 [10]


อ้างอิง[แก้]

  1. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 7 - 13
  2. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 7 - 13(2545)
  3. The Pali Literature of Ceylon หน้า 162)
  4. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 44
  5. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 21
  6. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 22
  7. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 23
  8. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. จารึกเนินสระบัว.
  9. ต้องการอ้างอิง
  10. M. Rohanadeera

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). (2545). เตลกฏาหคาถา. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์สแควว์ปริ๊นซ์ 93.
  • G. P. Malalasekera. (1928). The Pali Literature of Ceylon. Kandy. Buddhist Publication Society.
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. จารึกเนินสระบัว. http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=321[ลิงก์เสีย]
  • M. Rohanadeera, "Earliest evidence of cultural relations between Sri Lanka and Dvaravati Kingdom in Thailand", Journal of the Royal Asiatic Society of Sri Lanka, New Series, Volume XLVIII, Special Number [in commemoration of the 250th anniversay of the restoration of the higher ordination, etc.], 2003, Columbo: Sri Lanka.

เตลกฏาหคาถาฉบับเต็ม[แก้]

เตลกฏาหคาถา