เนติพร เสน่ห์สังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนติพร เสน่ห์สังคม
เกิด8 สิงหาคม พ.ศ. 2538
เสียชีวิต14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 (28 ปี)
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ปทุมธานี ประเทศไทย
ชื่ออื่นบุ้ง ทะลุวัง
อาชีพนักเคลื่อนไหวสังคม
มีชื่อเสียงจากแกนนำกลุ่มทะลุวัง นักโทษคดีการเมือง
บิดามารดา
  • ปัญจพล เสน่ห์สังคม (บิดา)
ญาติชญาภัส เสน่ห์สังคม (พี่สาว)

เนติพร เสน่ห์สังคม (8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[1]) ชื่อเล่น บุ้ง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ บุ้ง ทะลุวัง เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย และเป็นชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง โดยในอดีต ฉลาด วรฉัตร เป็นผู้ประกาศอดข้าวประท้วงรัฐบาลต่อสาธารณชนคนแรก ๆ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา[1]

บุ้งเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่หลังจากที่ได้ฟังข้อมูลจาก น.ส.พรรณิการ์ วานิช ที่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ราชประสงค์ บุ้งจึงรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดงและเปลี่ยนมาเคลื่อนไหวการเมืองขั้วตรงข้ามในท้ายที่สุด[2] เมื่อ พ.ศ. 2563 บุ้งได้เป็นแกนนำกลุ่มทะลุวัง เพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลให้เธอถูกฟ้องเป็นคดีอาญามากมาย รวมถึงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเธอต้องต่อสู้ดำเนินคดีเรื่อยมา ในระหว่างที่ถูกคุมขัง บุ้งและผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันประท้วงกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วยการอดอาหารเรื่อยมาจนสุขภาพทรุดโทรม โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก [3] [4]และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 บุ้งได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน[5] ระยะเวลาที่บุ้งถูกขังชั่วคราวเพื่อรอศาลพิพากษาคดีและเริ่มต้นการประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหาร จนถึงวันที่เธอเสียชีวิต รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 109 วันถ้วน[5]

"เป็นอีกครั้งที่กระบวนการยุติธรรมที่เรียกบุ้งว่าลูกหลานตุลาการมาตั้งแต่เล็กทำให้บุ้งผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ศาลเลือกปกป้องผู้มีอำนาจที่ปล้นอำนาจของประชาชนไป แต่กลับกระทืบลูกหลานของตัวเองเพื่อปกป้องคนไม่กี่กลุ่ม น่าละอายเหลือเกิน ในวันนี้บุ้งยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมต้องถูกปฏิรูป ต้องไม่มีใครติดคุกเพียงเพราะเห็นต่าง และอย่าคิดว่าการจับบุ้งเข้าคุกครั้งนี้จะทำให้บุ้งยอมถอย ศาลที่ควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ต้องมีกระดูกสันหลังตั้งตรงและเลิกรับใช้พวกที่ทำรัฐประหารเสียที มิเช่นนั้นจงอย่าภูมิใจในตัวเองที่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างและคราบเลือดของประชาชน อำนาจเป็นของประชาชน พวกมึงแค่ปล้นมันไป วันข้างหน้ากูจะจำไว้แล้วคิดบัญชีผู้พิพากษาชั่วทุกคน" -- ข้อความในจดหมายของบุ้ง หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน และสั่งจำคุกบุ้ง 1 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567[6][7][8]

ชีวิตและการศึกษา[แก้]

เนติพร เสน่ห์สังคม เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 เนติพรเติบโตขึ้นมาในครอบครัวตุลาการ โดยบิดา นายปัญจพล เสน่ห์สังคม เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา พี่สาวเป็นทนายความ[9] เนติพรศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า บทบาทที่สำคัญคือเป็นคณะกรรมการนักเรียน จากนั้นมาศึกษาต่อที่สาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังรับงานพิเศษเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย[10]

การเคลื่อนไหวทางสังคม[แก้]

พี่สาวบุ้งเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าบุ้งมีความสนใจในการทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาและได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียน บุ้งเคยบอกเพื่อน ๆ ในฐานะคณะกรรมการนักเรียนเสมอว่า ต้องดูแลทรงผมให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องทำให้ถูกระเบียบ แต่บุ้งก็เริ่มเอะใจว่า ทำไมมีเพื่อนที่เห็นต่าง มีเพื่อนที่คัดค้านเรื่องทรงผม บุ้งจึงฉุกคิดได้ถึงความไม่เป็นธรรมของตัวกฎระเบียบ[11]

