โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช

พิกัด: 15°14′20″N 104°50′26″E / 15.23886°N 104.840534°E / 15.23886; 104.840534
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
Benchama Maharat School
ตราประจำโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นบ.ม. / B.M.
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คำขวัญประพฤติดี มีวัฒนธรรม นำสังคม
สถาปนา28 กันยายน พ.ศ. 2458
ผู้อำนวยการนายองอาจ จูมสีมา
สี███ เขียว
███ แดง
เพลงมาร์ชเบ็ญจะมะมหาราช, ร่วมกายร่วมใจ, ชูเกียรติเบ็ญ
ต้นไม้ต้นไทรงาม
เว็บไซต์http://www.benchama.ac.th

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เดิมโรงเรียนนี้เคยเป็นโรงเรียนชายล้วนประจำมณฑลอุบลราชธานี คู่กับโรงเรียนนารีนุกูลที่เป็นโรงเรียนหญิงล้วนประจำจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัดในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

ชื่อโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช[แก้]

ชื่อโรงเรียน "เบ็ญจะมะมหาราช" แห่งนี้แตกต่างจากโรงเรียนอื่นที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า "เบญจม" ทั้งหลาย เพราะถือเอาตามลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้ประทานนามไว้เมื่อปี พ.ศ. 2458 และเป็นโรงเรียนเดียวที่ต่อท้ายด้วย "มหาราช" ในประเทศไทย สำหรับชื่อในภาษาอังกฤษใช้ตามที่กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้ใช้ในการออกเอกสารใบรับรองผลการเรียนว่า Benchama Maharat School

ประวัติ[แก้]

การสถาปนา[แก้]

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชมีจุดเริ่มต้นจากการจัดการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในปี พ.ศ. 2439 พระญาณรักขิต (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ - จันทร์ สิริจฺนโท) ได้มอบหมายให้พระมหาอ้วน ติสฺโส (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดบรมนิวาส) และคณะ ทำการรวบรวมอุปกรณ์การศึกษาจากกรุงเทพมหานคร นำมาที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในบริเวณวัดสุปัฏนาราม เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนอุบลวิทยาคม" โรงเรียนนี้เปิดสอนนักเรียนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ชายในวิชาภาษาบาลี และภาษาไทย ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์จำนวน 10 ชั่ง เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายในการเรียนการสอนโดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานเป็นผู้แทนพระองค์ทรงนำมามอบให้[1]

ต่อมาโรงเรียนอุบลวิทยาคมมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น ทำให้โรงเรียนคับแคบและชำรุดทรุดโทรม ทางราชการซึ่งมีพระยาศรีธรรมศกราช (ปิ๋ว บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี ในขณะนั้นได้ดำริสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ที่มุมทุ่งศรีเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใน พ.ศ. 2458 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อโรงเรียนได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2458 โดยพระยาศรีธรรมศกราชได้ทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกซึ่งเสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลอุบลราชธานีในเวลานั้น ทรงเป็นประธานประกอบพิธีเปิด และได้ประทานนามโรงเรียนว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราช" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ได้ทรงออกใบประกาศตั้งนามโรงเรียนให้ไว้เป็นสำคัญด้วย ซึ่งโรงเรียนได้ใส่กรอบเก็บรักษาไว้จนกระทั่งบัดนี้[2]

โรงเรียนหลังที่สอง[แก้]

โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้เปิดทำการสอนในที่ตั้งดังกล่าวมาจนถึง พ.ศ. 2477 ก็ประสบปัญหาสถานที่เรียนคับแคบอีกครั้ง เนื่องจากโรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนและรับนักเรียนเพิ่มขึ้นจนล้นโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงได้แบ่งนักเรียนชั้นต้นๆ แยกไปเรียนที่อื่น โดยใช้อาคารสโมสรเสือป่าเก่า (ตั้งอยู่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวเป็นสถานที่เรียน ส่วนนักเรียนชั้นปลายยังคงเรียนอยู่ในที่เดิม ก่อให้เกิดไม่สะดวกในการปกครองและการดูแลการเรียนการสอน

