ผู้ใช้:MUSCPL361-6205036/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กระจับเขาควาย[แก้]

เป็นพืชน้ำล้มลุกอายุหลายปี มีอยู่ทั่วไป ลักษณะเป็นกอลอยน้ำ ชอบน้ำนิ่ง มีรากหยั่งยึดดินและมีไหล

ใบ : เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุก ใบส่วนใหญ่ลอยบนผิวน้ำ รูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 4-9 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟัน ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีม่วงอมแดงมีขน เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 5-20 เซนติเมตร สีม่วงแดง บริเวณ กลางก้านโป่งพองเป็นกระเปาะใหญ่ ก้านใบบริเวณรอบข้างในของกระจุกสั้นกว่าก้านใบรอบนอกที่อยู่ถัดออกไปเป็นลำดับ ใบบางส่วนที่อยู่ในน้ำมีลักษณะคล้ายรากเป็นเส้นฝอยแตกแขนงแบบขนนก มีหูใบเล็กมาก

ดอก : เป็นดอกเดี่ยวสีขาว ออกที่โคนก้านใบ ซึ่งจะบานอยู่เหนือน้ำ และมีกลีบเลี้ยง, เกสรตัวเมียและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ โดยจะมีเกสรตัวเมียติดกับกลีบดอกสลับกัน ส่วนสิ่งที่อยู่เหนือวงกลีบคือรังไข่ ซึ่งมีอยู่ 2 ช่องและมีออวุล 1 เมล็ด/ช่อง เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ก้านดอกจะงอกลับลงน้ำและผลจะเจริญอยู่ใต้น้ำ

ผล : สีม่วงอมแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ส่วนที่เป็นเขาโค้ง 2 ข้างเจริญมาจากกลีบเลี้ยง ผลหรือฝักกระจับมีสีดำขนาดใหญ่ เปลือกหนาแข็งงอโค้งคล้ายเขาควาย[1]

Kingdom Plantae
Clade Tracheophytes
Clade Angiosperms
Clade Eudicots
Clade Rosids
Order Myrtales
Family Trapaceae
Genus Trapa
species Trapa bispinosa Roxb.

มูลค่าทางเศรษฐกิจ[แก้]

กระจับเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศที่มีน้ำท่วมขังตลาดทั้งปี ปัจจุบันมีปลูกมากในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะที่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช สำหรับต่างประเทศก็พบการปลูกเช่นกัน ได้แก่ จีน ไต้หวัน และอินเดีย

การลงทุน

สำหรับพื้นที่ 1 ไร่  ใช้เงินลงทุน 4,000-6,000 บาท (ค่าต้นพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าแรง) เมื่ออายุต้นครบ 4 เดือน จะเริ่มเก็บผลผลิตชุดแรก โดยต้นกระจับ 1 กอ จะให้ผลผลิต 5-6 ฝัก เฉลี่ย 1,000 – 1,200 กิโลกรัม/ไร่

รายได้เกษตรกร

ผลผลิตต่อฤดู หากมีการผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน จะเสี่ยงโดนฝน แต่จะได้ราคาดี กก.ละ 18-20 บาท ถ้าปลูกช้าไปกว่านั้น ราคาจะตกมาที่ 11 บาท/กก. เช่น ใน 1 ไร่ ได้ 1,000 กก. ราคา กก.ละ 18 บาท ก็จะได้ 18,000 ต่อไร่ มีเรื่องการขายยอดสวยงามเข้ามาอีก 1 ยอด 1 บาทถึง 1.20 บาท สามารถทำยอดขายได้ ฉะนั้น 1 ไร่ ผลผลิตเกือบ 20,000 บาท ต่อรอบการผลิต[2]

การใช้ประโยชน์[แก้]

ด้านอาหาร[แก้]

รสชาติมันคล้ายเม็ดขนุนต้ม นอกจากจะนำฝักมาต้มเพื่อรับประทานเนื้อข้างในแล้ว เนื้อในของกระจับยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนูทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน เช่น แกงส้ม แกงบวชกระจับ กระจับเชื่อม กระจับน้ำแข็งใส หรือนำมาทำขนมตะโก้ไส้ข้าวเหนียวปิ้ง กระจับผัด กระจับต้มซี่โครงหมู เป็นต้น เนื้อในกระจับจะมีรสหอม มัน นิ่ม มีรสหวานนิด ๆ คล้ายเม็ดขนุน[3]

ด้านสมุนไพร[แก้]

ใบ : รสเปรี้ยว ขจัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ และถอนพิษต่างๆ

เนื้อในฝัก : รสมันหอมหวาน เป็นยาชูกำลัง บำรุงทารกในครรภ์ แก้อ่อนเพลีย บำรุงร่างกายหลังพื้นไข้ วิตามิน A ในเนื้อฝัก ช่วยบำรุงผิวพรรณให้แลดูมีน้ำมีนวล ช่วยเสริมสร้างการสร้างกระดูก