จนเมื่อปี พ.ศ. 2557 บุ้งได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะที่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างไรก็ดี เมื่อบุ้งได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุ้งได้โลกกว้างมากขึ้นจากข้อมูลชุดใหม่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ซึ่งมีการถกเถียงประเด็นสังคมอย่างกว้างขวางและหลากหลาย จนทำให้จุดยืนทางการเมืองเธอเปลี่ยนไปในท้ายที่สุด[12] พี่สาวของบุ้งได้ยกตัวอย่างหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้จุดยืนทางการเมืองของบุ้งเปลี่ยนแปลงไปคือเหตุการณ์ "Big Cleaning Day" กิจกรรมที่ชาว กทม. บางส่วนออกมาล้างทำความสะอาดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บหลายพันคน ซึ่งเสมือนการทำลายหลักฐานที่จะอาจจะบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและให้ความเป็นธรรมต่อญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต[13]

เมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 อรรถพันธ์ ตั้งมโนวุฒิกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการอัยการชั้น 5 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ก็ได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมและสื่ออิสระทั้ง 8 ราย รวมถึงบุ้งด้วย ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันยุยงปลุกปั่นฯ, ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงานฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 136, 138, 140 และ 368 โดยในคำฟ้องได้มีใจความสำคัญระบุว่า[14]

กลุ่มทะลุวังทำโพสสำรวจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในคำถามว่า คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2565

“จำเลยทั้งแปดกับพวก (เยาวชน) ได้ร่วมกันกระทำความผิด และต่างกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยทั้งแปดกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยการร่วมกันทำแผ่นป้ายกระดาษสีขาวขนาดใหญ่ โดยทำให้ปรากฏข้อความที่ส่วนบนของกระดาษว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” โดยส่วนด้านล่างของแผ่นกระดาษ ได้ทำการแบ่งออกเป็น 2 ช่อง แล้วทำให้ปรากฏข้อความที่ช่องทางด้านซ้ายมือของผู้อ่านว่า “เดือดร้อน” และที่ช่องทางด้านขวามือของผู้อ่านว่า “ไม่เดือดร้อน” ออกเผยแพร่แสดงแก่ประชาชนทั่วไป และได้แจกสติ๊กเกอร์สีเขียวเพื่อให้ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว และในละแวกใกล้เคียงที่ประสงค์แสดงความคิดเห็น นำสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปติดที่ช่องที่เลือก อันเป็นการสื่อความหมายเป็นการโจมตีเรื่องขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสืบต่อกันมาในการถวายความปลอดภัยให้กับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเจตนาจะสื่อไปถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นการทำให้ปรากฏข้อความ หนังสือ แก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

ข้อวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เบญจมาภรณ์ นิวาส และ สุพิชฌาย์ ชัยลอม อดีตสมาชิกทะลุงวัง และเป็นผู้ต้องหา ม.112 มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย อยู่ที่ ประเทศแคนาดา ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์กล่าวหาว่าบุ้งได้มีพฤติกรรมครอบงำเด็กมาร่วมกิจกรรม พลอยอ้างว่าตนถูกบังคับบงการ (manipulate) และขูดรีดผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวในฐานะเยาวชน โดยเฉพาะเคลื่อนไหวการชุมนมแต่ละครั้ง เพื่อนำไปเรียกรับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย[15] ในขณะที่ ธนลภย์ ผลัญชัย ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันว่า บุ้งคือคนที่สนับสนุนเธอ ดูแลเธอเป็นอย่างดี เสนอให้พักการทำกิจกรรมตลอด และเป็นเธอเองที่ขอไปอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้ มีนักกิจกรรมรายอื่นๆ ออกมาแสดงข้อคิดเห็นเชิงสนับสนุนบุ้งด้วย เช่น ใบปอ—ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ สมาชิกทะลุวังและนักกิจกรรมที่เคยอดอาหารร่วมกับบุ้งระหว่างถูกคุมขัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บุ้งไม่เคยบังคับและบงการใคร เพราะบุ้งเชื่อว่าทุกคนมีสติปัญญาเป็นของตัวเอง ขณะที่ อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ที่เคลื่อนไหวกับบุ้งและหยกอยู่บ่อยครั้ง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เคยเคลื่อนไหวกับบุ้ง แต่ไม่เคยถูกบังคับให้ทำกิจกรรม[16]

การเสียชีวิตและปฏิกิริยาจากสังคม[แก้]