ต่อมาจังหวัดอุบลราชธานีได้รับงบประมาณจากทางราชการกว่า 4 หมื่นบาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพิ่มเติมในบริเวณกรมทหารเก่าซึ่งย้ายไปตั้งอยู่ที่อำเภอวารินชำราบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 (ปัจจุบันคือค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 22) ทางทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง หรือด้านหลังของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีแห่งที่ 2 ในปัจจุบัน (เดิมที่ดินแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมรดกเชื้อสายเจ้านายเมืองอุบลราชธานี ซึ่งหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้อุทิศให้ทางราชการไทยใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์) โรงเรียนแห่งนี้มีเนื้อที่ราว 40 กว่าไร่ ทิศเหนือจรดถนนเบ็ญจะมะและวัดชัยมงคล ทิศใต้จรดถนนศรีณรงค์และวัดศรีอุบลรัตนาราม ทิศตะวันออกจรดถนนอุปราชและทุ่งศรีเมือง ทิศตะวันตกจรดบ้านประชาชนและป่าช้าโรมันคาทอลิก ตัวอาคารเรียนหลักเป็นอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น ขนาด 20 ห้องเรียน ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสนามและเสาธงขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพูนดินมีขาเสาธงสี่ขาตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน [3] อาคารนี้เป็นอาคารหลังเดียวของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชแห่งที่ 2 ที่ยังคงหลงเหลือในปัจจุบัน ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกประจำกระทรวงศึกษาธิการ ณ เวลานั้น

เมื่อสร้างเสร็จโรงเรียนแห่งใหม่แล้วเสร็จ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2478 ในนามโรงเรียน "เบ็ญจะมะมหาราช" และได้เปิดสอนอยู่ในที่ตั้งแห่งนี้จนถึง พ.ศ. 2516 โรงเรียนจึงได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โรงเรียนได้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2503 จึงเริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ตามแผนการศึกษาชาติ พุทธศักราช 2503 [4]

การย้ายโรงเรียนมายังที่ตั้งปัจจุบัน[แก้]

เหตุที่โรงเรียนต้องมีการย้ายที่ตั้งอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2511 - 2512 นายพัฒน์ บุณยรัตนพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้นได้ตกลงกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกที่ดินโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชให้ใช้สร้างเป็นศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ แทนที่อาคารศาลากลางหลังเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2461 ซึ่งมีขนาดเล็กและคับแคบ (ศาลากลางแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง ตรงข้างกับวัดศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบันอาคารนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และมีการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุบลราชธานีในปัจจุบัน) การดำเนินการดังกล่าวนี้ทางจังหวัดไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนได้ทราบล่วงหน้า เพราะทางโรงเรียนรู้เรื่องนี้เมื่อมีการส่งเจ้าหน้าที่มาทำการการวางผังและปักหมุดสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แล้ว

ประตูหน้าของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในปัจจุบัน

ทางราชการได้อนุมัติเงินงบประมาณ 11 ล้านบาทเศษ สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่เพื่อให้โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชย้ายไปอยู่ที่ตำบลท่าวังหิน ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ 1776 เนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ 15.9 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 600 ถนนสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อาณาเขตทิศเหนือจรดบ้านพักอาจารย์สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ทิศใต้ (ด้านหน้า) จรดถนนสรรพสิทธิ์ ทิศตะวันออกจรดซอยชื่นจิต ทิศตะวันตกจรดถนนหน้าที่ทำการการประปา โดยในขณะที่กำลังสร้างหลังใหม่นั้น โรงเรียนหลังเก่าก็ยังทำการสอนต่อไป เพื่อรอโรงเรียนที่กำลังสร้างใหม่ ส่วนศาลากลางจังหวัดก็ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมๆ กันจนแล้วเสร็จ จึงได้ทำการย้ายนักเรียนจากหลังเก่ามาเรียนในที่แห่งใหม่นี้ ใน พ.ศ. 2516 ในนาม "โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช" ตามเดิม มีนายอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธีเปิด[5]

ปัจจุบันโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนภูมิภาคขนาดใหญ่พิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอุบลราชธานีเขตที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตามหลักสูตรสายสามัญ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 แบบสหศึกษา มีนักเรียนรวมทุกระดับชั้น 5,305 คน และคณาจารย์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ รวม 253 คน (ข้อมูลในปีการศึกษา 2550[6])

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน[แก้]

รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (พ.ศ. 2468 - 2474)
  1. ราชบุรุษ อุ่ม สุวรรณ พ.ศ. 2458
  2. อำมาตย์ตรี เจิม ยุวจิติ พ.ศ. 2459
  3. อำมาตย์ตรี ละมุน พ.ศ. 2460
  4. ราชบุรุษ ผึ่ง ผโลปการ พ.ศ. 2461
  5. รองอำมาตย์ตรี ขุนโกศลเศรษฐ์ พ.ศ. 2462- พ.ศ. 2466
  6. รองอำมาตย์ตรี ขุนประสงค์จรรยา พ.ศ. 2466 - พ.ศ. 2468
  7. รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ พ.ศ. 2468 - พ.ศ. 2474
  8. รองอำมาตย์ตรี น้อม วนะรมย์ พ.ศ. 2474 - พ.ศ. 2483
  9. นายสกล สิงหไพศาล พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2486
  10. นายเข็บ พฤกษพิทักษ์ พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2505
  11. นายวินัย เกษมเศรษฐ พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2508
  12. นายขวัญ จันทนปุ่ม พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2518
  13. นายเนย วงศ์อุทุม พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2519
  14. นายบัญญัติ บูรณะหิรัญ พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2520
  15. นายอุดร มหาเมฆ พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2527
  16. นายคำพันธ์ คงนิล พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2532
  17. นายมงคล สุวรรณพงศ์ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2534
  18. นายประดิษฐ์ ศรีวรมาศ พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2536
  19. นายวินัย เสาหิน พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2541
  20. นายสมพงษ์ โลมะรัตน์ พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2546
  21. นายอิทธิพล ทองปน พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550
  22. นายสมจิต บุตรทองทิม พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2553
  23. ดร.ประยงค์ แก่นลา พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2558
  24. ว่าที่รต.ดร.กมล สาดศรี พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2562
  25. นายนพรัตน์ ทองแสง พ.ศ. 2562 - พ.ศ. 2563
  26. นายกิติศักดิ์ กุมภรัตน์ พ.ศ. 2563- พ.ศ. 2565
  27. นายดุริยะ จันทร์ประจำ พ.ศ. 2565 - 2566
  28. นายองอาจ จูมสีมา พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน

ประธานคณะกรรมการนักเรียน[แก้]

  1. นายพีรพล ป้อมเจา พ.ศ. 2559
  2. นายภาสกร วรรณภูชา พ.ศ. 2560
  3. นางสาวสิริภา รัตนิล พ.ศ. 2561
  4. นายอริย์ธัช อริยรุ่งเรืองสกุล พ.ศ. 2562
  5. นางสาวปาฏิหาริย์ ผาสุข พ.ศ. 2563
  6. นางสาวสุพรรณี วรพุฒ พ.ศ. 2564
  7. นายณภัทร ดอกพิกุล พ.ศ. 2565
  8. นายทศธรรม จุฑาเกตุ พ.ศ. 2566
  9. นางสาวเพชรชฎา ใจดี พ.ศ. 2567


หลักสูตรที่เปิดสอน[แก้]

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]

  • โครงการห้องเรียนพิเศษ
    • โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (60 คน)
    • โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Advanced Program : AP) ระดับชั้นละ 3 ห้อง (108 คน)
    • โครงการห้องเรียนพิเศษนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Program : YSP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
    • โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
  • โครงการห้องเรียนปกติ
    • ห้องเรียนปกติ ระดับชั้นละ 9 ห้อง (360 คน)

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]

  • โครงการห้องเรียนพิเศษ
    • โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
    • โครงการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ (Excellent Educational Program : EEP) หลักสูตรเน้นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ระดับชั้นละ 2 ห้อง (72 คน)
    • โครงการส่งเสริมอัจฉริยภาพด้านภาษา (Foreign Language Advanced Program : FLAP) หลักสูตรเน้นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
    • โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
    • โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Advanced Program : AP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
    • โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Program : YSP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (36 คน)
  • โครงการห้องเรียนปกติ
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 9 ห้อง (360 คน)
    • แผนการเรียนภาษา (เยอรมัน/ฝรั่งเศส/จีน/ญี่ปุ่น/สเปน) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)

อาคารเรียน[แก้]

อาคารเรียนเดิม[แก้]

อาคารเรียนเดิมของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ประจำอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ที่ริมทุ่งศรีเมืองด้านทิศตะวันตก (อาคารศาลากลางจังหวัดตั้งอยู่ระหว่างอาคารเรียนเดิมกับพระบรมราชานุสาวรีย์ ปัจจุบันถูกรื้อถอนแล้ว)

หลังการสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีที่ริมทุ่งศรีเมืองด้านทิศตะวันตก และมีการย้ายโรงเรียนไปที่บ้านท่าวังหินทั้งหมดใน พ.ศ. 2516 อาคารเรียนเดิมของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชได้ถูกปรับปรุงเพื่อใช้งานในราชการมาโดยตลอด โดยใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัด ได้แก่ สัสดีจังหวัด สำนักงานธนารักษ์จังหวัด สำนักงานสถิติจังหวัด และสำนักงานพัฒนาอำเภอเมืองอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการย้ายส่วนราชการออกทั้งหมด โดยบางส่วนของอาคารยังคงใช้เป็นสถานที่เก็บพัสดุ ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนอาคารเรียนหลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545

เมื่อศาลากลางจังหวัดถูกเผาโดยกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการตอบโต้การสลายการชุมนุมของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[7] หลังเหตุการณ์สงบได้มีการสำรวจความเสียหาย ปรากฏว่าอาคารศาลากลางจังหวัดเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถใช้การได้[8] ส่วนอาคารเรียนเดิมโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ทางจังหวัดจึงได้ทำการรื้อถอนและย้ายสำนักงานของส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในอาคารศาลากลางจังหวัดไปอยู่ที่สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศ.อ.ศ.อ. เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ที่บริเวณห้วยแจระแมจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยอยู่ห่างจากศาลากลางแห่งนี้ออกไปทางทิศเหนือของตัวเมืองราว 9 กิโลเมตร (ซึ่งทางจังหวัดมีโครงการย้ายศูนย์ราชการไปรวมกันที่นั่นอยู่แล้วก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น)[9] สำหรับอาคารเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเดิมและบริเวณโดยรอบนั้น ได้มีการปรับปรุงเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานี โดยความร่วมมือของกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เบ็ญจะมะมหาราชสมาคม และเครือข่ายภูมิพลังเมืองอุบลราชธานี[10]

อาคารเรียนปัจจุบัน[แก้]

อาคารเรียนหลักของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชในที่ตั้งปัจจุบันมีทั้งหมด 7 อาคาร เมื่อแรกสร้างโรงเรียนใหม่ใน พ.ศ. 2513 นั้น มีอาคารเรียนหลักเพียง 5 หลัง ทางโรงเรียนได้กำหนดชื่ออาคารเรียนหลักทั้งหมดตามพระราชสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และผู้ประทานนามโรงเรียนคือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ดังนี้

  • มหาราช คือ อาคารเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องพักครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องสมุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องเรียนพิเศษโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (Enrichment Program of Science Mathematics Technology and Environment : SMTE) และอาคารวิชาการ
  • จักรพงษ์ คือ อาคารเรียนที่ 1 ตึกอำนวยการ เป็นที่ตั้งของห้องผู้ช่วยผู้อำนวยการ ห้องพักครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องเรียนพิเศษโครงการนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSP) และห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ภูวนารถ คือ อาคารเรียนที่ 2 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ห้องพักครูภาษาไทย ห้องเรียนวรรณกรรม ห้องสมุดภาษาไทย และห้องพยาบาล
  • ปิยะ คือ อาคารเรียนที่ 3 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ห้องพักครูภาษาต่างประเทศ ห้องเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน และภาษาเยอรมัน
  • ประชานารถ คือ อาคารเรียนที่ 4 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ห้องพักครูสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม ห้องพระพุทธศาสนา ห้องอาเซียนศึกษา
  • สิรินธร คือ อาคารเรียนที่ 5 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ห้องพักครูคณิตศาสตร์ ห้องสมุดคณิตศาสตร์ ห้องเรียนพิเศษโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Advanced Program ; AP) และห้องประชาสัมพันธ์
  • เฉลิมพระเกียรติ คือ อาคารเรียนที่ 8 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 2 ห้องพักครูสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ศาสนา และวัฒนธรรม

ต่อมาเมื่อมีนักเรียนจำนวนนักเรียนมากขึ้นใกล้จำนวน 5,000 คน ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนนักเรียนต่อห้องโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50 คนโดยประมาณ แต่จำนวนห้องเรียนมีไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางโรงเรียนจึงดำเนินการของบประมาณจากทางรัฐบาลเพื่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม เป็นอาคารเรียนแบบ 324 ล.41 (หลังคาทรงไทย) 4 ชั้น 24 ห้องเรียน ชั้นล่างใต้ถุนโล่ง ชั้นที่ 2, 3 และ 4 แบ่งเป็นห้องเรียน 20 ห้อง ห้องสำนักงาน 2 ห้อง และห้องปฏิบัติการพิเศษ 2 ห้อง โดยได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2543 จำนวน 19,837,000 บาท สร้างแล้วเสร็จและใช้งานในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544

