พระแสงขรรค์ชัยศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงศาสตราวุธประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์[1][2] พระขรรค์หมายถึง พระสติปัญญาความรอบรู้ในการปกครองบ้านเมือง[3]

ประวัติ[แก้]

ซุ้มเฉลิมพระเกียรติในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 แสดงภาพจำลองพระแสงขรรค์ชัยศรี

พระแสงขรรค์ชัยศรีองค์นี้มีประวัติอันเก่าแก่เป็นราชสมบัติจากกษัตริย์ขอมเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) ตั้งแต่ยุคนครวัดถึงยุคนครธม มีหลักฐานสำคัญอยู่ในจารึกวัดศรีชุม สมัยอาณาจักรสุโขทัยว่าพระเจ้าแผ่นดินนครธมสมัยนั้น (สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง[4]: 43 ) พระราชทานพระขรรค์ชัยศรีให้พ่อขุนผาเมืองแห่งกรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัย พร้อมด้วยธิดานามว่าสุขรมหาเทวี ให้เป็นชายา พระแสงขรรค์ชัยศรีจึงตกเป็นพระราชสมบัติของพ่อขุนผาเมือง

ปรากฏคำจารึกในศิลาจารึกวัดศรีชุม (จารึกหลักที่ 2) ความว่า:-

นามเดิมกมรแดงอัญผาเมือง ๐ เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวีกับขรรค์ชัยศรี ให้นามเกียรติ์แก่พ่อขุนผาเมืองเหียม[4]: 43 

ส่วนคำจารึกวัดป่ามะม่วง (พ.ศ. 1904) อักษรไทยสุโขทัยและอักษรขอมสุโขทัยกล่าวว่า พระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)[5]: 190 

สมัยอยุธยานับตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนาอาณาจักรอยุธยาเมื่อปีขาล พ.ศ. 1893[6] พระแสงขรรค์ชัยศรีจึงเป็นสมบัติกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าทรงมอบเวนราชสมบัติรวมทั้งพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่สมเด็จเจ้าฟ้าไชยขณะทรงพระประชวรก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 3 วัน ณ พระที่นั่งเบญจรัตน์มหาปราสาทเมื่อจุลศักราช ๑๐๑๗ ปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2198)[7] จวบจนรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เบญจราชกกุธภัณฑ์ก็ได้หายสาบสูญไป รวมทั้งพระแสงขรรค์ชัยศรีซึ่งท้ายสุดไปตกจมอยู่ในโตนเลสาบ ที่เมืองจังหวัดเสียมราฐ ประเทศสยาม ในสมัยนั้น[8] คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระแสงขรรค์ชัยศรีที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นพระแสงขรรค์ที่ได้สืบมาจากพระเจ้าปทุมสริยวงศ์ ผู้สร้างพระนครวัดนครธม[9]

เมื่อ พ.ศ. 2327 ชาวประมงได้ทอดแหแล้วเห็นพระขรรค์องค์นี้เห็นว่ายังอยู่ในสภาพดีไม่เกิดสนิมผุกร่อนมากมายนักทั้งยังมีลักษณะประณีตเกินกว่าจะเป็นของสามัญชน[2] ชาวประมงผู้นั้นจึงนำมอบให้แก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองเสียมราฐ แล้วจึงได้ให้ข้าราชการนำพระแสงขรรค์ไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[10] ในวันที่เชิญพระแสงองค์นี้เข้าใกล้เขตพระราชฐาน ได้เกิดฟ้าผ่าในพระนครในระหว่างทางเชิญพระแสงถึง 7 แห่ง[8] และเขตพระบรมมหาราชวัง 2 แห่ง[11] เช่นที่ประตูวิเศษไชยศรี เขตพระราชฐานชั้นนอก ประตูพิมานไชยศรี เขตพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญพระแสงองค์นี้เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง[12] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพพนม และทำสักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีเสร็จแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2328[5]: 199  แล้วพระราชทานนามพระแสงขรรค์เล่มนี้ว่า พระแสงขรรค์ชัยศรี[13]: 18 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิเคราะห์ว่าพระแสงขรรค์ชัยศรีองค์ปัจจุบันเป็นฝีมือขอมสร้างขึ้นในสมัยที่ขอมมีอํานาจมาก และยังทรงพบพระแสงขรรค์ของเขมรที่ลักษณะเดียวกับพระแสงขรรค์ชัยศรีของไทยที่พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคลเมื่อคราวเสด็จไปประเทศกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2467[14]: 8  พระแสงขรรค์ของเขมรมีตำนานว่าพระอินทร์นําพระแสงขรรค์ลงมาประทานพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นพระแสงศาสตราวุธที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีที่สำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีศรีสัจปานกาล (หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา) พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น[14]: 8 [13]: 15, 19 