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 บุ้งได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับการยืนยันจากครอบครัวของบุ้งว่าบุ้งมีอาการทรุดลงจนตรวจสัญญาณชีพไม่พบ คาดว่าเกิดการการอดอาหารเป็นเวลานานก่อนหน้านี้[17] ทางด้านนายกิตติธัช ศรีอำรุง และ นางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ แนวร่วมของกลุ่มทะลุวังได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันการเสียชีวิตของบุ้ง โดยใบปอกล่าวว่า “วันนี้เป็นที่ทราบกันในสังคมว่า 112 ได้พรากชีวิตพี่บุ้งไปเรียบร้อยแล้ว”'' ส่วนนายกิตติธัช ในนามตัวแทนของเพื่อนบุ้ง ได้ยืนหยัดข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ประเทศไทยไม่ควรที่จะได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 2. ประเทศควรที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทย นักโทษคดี112 และนักโทษทางการเมือง ควรจะได้รับสิทธิการประกันตัว และ 3. ไม่ควรมีผู้เห็นต่างทางการเมืองจะต้องมาติดคุกอีก นายกิตติธัชยังทิ้งท้ายด้วยว่าอยากเรียกร้องในจุดยืน 3 ข้อนี้ในสังคมไทย และอยากสานต่อเจตนารมณ์ของบุ้ง โดยไม่อยากให้ข้อเรียกร้องนี้สูญเปล่า[18]

ในขณะเดียวกัน บัญชีโซเชียลมีเดียของพรรคก้าวไกลได้โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุ้ง และเน้นย้ำว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต้องได้รับการรับรองในสังคมประชาธิปไตย รวมถึงกล่าวถึงหลักการว่าไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง และไม่ควรมีใครถูกผลักให้ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต ก่อนทิ้งท้ายว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตและที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี การเร่งพิจารณากระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง และฟื้นความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมสำหรับประชาชนทุกคน[19] ทางด้าน พรรณิการ์ วานิช ได้ออกมาตั้งคำถามว่าต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน หรือแม้แต่มีคนตายแล้ว ก็จะยังไม่เข้าใจ ไม่รับรู้กันอีก พร้อมทั้งย้ำว่าปัจจุบันยังมีอีกหลายคนยังอยู่ในคุกที่ไม่ได้ประกัน และยังมีคนอีก 3 คนที่อดอาหารประท้วงอยู่ในเรือนจำ[20] ส่วนรังสิมันต์ โรม นอกจากได้แสดงความเสียใจจากการจากไปของบุ้งแล้ว เขายังกล่าวด้วยว่าไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการแสดงออกของบุ้ง แต่สิทธิในการประกันตัว เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ เพื่อให้สามารถต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ ความสูญเสียเช่นนี้ มาจากการถอนประกันโดยไม่เข้าเหตุตามกฎหมาย ต้องถามไปที่ผู้วินิจฉัยกฎหมาย ว่าจะรับผิดชอบอย่างไรที่มีผู้เสียชีวิต[21] ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้กล่าวว่าไม่ควรมีใครควรต้องถูกคุมขังเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิต เพียงเพราะการคิดที่แตกต่างกัน สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับจากรัฐ[22]

ส่วนพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ ได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้แก่นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการแสดงความเห็นหรือแถลงการณ์ใดจากพรรคเพื่อไทย[23] มีเพียง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาแสดงความเสียใจและทิ้งท้ายว่าไม่ควรมีใครเสียชีวิตเพราะความคิดที่แตกต่าง ตนหวังให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีสุดท้าย และขอปล่อยเด็ก ๆ ที่เหลือออกมา [24]

ในขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงความเสียใจต่อบุ้งที่เรียกร้องเรียกร้องให้มีการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมและคืนสิทธิ์ประกันตัว ให้นักโทษคดีการเมือง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการตรวจสอบสาเหตุการตายของบุ้งอย่างโปร่งใสและยุติธรรม พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน[25] ในวันเดียวกัน นักการทูตแลสถานทูตต่าง ๆ ในประเทศไทยได้แก่ Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย Jon Thorgaard เอกอัคราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของบุ้งเช่นกัน[26][27][28][29] ส่วน Ernst Reichel เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย นอกจากจะแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของบุ้งแล้ว ยังได้ย้ำว่ากรณีดังกล่าวเป็นโศกนาฏกรรมของเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีโดยไม่มีการประกันตัว หลังจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลานาน[30]