ทางโรงเรียนได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีใช้ชื่ออาคารว่า สิรินธร พร้อมอัญเชิญพระนามาภิไธย ส.ธ. ประดิษฐานที่ป้ายชื่ออาคาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตามที่กราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดป้ายอาคารสิรินธร โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในวันอังคารที่ 17 ธันวาคมพ.ศ. 2545

นอกจากนี้ยังมีอาคารเรียนอื่น ๆ ได้แก่

  • อาคารเรียนชั่วคราว เป็นอาคารเรียนก่ออิฐโครงไม้ชั้นเดียว สร้างเป็นห้องแถวยาวติดกัน 7 ห้อง ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารเรียนที่ 4 ติดกับแนวรั้วหลังโรงเรียน ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นห้องเรียนรวมชั่วคราวก่อนจะมีการสร้างอาคารสิรินธร ปัจจุบัน มีการรื้อถอนและได้ทำการสร้างตึกเรียนหลังใหม่ขึ้น
  • อาคารเรียนคหกรรม
  • อาคารเรียนศิลปศึกษา
  • อาคารเรียนวิชาช่างต่างๆ
  • อาคารเรียนวิชาเกษตรกรรม
  • อาคารเรียนวิชาพื้นฐานธุรกิจ
  • อาคารเกียรติสุรนนท์
  • อาคารเรียนโครงการโรงเรียนสองภาษา (English Program)
  • อาคารเรียนโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ (EEP)
  • หอประชุมสุนีย์ ตริยางค์กูลศรี
  • หอประชุมเบญจาณุสรณ์
  • ห้องสมุดกาญจนาภิเษก

เกียรติประวัติ[แก้]

พ.ศ. 2527
  • ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่ ระดับมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 10 (ครั้งที่ 1)
พ.ศ. 2528
  • ได้รับเลือกเป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ (ERIC) และศูนย์ประสานงาน AFS
พ.ศ. 2533
  • ได้รับเกียรติบัตรห้องสมุดดีเด่น จาก สมาคมห้องสมุด แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2536
  • นักเรียนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ในการโต้คารมมัธยมศึกษา รุ่นที่ 4
พ.ศ. 2537
  • ได้รับเลือกเป็นศูนย์พัฒนาวิชาการระดับจังหวัด 5 ศูนย์วิชา
พ.ศ. 2538
  • ได้รับเลือกเป็นศูนย์นวัตกรรมและนิเทศทางไกล กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 10
  • ได้รับรางวัลโรงเรียนจัดสิ่งแวดล้อมดีเด่น มาตรฐานเหรียญทอง
  • ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่ ระดับมัธยมศึกษา เขตการศึกษา 10 (ครั้งที่ 2)
พ.ศ. 2539
  • ได้รับคัดเลือกจาก กรมสามัญศึกษา ให้ห้องสมุดเป็น "ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก"
  • พ.ศ. 2540
  • ได้รับเกียรติบัตร การเข้าร่วมแสดงผลงานสารสนเทศโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่ ในงานทางวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก และนิทรรศการการแสดงผลงานการปฏิรูปการศึกษา โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ระดับประเทศ
พ.ศ. 2542
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนในโครงการเงินกู้ธนาคารโลก
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการรุ่งอรุณ
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนนำร่องการพัฒนาหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
พ.ศ. 2544
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนแกนนำคุณภาพปฏิรูปการศึกษา ของกรมสามัญศึกษา
  • ได้รับคัดเลือกจากกรมสามัญศึกษาให้ "ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก" เป็น "ห้องสมุดโรงเรียนดีเด่น กรมสามัญศึกษา ประจำปี 2544"
  • ได้รับเกียรติบัตรกรมสามัญศึกษา เป็นโรงเรียนจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนดีเด่น
พ.ศ. 2545
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาดีเด่น กรมสามัญศึกษา
พ.ศ. 2546
  • ได้รับรางวัล เว็บไซต์ชนะเลิศประเภททั่วไป ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
พ.ศ. 2549
  • ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานดีเด่นขนาดใหญ่พิเศษ ระดับมัธยมศึกษา (ครั้งที่ 3)
พ.ศ.2552
  • ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอบที่ 2) จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) และเข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พ.ศ.2553
  • ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล
พ.ศ.2555
  • ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพสูง (Premiun School)
พ.ศ.2556
  • ได้รับรางวัล “โรงเรียนพระราชทาน ขนาดใหญ่พิเศษ ครั้งที่ 4”
พ.ศ.2558
  • ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอก ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบ 3 ด้วยผลการประเมินระดับ ดีมาก
พ.ศ.2558
  • ได้รับรางวัลการบริหารจัดการศึกษาด้วยระบบคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่ง สพฐ. (OBECQA)

