ข้ามไปเนื้อหา

มงกุฎแห่งอินเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มงกุฎแห่งอินเดีย
Imperial Crown of India

รายละเอียดของมงกุฎ
รายละเอียด
สำหรับ อินเดีย
ผลิตเมื่อค.ศ. 1911
ผู้ครอบครองพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
น้ำหนักสุทธิ0.97 กิโลกรัม
จำนวนโค้ง4 โค้ง
วัตถุดิบหลักเงินเคลือบทองคำ
วัสดุซับในกำมะหยี่สีม่วง กรุขอบด้วยขนเออร์มิน
อัญมณีสำคัญมรกต, ทับทิม, แซฟไฟร์, เพชร

มงกุฎแห่งอินเดีย หรือ อิมพิเรียลคราวน์แห่งอินเดีย (อังกฤษ: The Imperial Crown of India) เป็นมงกุฎประจำสำหรับประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งมีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งอินเดีย ซึ่งใช้ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของจักรวรรดิอินเดีย มงกุฎองค์นี้เก็บรักษารวมกันกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร แต่มิถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์

ประวัติ[แก้]

มงกุฎองค์นี้สร้างขึ้นสำหรับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งมีพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งอินเดีย เพื่อใช้ในพิธีบรมราชภิเษกเป็นจักรพรรดิ (พิธีเดลี ดูร์บา) ในปีค.ศ. 1911 โดยความจำเป็นเนื่องจากความเชื่อที่ว่ามงกุฎและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของสหราชอาณาจักรจะไม่สามารถออกจากแผ่นดินของสหราชอาณาจักรได้

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5และสมเด็จพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงเดลีเพื่อพระราชพิธีบรมราชภิเษกเป็นจักรพรรดินี้ เพื่อแสดงพระองค์ต่อหน้าเจ้าชายแห่งอินเดียพระองค์ต่างๆ แต่เพียงแค่พระองค์และสมเด็จพระราชินีนั้นไม่ได้ถูกสวมมงกุฎในระหว่างพระราชพิธี เนื่องจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ในขณะนั้น คิดว่าไม่เหมาะสมที่จะทำพิธีอย่างชาวคริสเตียนในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและมุสลิม และนอกจากนั้น พระราชพิธีบรมราชภิเษกที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษนั้นถือว่าเป็นการเสวยราชย์สำหรับอาณาเขตหรือแผ่นดินต่างๆภายในจักรวรรดิในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ในพระราชพิธี พระองค์เพียงทรงมงกุฎนี้ในขณะเสด็จพระราชดำเนินเข้าบริเวณพิธี และพระราชพิธีนั้นเป็นเพียงการประกาศถึงพระราชพิธีบรมราชภิเษกที่เกิดขึ้นไปแล้วในอังกฤษ

ช่างเพชรแห่งพระราชสำนัก ได้แก่ บริษัท การ์ราร์ด แอนด์ โค ได้สร้างมงกุฏองค์นี้ด้วยราคาประมาณ £60,000 (หรือ £4,530,137 ในปีค.ศ. 2013) ด้วยน้ำหนักกว่า 34.05 ออนซ์ (0.97 กิโลกรัม) ประกอบด้วยอัญมณีต่างๆ ได้แก่ มรกต, ทับทิม, แซฟไฟร์, เพชร 6,100 เม็ด และทับทิบขนาดใหญ่ 1 เม็ด ซึ่งมงกุฎองค์นี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5ทรงปรารภว่ามีน้ำหนักมาก ภายหลังจากทรงในพระราชพิธีแล้ว[1] ต่อมามงกุฎองค์นี้ไม่เคยถูกทรงอีกเลยโดยพระมหาษัตริย์ของสหราชอาณาจักร

การออกแบบ[แก้]

แบบโดยรวมของมงกุฎองค์นี้มีลักษณะคล้ายกับมงกุฎแห่งสหราชอาณาจักรองค์อื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยโครงทรงกลมทำจากเงินชุบทองคำประดับสี่ด้านด้วยกางเขนแพตตี้ สลับกับดอกเฟลอร์เดอลิส (ดอกลิลลี่) ยกเว้นแต่บริเวณโค้งด้านบน ซึ่งปกติจะรวมกันบริเวณฐานของลูกโลกทรงกลมซึ่งอยู่ด้านบน และปิดยอดด้วยกางเขนหลัก แต่องค์นี้นั้นเป็นโค้งซึ่งรวมปลายยอดมารวมกันอย่างอ่อนช้อยตามศิลปะแบบเอเซีย ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับองค์อื่นๆ

นอกจากนี้มงกุฎองค์นี้ เป็นเพียงองค์เดียวที่มีโค้งจำนวน 8 โค้ง (หรือ 4 ครึ่งวงกลมตัดกัน) ในแบบของยุโรปภาคพื้นทวีป ซึ่งปกติแล้วธรรมเนียมของอังกฤษจะมีเพียงแค่ 4 โค้ง โดยความแตกต่างนี้ยังถือเป็นเชิงสัญลักษณ์อีกด้วย เนื่องจากมงกุฎองค์นี้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างมงกุฎประจำพระอิสริยยศพระจักรพรรดิ กับพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์

ในปัจจุบัน มงกุฎแห่งอินเดีย ได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่หอคอยแห่งลอนดอน เคียงข้างกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]