สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

พิกัด: 13°45′37″N 100°30′06″E / 13.76016°N 100.501664°E / 13.76016; 100.501664
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
Royal Dhamma Studies Office

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้งพ.ศ. 2471
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่ไทย
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
ต้นสังกัดหน่วยงานมหาเถรสมาคม
เว็บไซต์www.gongtham.net

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง (อังกฤษ: Royal Dhamma Studies Office[1]) คู่กับสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์ไทย เป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของมหาเถรสมาคมซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย มีหน้าที่หลักคือดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษา ชั้นตรี โท เอกของชาติ[2] และจัดให้มีการสอบไล่วัดผลประจำปีตามหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาที่เปิดสอนไปทั่วราชอาณาจักรไทยและต่างประเทศ

ประวัติ[แก้]

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 2 แผนกด้วยกัน คือแผนกบาลี และแผนกธรรม ซึ่งแผนกธรรมดูแลโดยแม่กองธรรม ก่อตั้งขึ้นตามดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการศึกษาส่วนของพระธรรมวินัยในภาษาไทย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพระภิกษุและสามเณรในการศึกษาพระธรรมคำสอนของศาสนาพุทธได้อย่างทั่วถึง ซึ่งแต่เดิมการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยจะใช้การศึกษาผ่านภาษาบาลีซึ่งเป็นสิ่งที่ยากสำหรับภิกษุและสามเณรทั่วไป ทำให้ขาดแคลนผู้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยทั้งในด้านการเผยแผ่ การปกครอง และการเทศนาให้กับประชาชน จึงได้มีการสร้างการเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทยหรือนักธรรมขึ้นมา เริ่มต้นสอนภิกษุสามเณรในวัดบวรนเิวศวิหารเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทรงรับหน้าที่ในการปกครองวัดบวรนิเวศวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2435 ประกอบไปด้วยการเรียนรู้ทั้งด้านหลักธรรม, พุทธประวัติ และพระวินัย รวมไปถึงการแต่งและแก้กระทู้ธรรม[3]

เมื่อทรงเห็นว่าผลการเรียนการสอนดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดี จึงมีแนวคิดที่จะนำวิธีการดังกล่าวไปใช้ให้แพร่หลายขึ้น เนื่องจากสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งขณะนั้นเองได้มีการประการใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124 ในปี พ.ศ. 2448 ที่ระบุว่าพระภิกษุทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ยกเว้นเฉพาะสามเณรที่มิได้รู้ธรรม ทางราชการจึงขอให้คณะสงฆ์กำหนดเกณฑ์การรู้ธรรมของสามเณรดังกล่าว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงได้กำหนดหลักสูตร "องค์สามเณรรู้ธรรม" ขึ้นมา ต่อมาได้ปรับปรุงหลักสูตรขึ้นมาเป็น "องค์นักธรรม" สำหรับภิกษุสามเณรชั้นนวกะ (ผู้บวชใหม่) ทั่วไป โดยได้รับพระบรมราชานุมัติในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2454 และโปรดให้มีการสอบส่วนกลางขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2454 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดมหาธาตุ และวัดเบญจมบพิตร ประกอบด้วย 3 รายวิชา ได้แก่ ธรรมวิภาคในนวโกวาท, การแต่งความแก้กระทู้ธรรม และแปลภาษามคธเฉพาะในท้องนิทานในอรรถกถาธรรมบท[3]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 ได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมให้กว้างขวางขึ้น เหมาะกับการศึกษาเรียนรู้ จึงได้แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร[3] คือ

  • อย่างสามัญ จัดการสอบเหมือนกันทั้งในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมือง แบ่งออกเป็น 2 ประโยค
    • ประโยค 1 ศึกษาเกี่ยวกับธรรมวิภาค และการเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยไม่ต้องซักที่มา
    • ประโยค 2 ศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติย่อ กับเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยซักที่มาจากหนังสือไทย

อย่างสามัญ หากสอบผ่านประโยค 1 จะได้รับยกเว้นการเกณฑ์ทหาร หากสอบผ่านอย่างสามัญทั้ง 2 ประโยค จะได้เป็น นักธรรม 2 ประโยค[3]

  • อย่าวิสามัญ จะจัดการสอบเฉพาะในกรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 2 ประโยค
    • ประโยค 1 ศึกษาถกถาธรรมบท มีการแก้อรรถด้วย
    • ประโยค 2 มีการเพิ่มบาลีไวยากรณ์และสัมพันธ์

อย่างวิสามัญ ผู้ที่สอบผ่านวิสามัญทั้งสองประโยค จะได้เป็น เปรียญ 2 ประโยค เทียบได้กับเปรียญปริยัติ (เปรียญบาลี) 3 ประโยค[3]