อย่างไรก็ตาม พระแสงขรรค์ชัยศรีองค์ปัจจุบันของไทยไม่ใช่ขรรค์ชัยศรีองค์เดียวกับที่พระเจ้าแผ่นดินนครธมพระราชทานแก่พ่อขุนผาเมือง พระแสงขรรค์ของพ่อขุนผาเมืององค์ดังกล่าวเป็นเพียงองค์พระแสงจําลองเท่านั้น[13]: 16  เฉกเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เจ้าเมือง หากแต่พระแสงขรรค์ชัยศรีที่อยู่ในไทยซึ่งหายสาบสูญไปในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ที่ถูกพบที่ทะเลสาบ จังหวัดเสียมราฐ ประเทศสยาม ซึ่งเคยเป็นของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ราชวงค์ขอมนั้นเป็นองค์จริง[2][13]: 5  แต่ราชวงค์ขอมที่เคยรักษาพระแสงขรรค์องค์นี้ก็ได้สูญสิ้นให้แก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อคราวการศึกระหว่างขอมกับอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1974[13]: 18 

ต่อมากรุงศรีอยุธยาได้สนับสนุนชาวเขมรพื้นเมืองให้มีอำนาจคอยควบคุมกำจัดราชวงค์ขอมถึงกับให้เขมรได้ให้ครองบัลลังก์แทนราชวงค์ขอม[13]: 18  น่าเชื่อว่าทายาทของราชวงค์ขอมเดิมคงพยายามรักษาพระแสงขรรค์องค์นี้ไว้ เห็นว่าระหกระเหินไปในที่ต่าง ๆ จนไปถึงเมืองเสียมราฐ ผู้ครองสิทธิ์พระแสงขรรค์คนสุดท้ายเห็นว่าคงไม่สามารถรักษาไว้ได้อีก แต่เพื่อไม่ให้ตกไปเป็นของผู้อื่นจึงได้ซ่อนพระแสงขรรค์ไว้ในทะเลสาบ คอยโอกาสที่ราชวงค์ขอมมีอำนาจอีกครั้งเพื่อมากู้คืน แต่ปรากฏว่าราชวงค์ขอมกลับสูญสิ้นไม่มีอำนาจราชบังลังก์เหนือเขมรได้อีก นับว่าเป็นอภินิหารน่าประหลาดอย่างยิ่งที่พระแสงขรรค์ชันศรีองค์นี้กลับตกเป็นสิทธิ์ของราชวงศ์จักรี[13]: 17 

ลักษณะ[แก้]

สมัยอยุธยาตอนปลาย[แก้]

พระแสงขรรค์สวมสักแล้วมีความประมาณ 100 ซม. (2 ศอก) ที่โคนพระขรรค์เป็นเหล็กจำหลักเป็นหน้าราหูต่อขึ้นมาเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแล้วขึ้นมาเป็นหน้าเทวดาอีกองค์หนึ่ง คร่ำทองที่ลายจำหลักยาวตลอดจนองค์พระขรรค์ ส่วนฝักเป็นทองเกลี้ยงจำหลักเป็นลายเรื่องพระนารายณ์ เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย[14]: 8 

สมัยรัตนโกสินทร์[แก้]

