อาร์ดาลัม

พิกัด: 35°50′11.1″N 14°31′40.9″E / 35.836417°N 14.528028°E / 35.836417; 14.528028
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์ดาลัม
ปากทางเข้าถ้ำ
อาร์ดาลัมตั้งอยู่ในประเทศมอลตา
อาร์ดาลัม
ที่ตั้งอาร์ดาลัมในประเทศมอลตา
ที่ตั้งบีร์เซ็บบูจา มอลตา
พิกัด35°50′11.1″N 14°31′40.9″E / 35.836417°N 14.528028°E / 35.836417; 14.528028
ประเภทถ้ำ
ความยาว144 เมตร
ความเป็นมา
วัสดุหินปูน
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ถือกรรมสิทธิ์รัฐบาลมอลตา
ผู้บริหารจัดการเฮริทิจมอลตา
การเปิดให้เข้าชมเปิด
เว็บไซต์เฮริทิจมอลตา

อาร์ดาลัม (มอลตา: Għar Dalam; แปลว่า ถ้ำของตระกูลดาลัม)[ก] คืออุโมงค์และถ้ำอิ่มน้ำแห่งหนึ่ง[2] มีความยาว 144 เมตร ตั้งอยู่นอกเมืองบีร์เซ็บบูจาบนเกาะมอลตา ประเทศมอลตา ภายในถ้ำมีซากกระดูกสัตว์โบราณที่ติดเกาะและสูญพันธุ์ไปในที่สุดเมื่อสิ้นสุดยุคธารน้ำแข็งแผ่ขยายมากสุดครั้งสุดท้าย ถ้ำนี้เป็นที่มาของชื่อระยะอาร์ดาลัมในการแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในมอลตา และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศ[3] ในอาร์ดาลัมยังมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่พบในวัฒนธรรมสเตนตีเนลโลทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี เพียงแต่ขาดรายละเอียดบางอย่าง เช่น ลวดลายประทับตกแต่ง[4]

สัตว์ที่พบซากกระดูกในอาร์ดาลัม ได้แก่ ช้างแคระ ฮิปโปโปเตมัสแคระ หงส์ยักษ์ กวาง และหมี ซากกระดูกสัตว์เหล่านี้มีอายุแตกต่างกันไป ฮิปโปโปเตมัสสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ส่วนกวางสูญพันธุ์ไปในยุคทองแดงเมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว[5] นอกจากนี้ ถ้ำแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่มีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคเริ่มแรกในมอลตาอีกด้วย โดยมีอายุราว 7,400 ปีมาแล้ว

ประวัติศาสตร์ยุคหลัง[แก้]

กระดูกสัตว์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ถ้ำ

อาร์ดาลัมได้รับการสำรวจทางโบราณคดีเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1865 โดยอาร์ตูโร อิสเซล นักบรรพชีวินวิทยาชาวอิตาลี ซึ่งต้องการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ยุคหินใหม่[2][6] ต่อมาใน ค.ศ. 1892 จอห์น เอช. คุก ได้เข้ามาขุดค้นภายในถ้ำ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ค้นพบได้รับการเก็บรักษาไว้ในมอลตา ในขณะที่ส่วนหนึ่งถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์บริติชเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ[2] ใน ค.ศ. 1902 ฟอร์ไซท์ เมเจอร์ นำโบราณวัตถุเหล่านี้ไปศึกษา และพบฮิปโปโปเตมัสแคระชนิดใหม่จากการค้นพบเหล่านี้ นั่นคือ Hippopotamus melitensis

อาร์ดาลัมมีชื่อรวมอยู่ในรายการโบราณวัตถุสถานมอลตา ค.ศ. 1925[7] แต่ไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมจนกระทั่งเดือนมีนาคม ค.ศ. 1933[8] โจเซฟ บัลดักกีโน ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติในขณะนั้น ได้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นบริเวณหน้าถ้ำ ภายในปีแรกของการรับตำแหน่งภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์อาร์ดาลัม บัลดักกีโนได้ตีพิมพ์อนุสารว่าด้วยอาร์ดาลัม โดยเน้นที่การขุดค้นและการสำรวจครั้งสำคัญของถ้ำแห่งนี้[8] พิพิธภัณฑ์ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปลี่ยนตัวอย่างจัดแสดงใหม่ ๆ และติดตั้งป้ายกำกับตัวอย่างจัดแสดง[8]

ตู้ริมผนังภายในพิพิธภัณฑ์ถ้ำจัดแสดงกระดูกสัตว์ที่ขุดพบในถ้ำ[6] โดยจัดแบ่งตามชนิดและประเภทสัตว์ ส่วนตู้กลางห้องจัดแสดงโครงกระดูกที่สมบูรณ์ของสัตว์ตัวอย่างยุคใหม่ เช่น กวาง ช้าง[6] ซึ่งไม่ใช่โครงกระดูกที่พบในถ้ำ แต่เป็นตัวอย่างอ้างอิงสำหรับนักวิชาการที่กำลังศึกษาซากดึกดำบรรพ์ที่ขุดพบ[6]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้ำแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศ ต่อมาใน ค.ศ. 1980 โบราณวัตถุที่สำคัญและไม่สามารถทดแทนได้ เช่น งาช้างแคระ 4 กิ่ง กะโหลกศีรษะของเด็กยุคหินใหม่คนหนึ่ง ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ถ้ำ

