เสือดำ (โจร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายดำ สะราคำ
เกิดจังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต30 มกราคม พ.ศ.2492
จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพชาวนา, โจร

เสือดำ เป็นจอมโจรเมืองสุพรรณ ร่วมสมัยกับ เสือใบ, เสือฝ้าย, เสือหวัด, เสือมเหศวร ออกปล้นในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติ[แก้]

เสือดำ มีชื่อจริงว่า นายดำ นามสกุล สะราคำ เกิดที่บ้านดอนมะเกลือ ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบาง (ปัจจุบันคืออำเภอเดิมบางนางบวช) จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ในครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) โดยบิดารับราชการเป็นกำนันตำบลป่าสะแก

วัยเยาว์ เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดป่าสะแก จวบจนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยทำหน้าที่เลี้ยงโค กระบือ

เนื่องจากบิดาเป็นกำนัน จึงทำให้นายดำมีนิสัยไม่เกรงกลัวผู้ใด คบเพื่อนเกเร ชักชวนไปในทางทุจริตผิดกฏหมาย เช่น เกะกะระราน ลักเล็กขโมยน้อย จวบจนอายุครบอุปสมบท บิดาจึงให้บรรพชาอุปสมบทพัทธสีมาวัดป่าสะแก โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนมะเกลือ ระยะเวลา 1 พรรษา จึงลาสิกขาออกมา[1]

ชีวิตระหว่างที่เป็นเสือ[แก้]

แม้ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว แต่นายดำก็ยังคงประพฤติตัวเช่นเดิม ชักชวนพรรคพวกไปสมัครเป็นสมาชิกชุมโจรเสือพรหม ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง (บ้านหนองปล้อง) อำเภอนางบวช (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสามชุก และแยกเป็นอำเภอหนองหญ้าไซ) จังหวัดสุพรรณบุรี

อยู่กับเสือพรหมได้ราว 3 ปี เสือพรหมออกปล้นในเขตพื้นที่อำเภอศรีประจันต์ แล้วถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม ส่วนเสือดำและพรรคพวกคนอื่นๆ หลบหนีไปได้[1] ชุมโจรเสือพรหมจึงขาดหัวหน้า สมาชิกแตกแยกออกเป็นกลุ่มเสือแบน เสือดำ เสือเว้า ไล่ฆ่ากันเองเพื่อชิงความเป็นใหญ่[2]

ชุมโจรเสือดำมีเอกลักษณ์คือมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหรือหมวกสีดำ ชุมโจรใหญ่ตั้งอยู่ที่ไร่อ้อย ใกล้วัดขวางเวฬุวัน อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมโจรขนาดใหญ่ มีจำนวนสมาชิกเป็นรองเพียงชุมโจรเสือฝ้าย ทั้งสองชุมไม่ถูกกัน จึงแบ่งแยกอาณาเขต[2] พื้นที่แถบตะวันออก (แม่น้ำ ตลาดท่าช้าง ตัวอำเภอเดิมบางนางบวช) เป็นเขตชุมโจรเสือฝ้าย ส่วนพื้นที่แถบตะวันตก (ป่า ไร่ ทุ่งนา ตลาดป่าสะแก) เป็นเขตชุมโจรเสือดำ โดยพื้นที่ทั้งสองชุมโจรมีระยะห่างกันราว 5 - 6 กิโลเมตร

เสือดำมีลักษณะนิสัยเหี้ยมโหด เสพติดฝิ่น สุรา และความครื้นเครง ทรัพย์สินที่ปล้นได้ส่วนใหญ่จึงหมดไปกับอบายมุข[1]

มรณกรรม[แก้]

เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าเสือดำมักไปพักพิงอยู่กับผู้ใหญ่แผน ดอกมะลิป่า ผู้ใหญ่บ้านหนองโสน (ตำแแหน่งในขณะนั้น) อำเภอพนมทวน (ต่อมาแยกเป็นอำเภอเลาขวัญ) จังหวัดกาญจนบุรี จึงขอให้ผู้ใหญ่แผนร่วมมือปราบปรามเสือดำ

ขณะเสือดำพาพรรคพวกพักพิงอยู่ที่บ้านหนองโสน ผู้ใหญ่แผนจึงออกอุบายจัดงานเลี้ยงกลางลานหมู่บ้าน โดยมีข้อห้ามพกพาอาวุธทุกชนิดเข้าในงาน กระทั่งเวลาค่ำขณะทุกคนกำลังนั่งล้อมวงสังสรรค์ เมื่อสบโอกาสผู้ใหญ่แผนกับชาวบ้านจึงร่วมกันปลิดชีพเสือดำและพรรคพวก[2]

เสือดำในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย. (2528). ประวัติเสือดำ. ใน ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดสุพรรณบุรี. หน้า 391 - 394. สุพรรณบุรี: มนัสการพิมพ์.
  2. 2.0 2.1 2.2 มนัส โอภากุล. (2540, พฤษภาคม). สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุจริงหรือ?. ศิลปวัฒนธรรม. 18(7): 90 - 101.
  3. "เสือดำ (2494)". ไทยบันเทิง.
  4. "สามเสือสุพรรณ (2524)". ไทยบันเทิง.
  5. "ฟ้าทะลายโจร (2543)". ไทยบันเทิง.
  6. "ขุนพันธ์ 3 (2566)". ไทยบันเทิง.
  7. WorkpointOfficial (2023-02-15), The Masterpiece เวทีบันลือโลก | EP.06 | เสือดำ, โหมโรง | 15 ก.พ.66 Full EP, สืบค้นเมื่อ 2024-05-29