ในปี พ.ศ. 2456 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรองค์นักธรรมอีกครั้ง โดยเพิ่มหลักธรรมในหมวดคิหิปฏิบัติเข้าไปในธรรมวิภาค เพื่อประโยชน์หากจำเป็นต้องลาสิกขาไปเป็นฆราวาส เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี การศึกษารูปแบบใหม่นี้เป็นที่นิยมในหมู่ภิกษุและสามเณรเป็นอย่างมาก และเป็นที่นิยมในวงกว้าง ในระยะเวลา 2 ปีมีผู้เข้าร่วมสอบกว่าเกือบพันรูป ทำให้ต่อมามีการขยายระดับการศึกษานักธรรมให้ทั่วถึงสำหรับการศึกษาของพระภิกษุในทุกระดับ คือกำหนดหลักสูตร นักธรรมชั้นโท สำหรับพระภิกษุชั้นมัชฌิมะ คือพระที่มีพรรษาเกิน 5 แต่ไม่ถึง 10 และ นักธรรมชั้นเอก สำหรับภิกษุชั้นเถระ คือพระที่มีพรรษา 10 ขึ้นไป และเป็นหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานของคณะสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน[3]

เนื่องจากการศึกษานักธรรมเริ่มเป็นที่นิยมทั้งในคณะสงฆ์และในหมู่ข้าราชการ ซึ่งผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรมนั้นเมื่อลาสิกขาออกไปสามารถรับราชการครูได้ตามโรงเรียนต่าง ๆ ของรัฐ และสามารถได้สิทธิพิเศษในการสอบเลื่อนวิทยฐานะครูไม่ต้องสอบ 1 ชุดวิชา เนื่องจากประโยคนักธรรมชั้นตรีถือเป็นอีกชุดวิชาในการสอบเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้ในสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้พิจารณาให้อนุญาตให้ฆราวาส คือครูทั้งหญิงและชายสามารถร่วมสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ ผ่านการตั้งหลักสูตรสำหรับฆราวาสชื่อว่า "ธรรมศึกษาตรี" มีรายละเอียดเชี่ยนเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ได้เปลี่ยนไปใช้เนื้อหาเบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทนทีพระธรรมวินัยของภิกษุสงฆ์ โดยธรรมศึกษาตรีเปิดสอบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472[3] และได้รับความสนใจจากฆราวาสร่วมสอบเป็นจำนวนมาก[3]

จากผลตอบรับในการร่วมสอบธรรมศึกษาตรี ในปี พ.ศ. 2473 จึงได้มีการจัดตั้งหลักสูตร "ธรรมศึกษาโท" ขึ้นมา เพื่อขยายระดับการศึกษาของฆราวาสที่สนใจการศึกษานักธรรมซึ่งช่วยส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวาง โดยประกอบด้วย 3 วิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกับนักธรรมชั้นโท ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ โดยเริ่มสอบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2473[3]

คณะสงฆ์ได้จัดตั้งหลักสูตร "ธรรมศึกษาเอก" และเปิดให้ฆราวาสร่วมสอบในปี พ.ศ. 2478 โดยประกอบไปด้วย 3 วิชา เช่นเดียวกับนักธรรมชั้นเอก ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ[3]

การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในด้านพระธรรมวินัยได้มีการพัฒนามาตามลำดับนับตั้งแต่การเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2455 เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ในพระธรรมคำสอน เป็นศาสนทายาทในการสืบทอดคำสอนอย่างมีคุณภาพ โดยนับเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริญัติธรรมแผนกบาลีตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงสามารถเผยแผ่ไปยังฆราวาสซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธบริษัทซึ่งสนใจในพระธรรมวินัย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการดำรงรักษาพระพุทธศาสนาในอีกทาง[3]

รายชื่อแม่กองธรรมสนามหลวง[แก้]

ตราแม่กองธรรมในประกาศนียบัตร
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล) พ.ศ. 2470 พ.ศ. 2484
2 พระศรีสมโพธิ (เกษม ภทฺทธมฺโม) พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2488
3 พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสโภ) พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2491
4 พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) พ.ศ. 2491 พ.ศ. 2503
5 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) พ.ศ. 2503 พ.ศ. 2532
6 พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค) พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2542
7 สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2559
8 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) พ.ศ. 2559 ปัจจุบัน

การจัดการศึกษาในปัจจุบัน[แก้]

การสอบธรรมสนามหลวงประจำปี 2552 (ครั้งที่ 2) ในสำนักเรียนเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ สนามสอบวัดคลองโพธิ์

