ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74
74th FIFA Congress
ประเทศ ไทย
วันที่13–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
สถานที่จัดงานศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เมืองกรุงเทพมหานคร
ผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน
ประธานจันนี อินฟันตีโน
เว็บไซต์www.fifa.com/about-fifa/congress
ประเด็นสำคัญ

การประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 (อังกฤษ: 74th FIFA Congress) เป็นการประชุมฟีฟ่าคองเกรส สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 74 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีผู้บริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัวแทนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่า จำนวน 211 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนักฟุตบอลระดับโลก (FIFA Legend) มาประชุมกันเป็นจำนวนมากกว่า 3,000 คน มีวาระสำคัญคือ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิงในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส และผลคือประเทศบราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพรายการดังกล่าว

ภูมิหลัง[แก้]

ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่าจะจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรสในประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการใหญ่ของปีนั้น ๆ อยู่แล้ว แต่ในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 73 ที่เมืองคิกาลี ประเทศรวันดา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นการประชุมครั้งแรกที่ฟีฟ่าเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรสครั้งถัด ๆ ไปได้ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้น ที่นำทีมงานเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จึงได้ยื่นเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมฟีฟ่าคองเกรสในครั้งถัดไป[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สภาฟีฟ่าได้อนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกำหนดวันประชุมไว้เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[2]

ด้านหน้าของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สถานที่จัดประชุมหลักในฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 คือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเคยใช้จัดการประชุมเอเปค 2022 เมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังได้นำจันนี อินฟันตีโน ประธานฟีฟ่า เข้าเยี่ยมชมและตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว[1]

การประชุมฟีฟ่าคองเกรสครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ประเทศที่ 6 ที่ได้จัดการประชุม ต่อจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, กาตาร์ และบาห์เรน[3]

การจัดประชุม[แก้]

กำหนดการประชุม[แก้]

การประชุมหลักของฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 จัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 09.10 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร[4] โดยมีวาระสำคัญ คือ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027[5] ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิงในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส โดยผลการประชุมคือบราซิลได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพรายการดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดฟุตบอลโลกหญิงในภูมิภาคอเมริกาใต้

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการป้องกันความรุนแรงจากคตินิยมเชื้อชาติ[6] ซึ่งประธานฟีฟ่ามอบหมายให้สหพันธ์ฟุตบอลทั้ง 6 แห่งในสังกัด นำเสนอแผนบริหารจัดการประเด็นนี้ในการประชุม[7] อีกทั้งยังมีหัวข้ออื่น ๆ เช่น การรับรองรายงานประจำปี พ.ศ. 2566[5], การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568[4], การรับรองการปรับความถี่ของฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และฟุตบอลโลกหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี จากทุกสองปีเป็นทุกปี[6], การให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับฟีฟ่าให้สามารถย้ายสำนักงานใหญ่ออกนอกซือริชได้ และการเพิ่มกรรมการสภาฟีฟ่าจาก 7 เป็น 35 คน[8] เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์ ได้เสนอที่ประชุมให้มีการลงโทษแบนสมาคมฟุตบอลอิสราเอล อันเนื่องมาจาก สงครามอิสราเอล–ฮะมาส โดยประธานฟีฟ่ามอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการด้านกฎหมายที่เป็นอิสระ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอในการประชุมสมัยพิเศษของสภาฟีฟ่า ที่จะมีขึ้นก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ต่อไป[9][10][11]

อนึ่ง ก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมสภาฟีฟ่าในวันที่ 15 พฤษภาคม ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น[12] และการประชุมสภาสามัญของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ในวันถัดมา[13]

การสนับสนุนจากรัฐบาล[แก้]

ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำให้กับคณะกรรมการบริหารฟีฟ่าและผู้เข้าร่วมประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 ณ ทำเนียบรัฐบาล[14]

กิจกรรมอื่น ๆ[แก้]

ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ฟีฟ่าได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ FIFA Congress Delegation Football Tournament ณ ราชกรีฑาสโมสร โดยมีอดีตนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วม เช่น กาฟู, ชิลเบร์ตู ซิลวา, เวสลีย์ สไนเดอร์[15] รวมถึงบุคคลสำคัญจากประเทศไทยทั้งในวงการกีฬาและการเมืองร่วมแข่งขัน เช่น ชาญวิทย์ ผลชีวิน, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น[16]

ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 อินฟันตีโนเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[17]

ผู้นำที่เข้าร่วมประชุม[18][แก้]

คณะกรรมการสภาฟีฟ่า[แก้]

ผู้แทนประเทศสมาชิกฟีฟ่า[แก้]

ผู้แทนรัฐบาล[แก้]

ผู้แทนนักฟุตบอล[แก้]

การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027[แก้]

ประเทศ คะแนนโหวต[20]
ธงของประเทศบราซิล บราซิล 119
ธงของประเทศเบลเยียม เบลเยียม, ธงของประเทศเยอรมนี เยอรมนี และ ธงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ 78
งดออกเสียง 10
จำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 207
เสียงข้างมากที่ต้องการ 104

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "สมาคมบอล เตรียมงานใหญ่เสนอตัวเจ้าภาพประชุมใหญ่ฟีฟ่า - เชื่อสร้างเม็ดเงินมหาศาล". ข่าวสด. 16 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2024.
  2. "ไทยได้เป็นเจ้าภาพ FIFA Congress 2024 ศูนย์สิริกิติ์-โรงแรมเฮ รับผู้ร่วมงานหลายพันคน". ประชาชาติธุรกิจ. 24 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2024.
  3. ""มาดามแป้ง" ขอบคุณรัฐบาล สนับสนุนจัด "ฟีฟ่า คองเกรส" ครั้งที่ 74 ที่ไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 15 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2024.
  4. 4.0 4.1 Agenda of the 74th FIFA Congress
  5. 5.0 5.1 "FIFA Council takes key decisions ahead of the 74th FIFA Congress". inside.fifa.com (ภาษาอังกฤษ).
  6. 6.0 6.1 Under-17 World Cups to be held every year from 2025, says FIFA
  7. "FIFA President tells CONMEBOL Ordinary Congress "protecting football's values" is crucial". inside.fifa.com (ภาษาอังกฤษ).
  8. "Brazil chosen to host 2027 Women's World Cup as Gaza war overshadows FIFA congress". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2024-05-17.
  9. FIFA Congress to choose Women's World Cup host, seek racism penalties
  10. "FIFA to seek legal advice on a Palestinian proposal to suspend Israel from international soccer". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2024-05-17.
  11. "FIFA ปัดลงมติโหวตแบนอิสราเอลภายในที่ประชุม FIFA Congress ที่ไทย ยืนยันให้ฝ่ายกฎหมายทำงานก่อน". THE STANDARD. 2024-05-17.
  12. Boonwanit, Wootinon. "ตำนานโลกถึงไทย 'เวรอน' ขึ้นรถตุ๊กๆ, 'ฟิโก-เซดอร์ฟ' ก็มา". เดลินิวส์.
  13. "'มาดามแป้ง'ร่วมประชุม 'AFC Ordinary Congress' กับสมาชิก47ประเทศ". 2024-05-16.
  14. นายกฯ เปิดทำเนียบต้อนรับคณะผู้บริหารจาก FIFA เน้นย้ำความสำคัญของฟุตบอลที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน ส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม และมิตรภาพของคนในสังคม
  15. "รวมตำนานของโลก! "มาดามแป้ง" ร่วมชมฟุตบอลนัดพิเศษ-ฟีฟ่า ให้เกียรติมอบถ้วยแชมป์". mgronline.com. 2024-05-16.
  16. Phongsawat, Pittiyaporn. "เทพล้วนๆ! ชมภาพชุดตำนานแข้งโลกดวลแข้งฟุตบอลพิเศษในไทย". เดลินิวส์.
  17. "ปธ.ฟีฟ่า ร่วมเปิดอาคารสมาคมฟุตบอลฯ พร้อมจัดกิจกรรมฟุตบอลคลีนิก". มติชน. 17 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "ไทยเจ้าภาพประชุม "FIFA Congress ครั้งที่ 74" วันที่ 15-17 พ.ค.67". ฐานเศรษฐกิจ. 15 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. Boonwanit, Wootinon. "'ฟีฟ่า'แจงเหตุต้องเพิ่มทีมบอลโลก - เตรียมจัดรายการอีก". เดลินิวส์.
  20. Brazil declared host of 2027 Women's World Cup at FIFA Congress

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 ถัดไป
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 73 การประชุมฟีฟ่าคองเกรส
(13–17 พฤษภาคม ค.ศ. 2024)
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 75