วัดโยธานิมิต (จังหวัดตราด)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโยธานิมิต
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโยธานิมิต, วัดโบสถ์
ที่ตั้งตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโยธานิมิต เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด

ประวัติ[แก้]

วัดโยธานิมิต หรือ วัดโบสถ์ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2512 ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มารวบรวมกำลังที่จังหวัดตราดเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ได้มารวบรวมกำลังอยู่บริเวณนี้ เมื่อมีเวลาก็ได้ขุดมูลดินไว้เพื่อที่จะสร้างวัดแต่ไม่มีเวลาพอ เพราะได้ยกทัพกลับไปจันทบุรีเสียก่อน ครั้งพระองค์กลับไป พวกกรมการเมืองราษฎรได้นิมนต์พระมาประจำอยู่ติดต่อกันมาตามลำดับ วัดแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) กับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปปราบญวน ได้ยกทัพมาอยู่ที่จังหวัดตราด ในเวลาว่างก็ได้ช่วยกันสร้างวัด แต่ถึงกระนั้นเมื่อตรวจสอบจากพงศาวดารก็ไม่พบบันทึก จะมีเพียงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อคือ ตอนที่ให้พระอภัยพิพิธ พระราชวรินทร์ และพระเทพสงครามคุมทัพเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองระยอง กับพระยาโสรัชชะ ออกญาเสนาอันชิตเจ้าเมืองกำปอด ยกเข้าตีค่ายญวนเมื่อเดือน 4 แรม 14 ค่ำ (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2384)[1]

ส่วนข้อความที่ปรากฏในพงศาวดาร พบว่า เมื่อเดือนอ้าย พ.ศ. 2377 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองออกไปสร้างวัดโยธานิมิต (วัดโบสถ์) ที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมกับสร้างเมืองจันทบุรีขึ้นใหม่ พงศาวดารระบุว่าที่จันทบุรีแต่เมื่อพิจารณาแล้วชื่อวัดโยธานิมิตในจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดต่างมีชื่อพ้องกันทุกประการ แม้แต่ชื่อที่ใช้เรียกกันทั่ว ๆ ไปคือ วัดโบสถ์ จึงเข้าใจว่าอาจเกิดความสับสนระหว่างวัดในจังหวัดจันทบุรีและตราดก็ได้[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

วิหาร หรือ พระอุโบสถเก่า มีลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะอยุธยา ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง พระเวสสันดรชาดก[3] ปัจจุบันวิหารนี้ใช้เป็นที่เก็บโบราณวัตถุ เช่น รอยพระพุทธบาท ตู้ลายรดน้ำ นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ สวนไทร และอุทยานการศึกษา

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดโยธานิมิต". มิวเซียมไทยแลนด์.
  2. "วัดโยธานิมิต พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดตราด.
  3. "วัดโยธานิมิตร". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.