หลักสูตรนักธรรม (ภิกษุสามเณร)[แก้]

หลักสูตรนักธรรม เป็นหลักสูตรที่เปิดให้มีการเรียนการสอนเฉพาะนักบวชของศาสนาพุทธ คือ ภิกษุ และสามเณร[3]

นักธรรมชั้นตรี[แก้]

นักธรรมชั้นตรี ประกอบด้วย

  • การเรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือ พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1
  • ธรรมวิภาค ใช้หนังสือ ธรรมวิภาค เล่ม 1 และหนังสือ นวโกวาท
  • พุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติ และปฐมสมโพธิกถา
  • วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือ วินัยมุข เล่ม 1 และหนังสือนวโกวาท
  • ศาสนพิธี ใช้หนังสือ ศาสนพิธี เล่ม 1[4]

นักธรรมชั้นโท[แก้]

นักธรรมชั้นโท[3] ประกอบด้วย

  • การเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต กำหนดหัวข้อต่างกัน 2 หัวข้อ และเชื่อมโยงกันเป็นทำนองเทศน์ โดยอ้างอิงจากภาษิตอื่นจากอีก 2 แห่งห้ามซ้ำกัน
  • ธรรมวิภาค โดยใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ 2
  • ตำนาน (อนุพุทธประวัติ) โดยใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ, หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ (เฉพาะประวัติพระสาวก), หนังสือสังคีติกถา และหนังสือปฐมสมโพธิ
  • วินัยบัญญัติ ใช้หนังสือวินัยมุข เล่ม 12
  • ศาสนพิธี สำหรับชั้นโท[4]

นักธรรมชั้นเอก[แก้]

นักธรรมชั้นเอก[3] ประกอบด้วย

  • การเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอื่น เช่น มงคลวิเสสกถา กำหนดหัวข้อต่างกัน 3 หัวข้อ และเชื่อมโยงกันเป็นทำนองเทศน์ โดยอ้างอิงจากภาษิตอื่นจากอีก 3 แห่งห้ามซ้ำกัน
  • ธรรมวิภาค โดยใช้หนังสือธรรมวิจารณ, หนังสือสมถกรรมาน, หนังสือมหาสิตปัฎฐานสูตร และคิริมานนทสูตร
  • ตำนาน (พุทธานุพุทธประวัติ) โดยใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม 1-3 หนังสือปฐมสมโพธิ, หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ, หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา
  • วินัยบัญญัติ โดยใช้หนังสือวินัยมุข เล่ม 3[5]

หลักสูตรธรรมศึกษา (คฤหัสถ์)[แก้]

การสอบธรรมศึกษาสนามหลวงประจำปี 2551 ในสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา สนามสอบโรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา จังหวัดอุตรดิตถ์

หลักสูตรธรรมศึกษา เป็นหลักสูตรที่เปิดให้มีการเรียนการสอนในส่วนของคฤหัสถ์หรือฆราวาส ที่มีความสนในในพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัย[3]

ธรรมศึกษาตรี[แก้]

ธรรมศึกษาตรี ประกอบด้วย

  • การเรียงความแก้กระทู้ธรรม ใช้หนังสือ พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1
  • ธรรมวิภาค ใช้หนังสือ ธรรมวิภาค เล่ม 1 และหนังสือ นวโกวาท
  • พุทธประวัติ ใช้หนังสือพุทธประวัติ และปฐมสมโพธิกถา
  • วินัยบัญญัติ ใช้เนื้อหาเบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีล
  • ศาสนพิธี สำหรับชั้นตรี[4]

ธรรมศึกษาโท[แก้]

ธรรมศึกษาโท ประกอบด้วย

  • การเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต กำหนดหัวข้อต่างกัน 2 หัวข้อ และเชื่อมโยงกันเป็นทำนองเทศน์ โดยอ้างอิงจากภาษิตอื่นจากอีก 2 แห่งห้ามซ้ำกัน
  • ธรรมวิภาค (วิชาธรรม)[4] โดยใช้หนังสือธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ 2
  • ตำนาน (อนุพุทธประวัติ) โดยใช้หนังสืออนุพุทธประวัติ, หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ (เฉพาะประวัติพระสาวก), หนังสือสังคีติกถา และหนังสือปฐมสมโพธิ
  • วินัยบัญญัติ อุโบสถศีล สำหรับชั้นโท[4]
  • ศาสนพิธี สำหรับชั้นโท[4]

ธรรมศึกษาเอก[แก้]