พ.ศ. 2566

• ได้รับรางวัลชนะเลิศ การตอบปัญหาวิชาการรัฐศาสตร์ โครงการสิงห์แดงสัญจร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้วยรางวัลเกียรติยศนายกรัฐมนตรี

การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ[แก้]

การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันความสามารถพิเศษในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ของเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี จากทั่วโลก ประเทศไทยได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียวและได้เพิ่มวิชาอื่นๆ ในปีต่อมาจนครบ 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาและสาขาคอมพิวเตอร์

สำหรับนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเยาวชนตัวแทนเข้าแข่งขัน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 6 คน โดยเป็นสาขาวิชาคณิตศาสตร์ 2 คน สาขา วิชาฟิสิกส์ 3 คน และสาขาวิชาชีววิทยา 1 คน ดังนี้

  • คณิตศาสตร์โอลิมปิกที่ ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน พ.ศ. 2532
  • ฟิสิกส์โอลิมปิกที่ ประเทศสาธารณรัฐคิวบา พ.ศ. 2534
  • ฟิสิกส์โอลิมปิก ที่ ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2538
  • ชีววิทยาโอลิมปิก ที่ ประเทศยูเครน พ.ศ. 2539 ได้รับรางวัล เหรียญทองแดง
  • ฟิสิกส์โอลิมปิก ที่ ประเทศไอซ์แลนด์ พ.ศ. 2540
  • คณิตศาสตร์โอลิมปิก ที่ ประเทศเกาหลีใต้ พ.ศ. 2543

ทีมเชียร์ลีดเดอร์ BMC โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช[แก้]

ได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศไทย ในการแข่งขันรายการ ซีคอนสแควร์เชียร์ลีดดิ้ง ในปี 2003 และในปี 2008-2010 สามสมัยซ้อน ได้ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ;ในปี2010 เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์โลก ณ สวนสนุกดิสนีย์เวิร์ล รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ในรายการ International Cheer Union 2010 และรายการ The Cheerleading World 2010 ได้รับรางวัลคะแนนรวมสูงสุดอันดับที่2ของโลก

ปี2011

เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์โลก ณ เมืองโกลโคส ประเทศออสเตรเลีย ได้รับรางวัลชนะเลิศ

และในปี 2013

ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในรายการซีคอนสแควร์เชียร์ลีดดิ้ง ชิงแชมป์ประเทศไทย

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ปฐมการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  2. "การสถาปนาโรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  3. "อาคารเรียนหลังที่สอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  4. "ที่มาของไทรงามและธงสีเขียวแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  5. "โรงเรียนหลังที่ 3 ณ ที่ตั้งปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  6. "สารสนเทศครูและนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.
  7. อุบลฯ ฮือเผาศาลากลาง ถูกยิงเจ็บ 6 ราย. ไทยรัฐออนไลน์ (19 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 12 เมษายน 2554.
  8. เล็งชงครม.ของบ1.3พันล้านสร้างศาลากลางถูกเผา. เก็บถาวร 2011-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คมชัดลึก (24 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 12 เมษายน 2554.
  9. "ความคืบหน้าของศูนย์ราชการจังหวัดอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-23. สืบค้นเมื่อ 2010-04-12.
  10. guideubon.com (2011-02-09). "อาคารเรียน ร.ร.เบ็ญจะมะมหาราช ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-07. สืบค้นเมื่อ 2011-04-12.
  11. 11.0 11.1 OSK Network
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 ศิษย์เก่าดีเด่นเบ็ญจะมะมหาราช (ข้อมูลจากเบ็ญจะมะมหาราชสมาคม)[ลิงก์เสีย]
  13. "โครงการแผนที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธ์ชายแดนไทย-กัมพูชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-18. สืบค้นเมื่อ 2012-03-10.
  14. "เมืองอุบลฯ กับวงการแพทย์ (Guideubon.com)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-15. สืบค้นเมื่อ 2012-03-10.
  15. รชต กิตติโกสินท์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

15°14′20″N 104°50′26″E / 15.23886°N 104.840534°E / 15.23886; 104.840534