อาร์ดาลัมมีความลึกประมาณ 144 เมตร (472 ฟุต) แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้เฉพาะช่วง 50 เมตรแรก (160 ฟุต) เท่านั้น ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้าถ้ำยังคงจัดแสดงโบราณวัตถุที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่กระดูกสัตว์ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์

อาร์ดาลัมและพิพิธภัณฑ์ถ้ำบริหารงานโดยเฮริทิจมอลตา เมื่อ ค.ศ. 2019 มีการประกาศโครงการปรับปรุงทางเชื่อมระหว่างอาร์ดาลัม, ตากัชชาตูรา, บอร์ชินนาดูร์ และโบราณสถานอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันให้เข้าถึงได้สะดวกมากขึ้น[9]

ลำดับชั้นหิน[แก้]

ลำดับชั้นหินในอาร์ดาลัม

อาร์ดาลัมประกอบไปด้วยชั้น 6 ชั้น ดังนี้[10]

  1. ชั้นสัตว์เลี้ยง (หนาประมาณ 74 เซนติเมตร) พบกระดูกสัตว์ที่มนุษย์นำมาเลี้ยงเป็นหลัก เช่น วัว ม้า แกะหรือแพะ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เช่น เครื่องปั้นดินเผา หินเหล็กไฟ เครื่องมือ เครื่องประดับหรือเครื่องราง
  2. ชั้นแผ่นหินปูน (หนาประมาณ 0.6 เซนติเมตร)
  3. ชั้นกวาง (หนาประมาณ 175 เซนติเมตร) พบกระดูกกวางแคระที่มีวิวัฒนาการมาจากกวางแดง (Cervus elaphus) และพบกระดูกสัตว์กินเนื้อจำนวนหนึ่ง เช่น หมีสีน้ำตาล หมาจิ้งจอกแดง และหมาป่า นอกจากนี้ยังพบกระดูกหงส์ยักษ์ เต่ายักษ์ และสัตว์ฟันแทะด้วย
  4. ชั้นกรวด (หนาประมาณ 35 เซนติเมตร) ประกอบด้วยก้อนหินมนและกรวดขนาดกลางซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยของแม่น้ำสายหนึ่งที่เคยไหลผ่านถ้ำ ขนาดของก้อนหินและกรวดที่ค่อนข้างใหญ่บ่งบอกถึงกระแสน้ำที่ไหลแรง
  5. ชั้นฮิปโปโปเตมัส (หนาประมาณ 120 เซนติเมตร) พบกระดูกฮิปโปโปเตมัสแคระชนิด Hippopotamus melitensis เป็นหลัก นอกจากนี้ยังพบกระดูกของช้างแคระชนิด Palaeoloxodon falconeri และดอร์เมาส์ยักษ์ชนิด Leithia cartei ด้วย
  6. ชั้นดินเหนียวไร้กระดูก (หนาประมาณ 125 เซนติเมตร) ไม่พบกระดูก แต่พบร่องรอยของพืชบางชนิด

หมายเหตุ[แก้]

  1. บูฮาจาร์ (2007) ระบุว่า ชื่อ อาร์ดาลัม ไม่ได้แปลว่า "ถ้ำแห่งความมืด" อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป แต่แปลว่า "ถ้ำของดาลัม" หรือ "ถ้ำของตระกูลดาลัม"[1] ทั้งนี้ ปรากฏนามสกุล ดาลัม ในบันทึกต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Buhagiar, Mario (2007). The Christianisation of Malta: catacombs, cult centres and churches in Malta to 1530. Archaeopress. p. 97. ISBN 978-1407301099.
  2. 2.0 2.1 2.2 van der Geer, Alexandra; Lyras, George; de Vos, John; Dermitzakis, Michael (2010). Evolution of island mammals: Adaptation and extinction of placental mammals on islands. Wiley-Blackwell. pp. 92–102. doi:10.1002/9781444323986. ISBN 9781405190091. S2CID 86821557.
  3. Nadia, Fabri (2007). Għar Dalam: The Cave, the Museum, and the Garden: Birżebbuġa. Malta: Heritage Books. ISBN 978-9993271444.
  4. Edwards, Iorwerth Eiddon Stephen; Gadd, Cyril John; Hammond, Nicholas Geoffrey Lempriere (1970). The Cambridge Ancient History. Cambridge University Press. pp. 726. ISBN 0521086914.
  5. J.D. Evans The Prehistoric Antiquities of the Maltese Islands p. 241
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "Ghar Dalam museum". Times of Malta. 2006-11-25. สืบค้นเมื่อ 2019-03-19.
  7. "Protection of Antiquities Regulations 21st November, 1932 Government Notice 402 of 1932, as Amended by Government Notices 127 of 1935 and 338 of 1939". Malta Environment and Planning Authority. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 April 2016.
  8. 8.0 8.1 8.2 Sagona, Claudia; Vella Gregory, Isabelle; Bugeja, Anton (2006). Punic Antiquities of Malta and Other Ancient Artefacts Held in Ecclesiastic and Private Collections. Vol. 2. Peeters Publishers. pp. 27–28. ISBN 9042917032.
  9. Agius, Monique (2019-02-06). "Prehistoric bones accidentally unearthed at Għar Dalam". Newsbook. สืบค้นเมื่อ 2019-03-15.
  10. George Zammit Maempel, 1989. Għar Dalam Cave and Deposits