ธรรมศึกษาเอก ประกอบด้วย

  • การเรียงความแก้กระทู้ธรรม โดยใช้หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต และหนังสือธรรมอื่น เช่น มงคลวิเสสกถา กำหนดหัวข้อต่างกัน 3 หัวข้อ และเชื่อมโยงกันเป็นทำนองเทศน์ โดยอ้างอิงจากภาษิตอื่นจากอีก 3 แห่งห้ามซ้ำกัน
  • ธรรมวิภาค (วิชาธรรม)[4] โดยใช้หนังสือธรรมวิจารณ, หนังสือสมถกรรมาน, หนังสือมหาสิตปัฎฐานสูตร และคิริมานนทสูตร
  • ตำนาน (พุทธานุพุทธประวัติ) โดยใช้หนังสือพุทธประวัติ เล่ม 1-3 หนังสือปฐมสมโพธิ, หนังสือพุทธานุพุทธประวัติ, หนังสืออนุพุทธประวัติ และหนังสือสังคีติกถา
  • วินัยบัญญัติ อุโบสถ สำหรับชั้นเอก[4]

การสอบธรรมสนามหลวง[แก้]

การสอบธรรมและธรรมศึกษาในสนามหลวง หมายถึง การสอบไล่เพื่อวัดผลธรรมและธรรมศึกษาเพื่อเลื่อนชั้นประจำปีของชาติ พระสงฆ์เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงมีหน้าที่วางแผน, ประเมินและดำเนินการเพื่อให้การศึกษาของสงฆ์ตามหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาของชาติมีประสิทธิภาพและคุณภาพ[6]

วันสอบธรรม[แก้]

การกำหนดวันสอบนักธรรมนั้น แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

  • ช่วงที่ 1 นักธรรมชั้นตรี : กำหนดสอบตรงกับ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี
  • ช่วงที่ 2 นักธรรมชั้นโท - เอก : กำหนดสอบตรงกับ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ถึง แรม 5 ค่ำ เดือน 12

ส่วน ธรรมศึกษา : กำหนดสอบ ประมาณ แรม 7 ค่ำ เดือน 12

การจัดสอบธรรม[แก้]

การสอบไล่นักธรรม[แก้]

การสอบไล่ธรรมศึกษา[แก้]

สำหรับการสอบไล่ธรรมศึกษานั้น จะเปิดให้มีการสอบตามสนามสอบต่าง ๆ ที่ได้กำหนดขึ้น เช่น ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดต่าง ๆ[7] ,สถานศึกษาสำหรับโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ ซึ่งจะสังกัดตามสำนักเรียนของวัดต่าง ๆ โดยหนึ่งสำนักเรียนอาจจะมีสนามสอบหลายแห่งได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าสอบ[8]

การจัดสอบธรรมในต่างประเทศ[แก้]

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงในต่างประเทศด้วย อาทิ ในประเทศสหรัฐ, ประเทศออสเตรเลีย, ประเทศนิวซีแลนด์ และไต้หวัน โดยมีผู้เข้ารับการสอบทั้งชาวไทยในต่างประเทศ และชาวต่างประเทศที่สนใจในพระพุทธศาสนา[9] ซึ่งมหาเถรสมาคมได้มีมติแต่งตั้งผู้แทนแม่กองธรรมเพื่อไปควบคุมการจัดสอบในต่างประเทศ[10]

ที่ตั้งสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง[แก้]

สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งอยู่หน้าวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. Curriculum of Dhamma Studies for Elementary Level (PDF). Royal Dhamma Studies Office. 2009. ISBN 9789743999673.
  2. หลักสูตรการศึกษาแผนกธรรม
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 "ประวัตินักธรรม - สนง.แม่กองธรรมสนามหลวง". www.gongtham.net.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 pariyat (2021-10-28). "หลักสูตรนักธรรม-ธรรมศึกษา". www.pariyat.com.
  5. หลักสูตรนักธรรมและเปรียญสำหรับใช้ในการศึกษาและสอบไล่ธรรมวินัยของพระภิกษุสามเณร. พระยาภักดีนฤเบศร์ รวบรวม ฉบับพิมพ์ครั้งแรก, พ.ศ. 2469. หน้า ก-ข.
  6. ประกาศผลสอบแผนกธรรม
  7. pariyat (2021-10-28). "หลักสูตรนักธรรม-ธรรมศึกษา". www.pariyat.com.
  8. "สนามสอบ นักธรรม-ธรรมศึกษา". dhammastudy.org.
  9. "มหาเถรสมาคม The Sangha Supreme Council of Thailand". www.mahathera.org.
  10. "การสอบ ธรรมสนามหลวงต่างประเทศ เริ่มเดือน มี.ค." posttoday. 2019-02-24.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°45′37″N 100°30′06″E / 13.76016°N 100.501664°E / 13.76016; 100.501664