แลนเซอล็อต-เกรล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปกรณัมแลนเซอล็อต-เกรล  
ภาพวาดปูนเปียกของฉากจากบทร้อยแก้วแลนเซอล็อตที่หอเชดเลนตชิน สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14
ผู้ประพันธ์ไม่ทราบ (อิงจากงานของรอแบร์ เดอ โบรง และเครเตียง เดอ ทรัว)
ภาษาภาษาฝรั่งเศสเก่า
หัวเรื่องปกรณัมเกี่ยวกับบริเตน
ประเภทนิยายวีรคติอัศวิน, บันทึกเหตุการณ์เทียม
วันที่พิมพ์ป. 1210–1235

ปกรณัมแลนเซอล็อต-เกรล (อังกฤษ: Lancelot-Grail Cycle; ชื่อสมัยใหม่โดย แฟร์ดีน็อง ล็อต[1]) ปกรณัมวัลเกต (Vulgate Cycle; ชื่อสมัยใหม่โดย เอช. ออสการ์ ซอมเมอร์[2] มาจากภาษาละติน editio vulgata หมายถึง "ฉบับประชาชน") หรือ ปกรณัมแม็ปเทียม (Pseudo-Map Cycle; ตามชื่อวอลเตอร์ แม็ป ผู้แต่งเทียม[3]) เป็นปกรณัมชุดเกี่ยวกับพระเจ้าอาร์เทอร์ของฝรั่งเศสสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง ประกอบด้วยร้อยแก้วตอนผจญภัยและความรักของอัศวินที่เดิมแต่งด้วยภาษาฝรั่งเศสเก่า ปกรณัมนี้นำเสนอในรูปแบบบันทึกเหตุการณ์จริง เนื้อหาบอกเล่าตำนานอาร์เทอร์ โดยเน้นเรื่องรักระหว่างอัศวินแลนเซอล็อตกับราชินีกวินิเวียร์ การตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ และชีวิตของเมอร์ลิน ปกรณัมแลนเซอล็อต-เกรลขยายความจาก Little Grail Cycle ของรอแบร์ เดอ โบรง[4] และงานของเครเตียง เดอ ทรัว[5] ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เกี่ยวข้องกัน โดยเพิ่มรายละเอียดและเรื่องราวเสริมจนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน ปกรณัมแลนเซอล็อต-เกรลรู้จักในหลายชื่อ รวมถึง Le Livre du Graal (หนังสือแห่งเกรล) โดยฟีลิป วอลเตอร์ (ค.ศ. 2001–2009)

เรื่องราวในปกรณัมเกิดขึ้นในสถานที่หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เกิดในอาณาจักรโลเกรสของพระเจ้าอาร์เทอร์ ตัวละครอื่น ๆ รวมถึงอัศวินโต๊ะกลมนำโดยแลนเซอล็อต ผู้มีความสัมพันธ์ต้องห้ามกับกวินีเวียร์ ราชินีของพระเจ้าอาร์เทอร์ ปกรณัมยังเล่าถึงการผจญภัยทางจิตวิญญาณของอัศวินโต๊ะกลมในการตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ ภาชนะที่ใช้รองรับพระโลหิตของพระเยซู ซึ่งสุดท้ายกาลาฮัดเป็นผู้ค้นพบ[6] นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของเมอร์ลิน และความรุ่งโรจน์และสูญเสียอำนาจของพระเจ้าอาร์เทอร์

ปกรณัมแลนเซอล็อต-เกรลแต่งเสร็จประมาณ ค.ศ. 1230–1235 หลังจากนั้นได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นปกรณัมหลังวัลเกต (ประมาณ ค.ศ. 1230–1240)[7] เรื่องราวและตัวละครในปกรณัมทั้งสองชุดนี้เป็นรากสำคัญของตำนานอาร์เทอร์ฉบับที่แพร่หลายที่สุดในช่วงปลายสมัยกลาง โดยมีการแปลเป็นภาษายุโรปต่าง ๆ หลายภาษา ปกรณัมเหล่านี้ยังส่งอิทธิพลต่อนิยายวีรคติอาร์เทอร์ยุคหลัง จวบจนคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทอมัส มาโลรีรวบรวมผลงานเหล่านี้เป็นบทร้อยแก้วชื่อ Le Morte d'Arthur ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบตำนานอาร์เทอร์ในปัจจุบัน[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. The History of the Holy Grail (ภาษาอังกฤษ). Boydell & Brewer Ltd. 2010. ISBN 978-1-84384-224-8.
  2. Korrel, Peter (January 1984). An Arthurian Triangle: A Study of the Origin, Development, and Characterization of Arthur, Guinevere, and Modred. Brill Archive. ISBN 9004072721.
  3. Smith, Joshua Byron (2017). Walter Map and the Matter of Britain (ภาษาอังกฤษ). University of Pennsylvania Press. ISBN 9780812294163.
  4. Dover, Carol (2003). A Companion to the Lancelot-Grail Cycle (ภาษาอังกฤษ). DS Brewer. ISBN 9780859917834.
  5. "Chrétien de Troyes". Britannica. สืบค้นเมื่อ May 7, 2024.
  6. The Quest of The Holy Grail, translated by Matarasso, P.M., Penguin Books, 1969, page 60.
  7. Lacy 2010, p. 6.
  8. "British Library".