ลักษณะเป็นพระแสงขรรค์เหล็กเนื้อดีคร่ำทอง เฉพาะองค์พระแสงขรรค์ยาว 64.5 ซม. ความกว้างฝักพระแสงขรรค์ 5.5 ซม. ความยาวพระแสงขรรค์ 25.4 ซม สวมสักแล้วมีความยาว 101 ซม. เมื่อรวมความยาวทั้งด้ามและฝักมีความยาวทั้งสิ้น 115 ซม. และมีน้ำหนักรวม 1,900 กรัม[14]: 8 [5]: 199  ใบพระขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคมทั้งสองด้าน ส่วนด้ามทำด้วยแก้วผลึกรูปแปดเหลี่ยม มีทองคาดตามแนวปลายด้ามทำเป็นหัวเม็ดรูปหกเหลี่ยมประดับพลอย ตัวฝักทำด้วยทองคำประดับด้วยลายรักร้อย โคนพระแสงขรรค์จำหลักเป็นรูปเทวดาในเรือนแก้วซ้อนกัน 3 ชั้นคร่ำด้วยทองคำ ฝักจําหลักลวดลายเทพนม ขอบฝักทำเป็นลายกระหนก ประดับอัญมณีสีต่าง ๆ เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์[14]: 8 

วัสดุที่ใช้ทำ[แก้]

สมัยโบราณกาล การจัดสร้างพระแสงนั้น ผู้สร้างจะเลือกโลหะหรือแร่ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพื่อสร้างเป็นพระแสงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เกรงขามของศัตรู โดย ช่างตีดาบหลวง จะนำเนื้อโลหะต่างชนิดนำมาถลุงหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวเพื่อตีขึ้นรูปดาบ จึงเกิดเป็นสูตรของโลหะ 3 ประเภท6 คือ เบญจโลหะ คือ เนื้อโลหะที่หลอมรวมจากเหล็ก 1 ปรอท 1 ทองแดง 1 เงิน 1 และทองคำ 1 สัตโลหะ คือ เนื้อโลหะที่หลอมรวมจากเหล็ก 1 ปรอท 1 ทองแดง 1 เงิน 1 ทองคำ 1 เจ้าน้ำเงิน 1 (ปกติเรียก “เจ้า” เป็นแร่ชนิดหนึ่งสีเขียวเหลือบน้ำเงิน) และสังกะสี 1 นวโลหะ คือ เนื้อโลหะถึง 9 ชนิด คือ เหล็ก 1 ปรอท 1 ทองแดง 1 เงิน 1 ทองคำ 1 เจ้าน้ำเงิน 1 สังกะสี 1 ชิน 1 (โลหะผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว มีสีเงาวาวมาก และมีน้ำหนักมากเช่นกัน) และทองแดงบริสุทธิ์ 1[15]

ต่อมามีการค้นพบโลหะอีกประเภทหลังจากได้มีการคิดค้นสูตรโลหะทั้ง 3 แล้ว กล่าวกันว่าเป็นโลหะที่ดีมีคุณสมบัติสำหรับการทำอาวุธที่สุด คือ “เหล็กน้ำพี้” เพราะ เหล็กน้ำพี้ เป็นโลหะที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม เมื่อนำมาหลอมตีเป็นดาบจะมีสีเขียวเหลือบดังปีกแมลงทับ มีความคมและยืดหยุ่นได้ในตัวเอง เมื่อนำมาฟันกระทบกับของแข็ง ทำให้ไม่บิ่น ไม่งอ ไม่ทำปฏิกิริยากับอากาศ และไม่ก่อให้เกิดสนิม และเสื่อมคม แหล่งที่มาของแร่โลหะนี้ คือ บ่อน้ำพี้[16]

น้ำพี้” เป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีแหล่งแร่เหล็กกล้าที่มีความบริสุทธิ์ของเนื้อเหล็กโดยธรรมชาติสูง จึงนิยมนำมาทำเครื่องใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว มีการสันนิษฐานกันว่า ดาบรบที่สร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามีการตีดาบเหล็กน้ำพี้ใช้สำหรับทำอาวุธใช้ในสงคราม ต่อมามีการสงวนไว้สำหรับใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ โดยบ่อที่นำมาทำพระแสงดาบเรียกว่า “บ่อพระแสง” และบ่อที่นำมาทำพระขรรค์เรียกว่า “บ่อพระขรรค์[17]