ลำต้นและเหง้า : นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงครรภ์

เปลือกฝัก : เปลือกนำมาต้มดื่ม แก้อาการปวดท้อง แก้อาการท้องเสีย[4]

การใช้ประโยชน์อื่นๆ[แก้]

- เปลือกฝักที่กะเทาะเนื้อออกแล้ว สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนได้

- ต้นกระจับใช้ปลูกในกระถางเป็นบัวประดับชนิดหนึ่ง

- ลำต้น และใบ ตัดมารวมกัน ใช้ทำปุ๋ยหมัก

สารสำคัญที่พบ[แก้]

กระจับมีส่วนประกอบของแป้งประมาณร้อยละ 16 โปรตีนประมาณร้อยละ 3 กระจับดิบพบสารกลุ่มชีวพิษ toxins ที่สามารถถูกทำลายด้วยความร้อนได้

ข้อเสียของกระจับ[แก้]

1. กระจับที่ติดผลจนแก่แล้ว ผลจะร่วงลงน้ำและฝังอยู่พื้นน้ำ หากชาวประมงเดินเหยียบ เขากระจับจะตำเท้าได้

2. กระจับเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน หากมีการแพร่ระบาดมาก กระจับจะคลุมผิวน้ำเป็นปัญหาต่อการประมง และปิดบังแสงที่ส่องลงท้องน้ำ ส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศ

3. การแพร่กระจายของกระจับจำนวนมากจะเป็นปัญหาต่อการชลประทานและแหล่งน้ำตื้นเขิน[5]

คุณค่าทางโภชนาการ[แก้]

คุณค่าทางโภชนาการของกระจับเทียบปริมาณเนื้อฝัก 100 กรัม

– ความชื้น : 70%

– พลังงาน : 117 แคลอรี่

– โปรตีน : 4.7 กรัม

– คาร์โบไฮเดรต : 23.9 กรัม

– ไขมัน : 0.3 กรัม

– แคลเซียม : 20 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส : 150 มิลลิกรัม

– เหล็ก : 0.8 มิลลิกรัม

– วิตามิน B1 : ไม่พบ

– วิตามิน B2 : 0.01 มิลลิกรัม

– ไนอาซีน : 0.6 มิลลิกรัม

– วิตามิน A : 20 IU.

– วิตามิน C : ไม่พบ[6]

การปลูกกระจับ[แก้]

กระจับเป็นพืชที่เติบโตได้เฉพาะในแหล่งน้ำขัง ซึ่งมีระดับความลึกแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ บางแห่งอาจพบกระจับเติบโตได้ในแหล่งน้ำที่ลึกได้มากกว่า 3 เมตร โดยพื้นที่ปลูกกระจับมักจะเลือกแหล่งที่มีระดับน้ำไม่ลึก ประมาณ 30-50 ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าเก็บฝัก และควรเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้เกิดร่มเงาการขยายพันธุ์กระจับ นิยมทำกัน 2 แบบ คือ การปลูกด้วยฝัก และการปลูกด้วยเถา การเตรียมดิน เหมือนกับการทำนาโดยการไถ และปล่อยน้ำเล็กน้อย แล้วทำเป็นเทือกเหมือนการทำนา และใส่ปุุ๋ยคอกกับปุ๋ยชีวภาพหมักดินไว้ 10 – 15 วัน ก่อนปลูกทำเทือกอีกครั้ง[7]

การปลูกด้วยเมล็ด[แก้]

การปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เมล็ดที่แก่แล้วเท่านั้น และเป็นเมล็ดที่ได้จากต้นมี่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยการเพาะจะเริ่มจากการนำดินผสมกับแกลบดำ อัตราส่วน 1:1 บรรจุใส่กระถาง แล้วฝังลงในกระถางตรงกลางให้ลึกพอดินกลบพอดี หลังจากนั้นใช้น้ำเทใส่กระถางให้ท่วมและปล่อยทิ้งไว้ หลังจากนั้นฝักจะเริ่มงอกและใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็พร้อมย้ายลงปลูกในแปลง ทั้งนี้ขณะเพาะเมล็ดต้องคอยดูแลให้น้ำท่วมหน้าดินในกระถางตลอด

การปลูกด้วยเถา[แก้]

การปลูกด้วยเถาจะใช้เถาอ่อน ใบค่อนข้างบางเล็กและมีสีน้ำตาล ด้วยการนำเถามามัดรวมกัน 2-3 เถา แล้วกดเถาส่วนต้นที่มัดรวมกันลงหน้าดินใต้น้ำให้ลึกประมาณที่เถาไม่ลอย ระยะห่างระหว่างเถาที่ 2.5-3 เมตร หลังการปลูกแล้ว 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และก่อนออกดอก-ช่วงออกดอกในเดือนที่ 3-4 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 24-12-12 ซึ่งจะช่วยให้ฝักกระจับมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้ช่วงการดูแลให้มั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 1-2 เดือน/ครั้ง

ฤดูกาลเพาะปลูก ปลูกได้ทุกฤดูกาลแต่ต้องมีน้ำขังตลอด นิยมปลูกในเดือนเมษายน – พฤษภาคม

