บัวซอน ถนอมบุญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บัวซอน ถนอมบุญ
เกิด10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 (80 ปี)
อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ไทย
อาชีพศิลปินพื้นบ้าน,อาจารย์พิเศษ,นักขับซอ[1]
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2555 - สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-การขับซอ)

บัวซอน ถนอมบุญ (เกิด 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487) นักร้องเพลงซอพื้นเมืองล้านนา ที่มีผลงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2555

ประวัติ[แก้]

บัวซอน ถนอมบุญ เกิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่บ้านต้นรุง หมู่ 3 ตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ของนายไว และนางหมู ถนอมบุญ ซึ่งมีอาชีพทำไร่และค้าขาย เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านต้นรุง เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้ไปเรียนซอกับนางคำปัน เงาใส ช่างซอบ้านทุ่งหลวง เรียนได้ 3 เดือน ก็ไปประกวดซอที่อำเภอพร้าวและได้รับรางวัลที่ 1 จึงย้ายเข้ามาอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ จนอายุ 25 ปี ก็ออกจากการเป็นช่างซอ ไปแต่งงานกับนายสมพร อินถา อยู่ที่อำเภอพร้าว มีบุตร 2 คน

  • บัวซอนได้หยุดพักการซอนานถึง 22 ปี เพื่อดูแลครอบครัว เมื่อบุตรสำเร็จการศึกษาจึงเริ่มงานซออีกครั้งหนึ่ง โดยห้างนครพิงค์พาณิชย์ได้ติดต่อ ให้ไปบันทึกแผ่นเสียงหลายเรื่อง ซึ่งยังเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้
  • ลักษณะเด่นและความสามารถในการซอของบัวซอน คือ ความมีปฏิภาณไหวพริบดี ใช้ถ้อยคำได้ไพเราะคมคาย มีน้ำเสียง ไพเราะจับใจผู้ฟัง

ประวัติการทำงาน[แก้]

ด้านการแสดง[แก้]

แม่บัวซอนเรียนซอประมาณ 3 เดือนก็สามารถออกซอได้ จากนั้นได้ไปซอประกวดในงานประจำอำเภอและได้ รางวัลที่ 1 ลักษณะเด่นและความสามารถในการซอของแม่บัวซอน คือ เป็นช่างซอทีมีปฏิภาณ ไหวพริบดี ใช้ถ้อยคำได้ไพเราะ คมคาย มีน้ำเสียงไพเราะจับใจผู้ฟัง นอกจากนี้แม่บัวซอนยังได้แต่งเนื้อเพลงซอ หรือบทขับซอ(เครือซอ) ไว้หลายบทหลายเพลง รวมทั้งมีการบันทึกเพลงซอลงแผ่นเสียง และเทปคาสเซสไว้เป็นจำนวนมากโดยได้บันทึกแผ่นเสียง ชุดแรกเรื่อง “น้ำตาเมียหลวง” ซอคู่กับ บุญศรี สันเหมือง เมื่ออายุได้ 18 ปี หรือปี พ.ศ. 2505 รวมระยะเวลาการเป็นช่างซอ 55 ปี

การถ่ายทอด / การสืบทอด[แก้]

ปัจจุบันแม่บัวซอนได้ทำการสอนให้กับผู้ที่มีความสนใจการซอทั้งที่บ้านและสอนในโครงการสืบสานตำนานซอ ตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และมีแผนที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้เรื่องซอเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลและสอนซอ ให้กับเยาวชนที่สนใจจำนวนลูกศิษย์ที่มาเรียนซอกับแม่ครูบัวซอนมีมากกว่า 200 คน บทบาทและการยอมรับจากสังคม จากประสบการณ์ ที่ยาวนานและการพัฒนาผลงานด้านการซอของแม่บัวซอน รวมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และการนำความรู้ด้านการซอเผยแพร่สู่กลุ่มเยาวชนในโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เสมอทำให้แม่ครูบัวซอนได้รับบทบาทสำคัญ และการยอมรับจากสังคมในเรื่องต่างๆ

เกียรติคุณ และรางวัลที่ได้รับ[แก้]

  • รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม (สวช.) ประจำปี พ.ศ. 2530
  • รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขา วรรณศิลป์ ระดับจังหวัด (เชียงใหม่) ประจำปี พ.ศ. 2535
  • รางวัลผู้อนุรักษ์ส่งเสริมศีลปะล้านนาในด้านวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2538
  • มูลนิธิสุจิตโตเพื่อการศึกษามอบโล่เกียรติคุณในฐานะผู้ให้บริการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของเยาวชน อำเภอพร้าว ประจำปี พ.ศ. 2538
  • รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขา วรรณศีลป์ ระดับเขต 8 ประจำปี พ.ศ. 2539
  • รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขา วรรณศีลป์ ระดับชาติ ของภาคเหนือ ประจำปี พ.ศ. 2539
  • ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นสาขาการซอภาคเหนือจากสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยใน ปี พ.ศ. 2540
  • เกียรติบัตรจากมูลนิธิวาย.เอ็ม.ซี.เอ เพื่อการพัฒนาภาคเหนือจากการเข้าร่วมแสดงในงาน "เบิกฟ้าเวียงพิงค์คู่สิ่งแวดล้อม 40" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก
  • ประกาศนียบัตรครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 สาขาวรรณกรรม (การซอ) จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี พ.ศ. 2544
  • ปริญญาบัตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวรรณกรรม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2546
  • ปริญญาบัตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวิจัยและเผยแพร่) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2546
  • รางวัลเชิดชูเกียติ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2552
  • รางวัลเพชรภัฎ - เพชรล้านนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2552
  • รางวัลคนดีศรีเชียงใหม่
  • รางวัลคนดีศรีเมืองพร้าว
  • ได้รับยกย่องเป็นศีลปินผู้อุทิศเวลาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านศีลปะการซอพื้นเมือง ให้แก่เยาวชน จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2554
  • ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-การขับซอ) ประจำปี พ.ศ. 2555[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]