นอกจากการเลือกโลหะสำหรับนำมาทำดาบแล้ว กรรมวิธีในการตีดาบยังเป็นเรื่องที่คนสมัยโบราณให้ความสำคัญ หากเป็นดาบเพื่อใช้ในการศึกสงครามแล้วจะใช้พิธีทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับพระแสงดาบของพระมหากษัตริย์ จะมีการตกแต่งประดับประดาพระแสงดาบด้วยโลหะ อัญมณีที่มีค่า การสร้างลวดลายต่าง ๆ และการลงสีให้มีความวิจิตรงดงาม เพื่อการใช้เป็นเครื่องประกอบยศ และพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่[5]: 199–200 

กล่าวได้ว่า ในอดีต พระแสงดาบมีความสำคัญในฐานะที่เป็นราชศัสตราวุธคู่กายของพระมหากษัตริย์ และเป็นอาวุธที่ใช้ในยามศึกสงคราม ต่อมาได้มีการพัฒนาอาวุธที่มีความทันสมัยขึ้น ทำให้พระแสงดาบจึงค่อย ๆ ลดบทบาทลง ในปัจจุบันพระแสงดาบจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์และเครื่องหมายของพระมหากษัตริย์ ที่ใช้ประกอบยศและใช้ประกอบใน พระราชพิธีสำคัญ ๆ

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. กรมศิลปากร. (2526). "ขรรค์ชัยศรี - พระแสง", อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย: อักษร ข. กรุงเทพฯ: ยูไนเต็ด. หน้า 23–25.
  2. 2.0 2.1 2.2 ยุพร แสงทักษิณ. (2539). เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 55 หน้า. ISBN 978-974-0-08005-3
  3. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2564). สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ: บันทึกสยาม. หน้า 145–146. ISBN 978-616-4-41816-5
  4. 4.0 4.1 ศานติ ภักดีคำ. (2554). "ขอมสบาดโขลญลำพง : เขมรรบสุโขทัย?", เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ: มติชน. 339 หน้า. หน้า 43. ISBN 978-974-0-20810-5
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. (2562). "พระแสงขรรค์ชัยศรี", แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. ISBN 978-616-4-41530-0
  6. ดนัย ไชยโยธา, บุญเทียม พลายชมภู และสุชาดา ใจตาม. (2543). ๕๓ พระมหากษัตริย์ไทย ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 61. ISBN 978-974-2-77751-7
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน. พระนคร: คลังวิทยา, 2514. หน้า 364.
    • ไพโรจน์ โพธิ์ไทร. (2530). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ภาษาไทยสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 163 หน้า. หน้า 61. อ้างใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). หน้า 360.
  8. 8.0 8.1 ราชบัณฑิตยสถาน. (2549). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. หน้า 10.
    • อนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), พระยา. (2516). สารานุกรมของเสฐียรโกเศศ. พระนคร: บรรณาการ. 344 หน้า. หน้า 156.
  9. กำพล จำปาพันธ์. "เครื่องทองอยุธยา เจ้าสามพระยา และโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์", ศิลปวัฒนธรรม, 44(6)(เมษายน 2566):83, เชิงอรรค ๑๖. อ้างใน คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2546. หน้า 6–7.
  10. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมิวเซียมสยาม. (2560). เสด็จสู่แดนสรวง: ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ: ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. 400 หน้า. หน้า 118.ISBN 978-616-3-95872-3
  11. กรมศิลปากร, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2525). ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔) เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 564 หน้า. หน้า 215. ISBN 978-974-7-77526-6
    • คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี. (2512). วารสารแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี, 3(2512): 84.
  12. ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์. (2560). "ป้อม คลองคู ประตูเมือง", เล่าเรื่องเมืองไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ: กองบัญชาการกองทัพไทย. 241 หน้า. หน้า 200. ISBN 978-616-6-03110-2
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 กระทรวงมหาดไทย. (2509). พระแสงราชศัสตรา. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก มังกร พรหมโยธี ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง. 172 หน้า.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 ราชบัณฑิตยสถาน. (2549). "ขรรค์ชัยศรี, พระแสง", สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม) เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
  15. ราชบัณฑิตยสถาน. (2526). พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม อักษร ก-ช ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. หน้า 92.
  16. พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567.
  17. กรมศิลปากร. (2549). นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. 400 หน้า. หน้า 282. ISBN 978-974-4-25049-0