การเก็บฝัก กระจับจะเริ่มออกดอกหลังการปลูกประมาณ 3-4 เดือน และจะเริ่มติดเป็นฝักประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นฝักจะเริ่มแก่เต็มที่ ในเดือนที่ 5 เปลือกฝักจะเริ่มมีสีม่วงแดงจนถึงดำ และเปลือกมีลักษณะแข็ง ช่วงที่เริ่มเก็บฝักกระจับจะอยู่ในช่วงที่ใบกระจับเริ่มเหลือง โดยจะทยอยเก็บเป็นระยะ ทุกๆ 8-10 วัน/ครั้ง โดยกระจับ 1 กอ จะเก็บฝักได้ประมาณ 5-6 ครั้ง

การเก็บรักษาฝัก ฝักกระจับที่เก็บมาจากต้นจะค่อนข้างเน่าเสียได้เร็ว และหากเก็บไว้นานจะทำให้ความหวานลดลง ดังนั้น เกษตรกรมักนำกระจับที่เก็บมาแล้วทำการต้มเพื่อจำหน่ายทันที หรือนำมาแปรรูเป็นอย่างอื่น เช่น ฝักสดนำมาทุบกะเทาะเอาเนื้อฝักออกแล้วนำมาบด และตากเพื่อใช้ทำแป้งกระจับสำหรับประกอบอาหารอย่างอื่น ซึ่งการแปรรูปนี้จะทำให้เก็บรักษาแป้งกระจับได้นานขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น อาทิ กระจับกระป๋อง(กระจับในน้ำเชื่อม) กระจับดอง กระจับแช่อิ่ม เป็นต้น

เรื่องเล่า[แก้]

สุนทรภู่ได้กล่าวถึงกระจับไว้ช่วงหนึ่งในบทประพันธ์เรื่อง “โคบุตร” ว่านางมณีสาครพาอรุณกุมารน้องชายหนีไปในป่าจนไปถึงสระบัวแห่งหนึ่งและเจอกระจับ ดังคำประพันธ์

“ทั้งสององค์ลงนั่งกำลังหอบ                 พระกรกอบดื่มกินกระสินธุ์สาย

แล้วชวนน้องลงในสระชำระกาย           เที่ยวแหวกว่ายเลือกหักฝักอุบล

พี่แหวกจอกปอกเสวยกระจับสด           น้องว่ารสโอชาผลาผล”[8]

สุนทรภู่บรรยายไว้ในเรื่อง “สิงหไตรภพ” ว่าเด็กโตแล้วอย่างอรุณกุมาร แค่เอาเปลือกออกก็กินเนื้อในได้เลย ในกรณีเด็กเล็กที่ยัง ‘สะอื้นอ้อนอยากนมพระชนนี’ อย่างสิงหไตรภพ พี่เลี้ยงซึ่งเป็นเด็กโตกว่าอย่างพราหมณ์เทพจินดาก็ต้องใช้ ‘ตัวช่วย’ บดเม็ดบัวและเนื้อในกระจับให้แหลกก่อน ดังคำประพันธ์

“เจ้าพราหมณ์น้อยนั้นค่อยประโลมปลอบ  มาถึงขอบคันเขาคิรีศรี

มาหยุดพักวักหยอดซึ่งวาร                   ทูนหัวพี่นิ่งเถิดอย่าร้องเลย

แล้วเที่ยวหักฝักบัวกระจับสด               เอาหินบดป้อนให้กุมารเสวย

เห็นหยุดร้องเข้าประคองขึ้นชมเชย         ทูนหัวเอ๋ยอิ่มแล้วหรือแก้วตา” [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ข้อมูลสมุนไพร". pharmacy.su.ac.th.
  2. ทีมข่าวเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ (2018-06-01). ""กระจับเขาควาย" พืชน้ำกินได้ ลงทุนหลักพัน สร้างรายได้หลักหมื่น/รอบ (4 เดือนได้ 2-3 รอบ)". เส้นทางเศรษฐี.
  3. "ใครชอบกินต้องอ่าน!! มันเริ่ดนะ!! กระจับเขาควาย คุณประโยชน์มากล้น!!". Postjung.com.
  4. ทีมงานผู้จัดทำ. "สรรพคุณของกระจับ เกี่ยวข้องกับเนื้อหา โรคและสมุนไพร มีอะไรบ้าง" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. puechkaset (2016-01-22). "กระจับ/กระจับเขาควาย สรรพคุณ และการปลูกกระจับ | พืชเกษตร.คอม".
  6. puechkaset (2016-01-22). "กระจับ/กระจับเขาควาย สรรพคุณ และการปลูกกระจับ | พืชเกษตร.คอม".
  7. puechkaset (2016-01-22). "กระจับ/กระจับเขาควาย สรรพคุณ และการปลูกกระจับ | พืชเกษตร.คอม".
  8. 8.0 8.1 อารัมภีร, ญาดา (2021-04-19). "จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : กินดี - กินอร่อย (1) / ญาดา อารัมภีร". มติชนสุดสัปดาห์.