แผลเก่า (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2520)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผลเก่า
นันทนา เงากระจ่าง จากภาพยนตร์เรื่อง "แผลเก่า"
กำกับเชิด ทรงศรี
ผู้ช่วยผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิท
บทภาพยนตร์รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก)
ธม ธาตรี (เชิด ทรงศรี)
สร้างจากแผลเก่า
โดย ไม้ เมืองเดิม
อำนวยการสร้างธมจันท์ ธันยฉัตร
นักแสดงนำ
กำกับภาพ
  • กวี เกียรตินันท์
  • โสภณ เจนพานิช
  • สุทัศน์ บุรีภักดี
  • สมชัย ลีลานุรักษ์
ดนตรีประกอบเสรี หวังในธรรม
บริษัทผู้สร้าง
เชิดไชยภาพยนตร์
ผู้จัดจำหน่ายสหมงคลฟิล์ม
วันฉาย24 ธันวาคม 2520
ความยาว130 นาที
ประเทศ ไทย
ภาษาไทย
ทำเงิน13 ล้านบาท
ข้อมูลจาก IMDb

แผลเก่า เป็นภาพยนตร์ไทยแนวรักชีวิต ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 70 มม.สีอีสต์แมน เสียงพากย์ในฟิล์ม กำกับโดยเชิด ทรงศรี สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ ไม้ เมืองเดิม หรือก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา นำแสดงโดยสรพงศ์ ชาตรี และนันทนา เงากระจ่าง รับบทชาวนา 2 คนในชนบทของประเทศไทย ในเรื่องราวความสัมพันธ์แสนโรแมนติกที่น่าเศร้า โปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกแบบโดยช่วง มูลพินิจ และใช้คำโฆษณาหนังว่า "เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก" ในช่วงแรกเนื่องจากเป็นภาพยนตร์แนวย้อนยุค ในขณะที่ผู้สร้างส่วนใหญ่นิยมสร้างภาพยนตร์ร่วมสมัย จึงไม่มีตัวแทนจำหน่ายหรือสายหนังรายใดสนใจเลย แต่เมื่อออกฉายปรากฏว่าเป็นที่นิยม

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น 1 ในภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในบ็อกซ์ออฟฟิศในช่วงเวลาที่ออกฉาย โดยทำรายได้ 13 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติในขณะนั้น[1][2] และภาพยนตร์ได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยม รวมทั้งโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการแปลงเป็นดิจิทัลและบูรณะโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และออกฉายอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2561[1]

เนื้อเรื่อง[แก้]

ในปี 2479 ที่ทุ่งบางกะปิ ขณะนั้นไม่มีอะไรนอกจากนาข้าวและหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ ขวัญ (สรพงศ์) และเรียม (นันทนา) เป็นบุตรชายและบุตรสาวของผู้ใหญ่เขียน (ส.อสานจินดา) และตาเรือง ที่เป็นคู่อริกันพวกเขาทั้งสองปลูกข้าวในนาพร้อมกับควายของพวกเขา เรียมไม่ชอบการเกี้ยวพาราสีของขวัญ แต่ขวัญ ชายหนุ่มร่าเริงที่ชอบร้องเพลงและเป่าขลุ่ยไม้ไผ่ก็ไม่สนใจ ขวัญสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทรริมฝั่งแม่น้ำว่าจะรักและซื่อสัตย์ต่อเรียมตลอดไป

ตาเรือง (สุวิน) พ่อของเรียมไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้ เขาอยากให้เรียมแต่งงานกับจ้อย (เศรษฐา) ลูกชายเศรษฐีในท้องถิ่น ตาเรือง เริญ (กิตติ) พี่ชายเรียม จ้อย และคนอื่น ๆ ออกตามหาขวัญและเรียม การต่อสู้ด้วยดาบช่วงสั้น ๆ เกิดขึ้น และขวัญก็ถูกดาบฟันโดยเริญ บาดแผลที่ด้านข้างศีรษะของขวัญในที่สุดก็กลายเป็นแผลเป็นที่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งขวัญบอกว่าเป็นเครื่องหมายแสดงความรักที่เขามีต่อเรียม

ที่บ้าน เรียมถูกล่ามโซ่ไว้ในห้องเก็บของตามคำสั่งของตาเรือง ตาเรืองจึงตัดสินใจส่งเรียมไปที่กรุงเทพฯ ซึ่งเธอถูกขายไปเป็นคนใช้ให้กับคุณนายทองคำ (สุพรรณ) เจ้าหนี้ผู้ถือโฉนดที่ดินของเรือง เมื่อคุณนายทองคำเห็นหน้าเรียมก็รู้สึกประทับใจกับความคล้ายคลึงของเรียมกับโฉมยงลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว แทนที่จะทำงานเป็นคนรับใช้ เรียมกลับกลายเป็นลูกสาวบุญธรรมของคุณนายทองคำ ซึ่งมอบเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกให้กับเรียมและแนะนำให้เธอรู้จักกับสังคมชั้นสูงในกรุงเทพฯ รวมถึงสมชาย (ชลิต) ลูกชายของเศรษฐีผู้มั่งคั่ง

