เขื่อนลำตะคอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขื่อนลำตะคอง
ที่ตั้งตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ผู้ดำเนินการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นลำตะคอง
ความสูง40.3 เมตร
ความยาว527 เมตร
ความกว้าง (ฐาน)256 เมตร
อ่างเก็บน้ำ
ปริมาตรกักเก็บน้ำ310 ล้านลูกบาศก์เมตร
รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด หมายเลข 952 จอดอยู่ในพิธีเปิดเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว, จังหวัดนครราชสีมา โดยพันเอก แสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2510

เขื่อนลำตะคอง เป็นเขื่อนดิน (earthfill dam) สร้างขึ้นบริเวณช่องเขาเขื่อนลั่นกับช่องเขาถ่านเสียด กั้นขวางลำตะคอง ตั้งอยู่ในตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนสูง 40.3 เมตร สันเขื่อนยาว 527 เมตร กว้าง 10 เมตร อ่างเขื่อนเก็บน้ำเหนือเขื่อนมีความยาวตลอดลำน้ำ 19 กิโลเมตร มีพื้นที่ 277,000 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร[1]

เขื่อนลำตะคองเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 เริ่มมีการเสนอการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดสูบกลับเมื่อ พ.ศ. 2518[2] จนระหว่าง พ.ศ. 2532–2534 ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) ให้ศึกษาความเป็นไปได้ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ พ.ศ. 2534–2537 โครงการจึงได้รับอนุมัติก่อสร้าง

สิ่งก่อสร้างประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำตอนบนสร้างบนยอดเขาเขื่อนลั่น พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 0.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 212 ไร่ มีความจุของอ่าง 9.9 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างล่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเดิม มีความจุของอ่างประมาณ 290 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าใต้ดิน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 4 ชุด รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ อุโมงค์ส่งน้ำ 2 แนว เชื่อมระหว่างอ่างเก็บน้ำบนภูเขาและโรงไฟฟ้าใต้ดิน ยาวประมาณ 1,470 เมตร[3]

โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 350 เมตร มีขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 175 เมตร สูง 47 เมตร เพื่อเพิ่มระยะทางจากอ่างเก็บน้ำบนเขาถึงอาคารโรงไฟฟ้าให้น้ำที่ไหลลงมามีกำลังแรงขึ้น ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 250 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตติดตั้ง 500 เมกะวัตต์ ต่อมาได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 เครื่อง รวมการผลิตทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง เป็นเชื้อเพลิงหลัก[4] และมีกังหันลมลำตะคอง จากข้อมูล พ.ศ. 2563 ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวน 14 ต้น ทอดยาวไปตลอดแนวเขายายเที่ยง[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เขื่อนลำตะคอง". ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2021-11-20.
  2. "Lam Takhong Dam". 2TourThailand.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2011. สืบค้นเมื่อ 6 March 2011.
  3. "เปิดแฟ้ม "โรงไฟฟ้าลำตะคอง " อีกโครงการอื้อฉาวของ "กฟผ."".
  4. "โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา". การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.
  5. ""ลำตะคอง"น่าเที่ยว ปั่นจักรยานชมทุ่งกังหันลม-รู้จักโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับใต้ดินแห่งเดียวในไทย". ผู้จัดการออนไลน์.