โต้นเซมี่นต้าจี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มโหย่-ทเว
โต้นเซมี่นต้าจี้
ดำรงพระยศค.ศ. 1862–1879
อุปราชจังหวัดชินด์วิน
ดำรงพระยศค.ศ. 1878
ประสูติราว ค.ศ. 1842
อังวะ จักรวรรดิพม่าที่สาม
สิ้นพระชนม์ค.ศ. 1879 (ราว 36–37 ปี)
พระราชวังมัณฑะเลย์ จักรวรรดิพม่าที่สาม
พระชายายันออง-มยีน
พระบุตรสี่พระองค์
ราชวงศ์โก้นบอง
พระบิดามินดง
พระมารดาโกนนา-ยวามิบะยา

มหาสุสิริธัมมราชา (พม่า: မဟာသုသီရိဓမ္မရာဇာ, บาลี: Mahāsusīridhammarājā; ค.ศ. 1842–1879) มีพระนามเดิมว่า มโหย่-ทเว เป็นที่รู้จักในราชทินนาม โต้นเซมี่นต้า (သုံးဆယ်မင်းသား) หรือ โต้นเซมี่นต้าจี้ (သုံးဆယ်မင်းသားကြီး) เคยดำรงพระอิสริยยศเป็นอุปราชจังหวัดชินด์วิน นับเป็นพระราชโอรสที่มีพระอิสริยยศสูงสุดพระองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดง[1] และมีพระชนนีสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์แห่งอาณาจักรอยุธยา[2]

พระประวัติ[แก้]

มโหย่-ทเว ประสูติใน ค.ศ. 1842 เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่จากพี่น้องร่วมพระชนกชนนีทั้ง 13 พระองค์ ของพระเจ้ามินดง กับโกนนา-ยวามิบะยา[3] พระองค์มีเชื้อสายไทยจากพระชนนี ซึ่งสืบสันดานมาจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา[2] เมื่อพระชนกขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงพม่าเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1853 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานอิสริยยศ ตะโด้มี่นซอ (သတိုးမင်းစော) พร้อมกับยกให้มโหย่-ทเวเป็นมโหย่ซ่า (မြို့စား) กินส่วยเมืองเลาง์ชี (လောင်းရှည်)[4] ต่อมาพระเจ้ามินดงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้มโหย่-ทเว กินส่วยเมืองโต้นเซ (သုံးဆယ်) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1854 มีราชทินนามเป็น โต้นเซ-มโหย่ซ่า (သုံးဆယ်မြို့စား)[5]

กรกฎาคม ค.ศ. 1854 ขณะพระชันษา 12 ปี มโหย่-ทเวเข้าพระราชพิธียองโดน-บเว คือการไว้พระเกศายาวแล้วม้วนพระเมาลีขึ้นกลางพระเศียร และพระราชพิธีชีน-บยุ คือการบรรพชาเป็นสามเณรหลวง พร้อมกับเจ้านายฝ่ายหน้าอีกสามพระองค์ เป็นสัญลักษณ์ว่าเจ้านายพระองค์นี้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์[6] กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1862 มโหย่-ทเวในพระชันษา 20 ปี เสกสมรสกับเจ้าหญิงยันออง-มยีน พระธิดาในกะนองมี่นต้า ที่ประสูติแต่คีน-คเย[7]

ในพระราชพิธีออกพรรษาเดือนตะดี้นจุ เมื่อ ค.ศ. 1862 พระเจ้ามินดงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่แก่มโหย่-ทเว ว่า "มหาสุสิริธัมมราชา" (မဟာသုသီရိဓမ္မရာဇာ) และประกาศเลื่อนพระอิสริยยศชั้นสูงสุด มี่นต้าจี้ (မင်းသားကြီး) มีราชทินนามว่า โต้นเซมี่นต้าจี้ (သုံးဆယ်မင်းသားကြီး)[8]

เมื่อพระเจ้ามินดงมีพระอาการเพียบหนักจวนจะเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1878 เจ้านายฝ่ายหน้าชั้นผู้ใหญ่ รวมไปถึงโต้นเซมี่นต้าจี้ ถูกจองจำไว้ในตรุ ตามพระบรมราชโองการโดยมีพระนางอเลนันดอบงการอยู่เบื้องหลัง[9][10] ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระเจ้ามินดงทรงพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวโต้นเซมี่นต้าจี้ พร้อมกับทรงพระราชทานพระอิสริยยศเป็นอุปราชจังหวัดชินด์วิน แต่โต้นเซมี่นต้าจี้ก็ถูกควบคุมตัวอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น[11][12]

ที่สุดโต้นเซมี่นต้าจี้ถูกประหารชีวิตพร้อมกับเจ้านายพระองค์อื่นในเหตุสังหารหมู่สมาชิกพระราชวงศ์พม่าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1879 โดยพระศพทั้งหมดถูกฝังรวมกัน บริเวณสนามภายในพระราชวังมัณฑะเลย์[13][14]

พระกรณียกิจ[แก้]

โต้นเซมี่นต้าจี้เสด็จประพาสเมืองพะโคและเมืองย่างกุ้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1863[15] ครั้นเมื่อนิวัตพระราชวังมัณฑะเลย์ ก็นำความกราบบังคมทูลพระเจ้ามินดงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งโรงเรียนหลวงประจำมุขมณฑล (ปัจจุบันคือ โรงเรียนมัธยมศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐานหมายเลข 10 มัณฑะเลย์) ไว้สำหรับเจ้านายฝ่ายหน้าทรงพระอักษร[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. Khin Khin Lay 2003: 396
  2. 2.0 2.1 "ထိုင်းဘုရင်သွေး မကင်းတဲ့ မြန်မာတွေ". BBC News မြန်မာ (ภาษาพม่า). 26 October 2017.
  3. Konbaung Set Vol. 3 2004: 307
  4. Konbaung Set Vol. 3 2004: 121
  5. Konbaung Set Vol. 3 2004: 128
  6. Konbaung Set Vol. 3 2004: 150
  7. Konbaung Set Vol. 3 2004: 211
  8. Konbaung Set Vol. 3 2004: 199
  9. Sein Tin 2005: 59–62
  10. Khin Khin Lay 2003: 375–378
  11. Sein Tin 2005: 63–64
  12. Khin Khin Lay 2003: 397–400
  13. "မြနန်းစံကျော်ရွှေနန်းတော်ကြီးဆီမှ". 7Day News - ၇ ရက်နေ့စဉ် သတင်း (ภาษาอังกฤษ).
  14. "၁၂၄၀ ပြည့်နှစ် မန္တလေးနန်းတွင်း အရှုပ်တော်ပုံတွင် စီရင်ဖျောက်ဖျက်ခြင်းခံခဲ့ရသည့် မင်းတုန်းမင်းတရားကြီး၏ ဒုတိယမြောက်ဆောင်တော်မိဖုရားကြီး၊ မက္ခရာမင်းသားကြီးနှင့် မင်းသား ၄၀ ကျော်အားရည်စူး၍ ဆုတောင်းအမျှပေးဝေ". Eleven Media Group Co., Ltd (ภาษาพม่า).
  15. Konbaung Set Vol. 3 2004: 213
  16. "မန္တလေး (ရတနာပုံ) ခေတ် မင်းညီမင်းသားများ ပညာသင်ကြားခဲ့သော ဒိုင်အိုသံတဲကျောင်းတော်ကြီး နှစ် (၁၅၀) ပြည့် စာအုပ်မိတ်ဆက်". lotaya.mpt.com.mm (ภาษาอังกฤษ).