ฉบับร่าง:ลัดดา ศรีวรนันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ลัดดา ศรีวรนันท์)
ลัดดา ศรีวรนันท์
เกิดพ.ศ. 2479
ที่เกิดจังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 (49 ปี)
แนวเพลงเพลงไทยสากล
เพลงลูกทุ่ง
ช่วงปีพ.ศ. 2495 - 2528

"ลัดดา ศรีวรนันท์" นักร้องที่มีชื่อเสียงในอดีต ในยุคก่อนปีพ.ศ.2500 ต้นฉบับเพลง "ทะเลร่ำไห้" "มัสยาหลงเหยื่อ" "โอ้ทูลกระหม่อมเอย" เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

ลัดดา ศรีวรนันท์ เกิดเมื่อพ.ศ.2479 ที่ฝั่งธนบุรี เป็นชาวมุสลิม เข้าศึกษาที่โรงเรียนศึกษานารี ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก โดยมีนักร้องในดวงใจ คือ มัณฑนา โมรากุลแห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อเธอได้ยินเสียงเพลงของมัณฑณาจากวิทยุเธอก็จะร้องคลอตามไปด้วยทุกครั้ง จนได้รับฉายาว่า "ไอ้ดาเสียงดัง" ในทุกครั้งที่โรงเรียนจัดประกวดร้องเพลงต้องมีชื่อลัดดา ศรีวรนันท์ร่วมด้วยเสมอ[1]

เข้าสู่วงการ[แก้]

ในปีพ.ศ.2495 ขณะที่ลัดดากำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครูนคร มงคลายนนักร้องชื่อดังในสมัยนั้น ได้จัดงานแข่งขันประกวดร้องเพลงขึ้นที่โรงหนังพัฒนากร พี่ชายเห็นแววในตัวน้องสาวจึงพาเธอมาสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน เธอเลือกเพลง"บัวกลางบึง"เข้าประกวด ซึ่งการขึ้นเวทีของเธอในครั้งนั้นไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีเท่าไหร่นักเพราะรูปร่างหน้าตาที่ไม่ได้สะสวยของเธอทำให้ผู้ชมต่างไม่ต้อนรับนักร้องประกวดคนนี้แต่เมื่อเธอเปล่งเสียงร้องออกมาเพียงพยางค์แรกเสียงโห่จากผู้ชมที่ไม่ต้อนรับเธอเปลี่ยนเป็นเสียงปรบมือดังเกรียวกราว คะแนนของเธอนำนักร้องประกวดท่านอื่นไปอย่างลิบลิ่วได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้าสู่รองชิงชนะเลิศทันที โดยกรรมการในครั้งนั้นต่างเป็นนักร้อง นักประพันธ์เพลง ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น อาทิ สมยศ ทัศนพันธ์ ป.ชื่นประโยชน์ มงคล อมาตยกุล

ระหว่างรอประกวดรอบชิงชนะเลิศ สมยศ ทัศนพันธ์ หนึ่งในกรรมการประกวดได้ขึ้นมาร้องเพลง"แดนมธุรส"สลับฉาก ลัดดาที่ได้ฟังเกิดชอบเพลงนี้มากจึงขอกับครูสมยศ ทัศนพันธ์ ว่าอยากได้เพลงนี้เข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศ ด้วยความเมตตาครูสมยศอนุญาตให้เธอใช้เพลงนี้และเป็นคนต่อเพลงให้เธอแม้จะมีเวลาเหลือเพียงน้อยนิด และเพลงนี้เองทำให้เธอได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนั้น (วงจันทร์ ไพโรจน์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่1 และประเทือง บุญประพันธ์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่2)

หละงจากการประกวด ครูสมยศได้พาเธอไปบันทึกเสียงเพลง"แดนมธุรส"เนื่องจากการบันทึกเสียงครั้งนั้นเป็นครั้งแรกของเธอทำให้เธอมีความประหม่าและตื่นเต้นมาก ต้องร้องถึง 30 เที่ยวจึงใช้ได้ แต่เมื่อแผ่นเสียงเพลงนี้ถูกกวางจำหน่ายก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงคุ้มค่าเหนื่อยไปตามๆกัน ชื่อของลัดดา ศรีวรนันท์ก็เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จนเมื่อปีพ.ศ.2500 ลัดดาได้วางไมค์หันหลังให้กับวงการเพื่อไปใช้ชีวิตครอบครัว[2]

ตัวอย่างผลงาน[แก้]

  • แดนมธุรส (เพลงแรกในชีวิต)
  • มัสยาหลงเหยื่อ (ต้นฉบับ)
  • ทะเลร่ำไห้ (ต้นฉบับ)
  • โอ้ทูลกระหม่อมเอย (ประกอบภาพยนตร์เรื่องเจ้าฟ้าอภัยทศพ.ศ.2498)
  • รักในสายเลือด
  • อาณาจักรใจ
  • ใฝ่สูง
  • รอยรักรอยทราย
  • ชีวิตลำเค็ญ (ประกอบภาพยนตร์เรื่องมารรักพ.ศ.2516)
  • รักนิรันดร
  • รุ้งทองฟ่องฟ้า
  • ม่านประเพณี

ด้วยความที่เธอเป็นคนเสียงดีครูเพลงหลายๆท่านต่างก็อยากแต่งเพลงให้ลัดดา ศรีวรนันท์ ขับร้อง คุณลัดดาจึงไม่มีสังกัดวงดนตรี โดยห้างแผ่นเสียงที่บันทึกเสียงบ่อยมากที่สุด คือ ห้างแผ่นเสียงตราค้างคาว DCJ (D. COUPER JOHNSTON)และครูเพลงที่ร่วมงานด้วยมากที่สุดคือครูไพบูลย์ บุตรขัน[3]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

ในช่วงหลังลัดดามีปัญหาในการใช้ชีวิตคู่มีเหตุให้ต้องเลิกรากัน เธอได้หาเลี้ยงลูกทั้ง 3 คนเพียงลำพังจนทำให้เธอเริ่มเกิดอาการเครียดสะสม ต่อมาคุณมัณฑนา โมรากุลนักร้องในดวงใจของเธอเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องมารรักเมื่อปีพ.ศ.2516 จึงเชิญให้เธอมาร้องเพลงชีวิตลำเค็ญประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อภาพยนตร์ออกมาฉายชื่อเสียงของเธอจากการขับร้องเพลงนี้ก็กลับมาโด่งดังอีกครั้ง โดยวงจันทร์ ไพโรจน์ชักชวนให้เธอมาร้องเพลงประจำที่ห้องอาหารตาลเดี่ยวที่ย่านบางเขนทำให้ทุกอย่างที่รุมเร้าคลายลง

แต่แล้วเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 อาการโรคประสาทของเธอเกิดกำเริบขึ้นอีกอย่างกะทันหัน ลูกๆทั้งสามของเธอไม่มีใครทำอะไรถูก เธอได้สิ้นใจในประมาณสี่โมงเย็นของวันนั้นเองโดยไม่มีใครคาดคิด ร่างของเธอถูกนำไปฝังที่สุเหร่าสี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528

อ้างอิง[แก้]