ส่วนทางด้านภาคประชาชน ภายหลังที่ทราบข่าว ประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนมากเข้าร่วมการนัดจุดเทียนหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที เพื่อรำลึกถึงบุ้ง[31]ในวันที่ 16 พฤษภาคม มีผู้เข้าร่วมงานสวดอภิธรรมอาทิ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ธิษะณา ชุณหะวัณ ชัยธวัช ตุลาธน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กำหนดวันฌาปนกิจวันที่ 19 พฤษภาคม ณ วัดสุทธาโภชน์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ประวัติ 'บุ้ง ทะลุวัง' สาว 'นักกิจกรรมทางการเมือง' จากไปในวัยเพียง28ปี". 2024-05-14.
  2. "เปิดประวัติ "บุ้ง ทะลุวัง" จากม็อบ กปปส. โตในบ้านผู้พิพากษา สู่นักโทษคดี ม.112". www.thairath.co.th. 2024-05-14.
  3. "ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
  4. https://www.matichon.co.th/politics/news_4575873#google_vignette
  5. 5.0 5.1 "บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว หลังอดอาหารประท้วง-ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นวันที่ 110". BBC News ไทย. 2024-05-14.
  6. "Facebook". www.facebook.com.
  7. Thosapol (2024-05-14). "ประวัติ "บุ้ง ทะลุวัง" เส้นทางชีวิต จากลูกตุลาการ สู่ผู้ต้องหา ม.112". Thaiger ข่าวไทย.
  8. "ศาลสั่งถอนประกัน ม. 112 'บุ้ง-เนติพร' ละเมิดอำนาจศาล จำคุก 1 เดือน ไม่รอลงโทษ | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com. 2024-05-15.
  9. "ไทม์ไลน์ "บุ้ง ทะลุวัง" อดอาหาร 110 วัน ช็อกหัวใจหยุดเต้น". Thai PBS.
  10. "เปิดประวัติ "บุ้ง ทะลุวัง" จากม็อบ กปปส. โตในบ้านผู้พิพากษา สู่นักโทษคดี ม.112". www.thairath.co.th. 2024-05-14.
  11. "ไทม์ไลน์ "บุ้ง ทะลุวัง" อดอาหาร 110 วัน ช็อกหัวใจหยุดเต้น". Thai PBS.
  12. "ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
  13. "ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
  14. "ยื่นฟ้อง "ม.112 - ม.116" 8 นักกิจกรรม - สื่ออิสระ แล้ว กรณีทำ "โพลขบวนเสด็จ" ที่พารากอน ก่อนศาลต่อประกัน 6 ราย โดยติด EM แต่ยังไม่ให้ประกัน "ใบปอ - บุ้ง" จากกลุ่มทะลุวัง | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน". 2022-06-02.
  15. "อดีต "ทะลุวัง" ยัน จริง แฉ "บุ้ง" ครอบงำเด็ก เรียกรับเงินสนับสนุนต่างประเทศ". www.thairath.co.th. 2023-08-09.
  16. "เกิดอะไรขึ้นในกลุ่ม 'ทะลุวัง' ? สรุปกรณีกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกตั้งคำถามปมสวัสดิภาพ 'หยก'". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-08-09.
  17. https://www.pptvhd36.com (2024-05-14). ""บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตแล้ว หลังหัวใจหยุดเต้น". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  18. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_8231747
  19. "พรรค ก้าวไกล เสียใจกรณี บุ้ง ทะลุวัง ยืนยันหลักสิทธิประกันตัว-สร้างพื้นที่ปลอดภัย". THE STANDARD. 2024-05-14.
  20. https://twitter.com/Pannika_FWP/status/1790255354707894522?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1790255354707894522%7Ctwgr%5E7f8b5643b36cda1e063bb43b38c7303d245a5b60%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.matichon.co.th%2Fpolitics%2Fnews_4575184
  21. หยู (2024-05-14). "สส.รังสิมันต์ ถามหาคนรับผิดชอบ 'บุ้ง' เสียชีวิต".
  22. หยู (2024-05-14). "สส.วิโรจน์ เศร้า 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิตเพียงเพราะการคิดที่แตกต่างกัน".
  23. https://www.pptvhd36.com (2024-05-14). ""ทวี" รายงานนายกฯ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  24. "ณัฐวุฒิ-พรรณิการ์ อาลัย บุ้ง เนติพร ย้ำ ไม่ควรมีคนตายเพราะความเห็นต่าง". THE STANDARD. 2024-05-14.
  25. https://twitter.com/OHCHRAsia/status/1790373348398272520
  26. https://twitter.com/USAmbThailand/status/1790341458614165640
  27. https://twitter.com/DKAMBinThailand/status/1790324395002458412
  28. https://twitter.com/SwedeninTH/status/1790331835329007989
  29. https://twitter.com/DavidDalyEU/status/1790313677662654478
  30. https://twitter.com/GermanAmbTHA/status/1790310655461073121
  31. https://www.matichon.co.th/politics/news_4575873#google_vignette