ขวัญเริ่มหมดหวัง ผู้ใหญ่เขียนผู้เป็นพ่อจึงชวนขวัญบวชเพื่อชะล้างโชคร้าย ขวัญไปดื่มน้ำแล้วเห็นเลือดอยู่ในหม้อน้ำ จากนั้นเขาก็ทรุดตัวลงและขอโทษพ่อของเขาที่เนรคุณ และสัญญาว่าจะบวชในวันรุ่งขึ้น "ถ้ายังมีชีวิตอยู่"

หลังจากได้ยินว่า เริ่ม (ศรินทิพย์) แม่ของเธอใกล้จะตาย เรียมก็กลับมาบ้านโดยเรือของสมชาย เรียมมาเห็นแม่ตายและจัดงานศพขึ้น ขวัญมาไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย และเรียมตกลงที่จะพบเขาในวันรุ่งขึ้นตอนเที่ยงที่ศาลเจ้าพ่อไทร

วันรุ่งขึ้น ขวัญจุดไฟเผาเรือของสมชายเพื่อป้องกันไม่ให้เรียมจากไปโดยไม่ได้พบเขา ขวัญถูกสมชาย ตาเรือง และเริญตามล่า สมชายพบขวัญและใช้ปืนพกยิงเข้าที่หน้าอก ขวัญที่บาดเจ็บสาหัสว่ายน้ำไปยังศาลเจ้าพ่อไทรก่อนที่จะฝากให้เจ้าพ่อไทรช่วยดูแลคุ้มครองพ่อและจมน้ำตาย เรียมจึงกระโดดลงไปน้ำและว่ายตามไปคว้ามีดจากมือขวัญแทงตัวเองตายพร้อมกับรักแท้ของเธอที่หน้าศาลเจ้าพ่อไทร

นักแสดง[แก้]

เพลงประกอบ[แก้]

รายชื่อเพลง
ลำดับชื่อเพลงประพันธ์ยาว
1."ขวัญเรียม (ผ่องศรี วรนุช)"พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) 
2."สั่งเรียม (ไพรวัลย์ ลูกเพชร, ผ่องศรี วรนุช)"พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) 
3."เคียงเรียม (ไพรวัลย์ ลูกเพชร)"พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) 
4."แสนแสบ (ไพรวัลย์ ลูกเพชร)"ชาลี อินทรวิจิตร 
5."ลำนำแผลเก่า (ไพรวัลย์ ลูกเพชร)"ธม ธาตรี (เชิด ทรงศรี) 
6."เพลงเหย่อง (ร้องหมู่)"  
7."ลำนำแผลเก่า (ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา)"ธม ธาตรี (เชิด ทรงศรี) 
8."เคียงเรียม (ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา)"พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) 
9."วอลท์ซปลื้มจิต (ประทุม ประทีปะเสน)"พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) 
10."กุหลาบเขียว (สวลี ผกาพันธุ์)"  

รางวัลและเกียรติคุณ[แก้]

  • พ.ศ. 2520 - ได้รับรางวัลพระสุรัสวดี สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากการประกวดในประเทศ รวมทั้งโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
  • พ.ศ. 2524 - ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2541 - ได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ (National Film and Television Archive) ร่วมกับนิตยสาร Sight and Sound ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) และผู้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลก โดยมีการประกาศผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544
  • พ.ศ. 2550 - มูลนิธิหนังไทยร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติ นำผลงานภาพยนตร์ของเชิด ทรงศรี จำนวน 5 เรื่อง รวมทั้งแผลเก่า มาจัดฉายอีกครั้งในระหว่างวันที่ 21 – 30 กันยายน พ.ศ. 2550 เพื่อนำรายได้ไปจัดสร้างประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงของเชิด ทรงศรี เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา[4]
  • พ.ศ. 2554 - ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ไทย 1 ในจำนวน 25 เรื่องที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) [5][6]
  • พ.ศ. 2561 - หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้งในโครงการ "ทึ่ง....หนังโลก" ฉายในวันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน 2561 เวลา 20.00 น. ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ฉายด้วยระบบดิจิตอล DCP โดยหอภาพยนตร์ฯทำการบูรณะร่วมกับแลปฟิล์มที่ประเทศอิตาลี โดยต้นฉบับหนังดังกล่าว มาจากฟิล์มเนกาทีฟของคุณเชิดทรงศรี ซึ่งเคยมอบให้กับหอภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2531 [1]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Rithdee, Kong (19 September 2018). "The pastoral romance returns". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 19 September 2018.
  2. Director profile เก็บถาวร 2006-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, MovieSeer, retrieved 2007-01-12.
  3. "100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ฉายตลอดปี". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2016-03-06.
  4. "สัปดาห์ภาพยนตร์ เชิด ทรงศรี "ผู้สำแดงความเป็นไทยต่อโลก"". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-03-04.
  5. วธ.ตีทะเบียนหนังไทยชื่อดัง 25 เรื่อง เป็นมรดกชาติปี 54 ข่าวไทยรัฐออนไลน์.
  6. มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]