เตียวเต๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตียวเต๊ก (จาง เท่อ)
張特
เจ้าเมืองอานเฟิง (安豐太守 อานเฟิงไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง / โจมอ
ขุนพลตำแหน่งเบ็ดเตล็ด
(雜號將軍 จ๋าเฮ่าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง / โจมอ
ขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครจัวโจว มณฑลเหอเป่ย์
เสียชีวิตไม่ทราบ
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจื๋อฉ่าน (子產)

เตียวเต๊ก (มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 251–253) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง เท่อ (จีน: 張特; พินอิน: Zhāng Tè) ชื่อรอง จื๋อฉ่าน (จีน: 子產; พินอิน: Zǐchǎn) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน มีชื่อเสียงจากการต้านการบุกของง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กในยุทธการที่หับป๋าในปี ค.ศ. 253

ประวัติ[แก้]

เตียวเต๊กเป็นชาวเมืองตุ้นก้วน (涿郡 จัวจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครจัวโจว มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน[1] เตียวเต๊กเริ่มรับราชการเป็นขุนพลรักษาค่ายใหญ่ (牙門將 หยาเหมินเจี้ยง) ภายใต้การบังคับบัญชาของจูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กผู้ดำรงตำแหน่งเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 251 ถึง ค.ศ. 252[2] หลังจากบู๊ขิวเขียมรับตำแหน่งขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออกแทนจูกัดเก๊ก บู๊ขิวเขียมได้มอบหมายให้เตียวเต๊กทำหน้าที่รักษาซินเสีย (新城 ซินเฉิง; แปลว่า "เมือง/ป้อมปราการใหม่") ซึ่งเป็นป้อมปราการที่หับป๋า (合肥 เหอเฝย์)[3]

ในปี ค.ศ. 253 จูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแห่งง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กนำทัพง่อก๊กเข้าโจมตีซินเสียและปิดล้อมป้อมปราการ เตียวเต๊กพร้อมด้วยเยฺว่ ฟาง (樂方) และคนอื่น ๆ นำกำลังพล 3,000 นายขึ้นป้องกันซินเสีย ในช่วงเวลานั้น เตียวเต๊กได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อหลิว เจิ่ง (劉整) และเจิ้ง เซี่ยง (鄭像) ให้ตีฝ่าวงล้อมไปขอกำลังเสริม แต่ทหารของจูกัดเก๊กสามารถสกัดกั้นและจับตัวคนทั้งสองไว้ได้[4] เตียวเต๊กจึงพูดปดกับข้าศึกว่า "บัดนี้ข้าไม่คิดต่อสู้อีก แต่ตามกฎหมายของวุย หากข้าถูกโจมตีเป็นเวลามากกว่า 100 วันและกำลังเสริมยังมาไม่ถึง แม้ว่าข้าจะยอมจำนน แต่ครอบครัวของข้าก็ได้รับการละเว้นโทษ นับแต่ข้าเริ่มรบต้านทานก็เป็นเวลาเก้าสิบกว่าวัน ในเมืองเดิมมีคนมากกว่า 4,000 คน บัดนี้มากกว่าครึ่งตายในการรบ เมื่อเมืองล่ม หากใครไม่ต้องการยอมจำนน ข้าจะพูดอธิบายถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น วันรุ่งขึ้นข้าจะส่งสำมะโนครัว ขอเชิญท่านรับตราประจำตำแหน่งของข้าไปก่อนเพื่อเป็นหลักประกัน"[5] แม้ว่าจูกัดเก๊กยังไม่ได้รับตราประจำตำแหน่งของเตียวเต๊ก แต่จูกัดเก๊กก็เชื่อว่าเตียวเต๊กต้องการยอมจำนนจริง ๆ จึงสั่งให้ทหารหยุดการโจมตี เตียวเต๊กและกำลังพลที่เหลือจึงใช้โอกาสนี้ซ่อมแซมกำแพงและเสริมการป้องกันในชั่วข้ามคืน[6] เช้าวันรุ่งขึ้น เตียวเต๊กบอกกับข้าศึกว่า "เราจะสู้ตาย!" จูกัดเก๊กโกรธมากเมื่อรู้ว่าตนถูกหลอก จึงสั่งทหารให้เข้าโจมตีป้อมปราการอย่างดุเดือด แต่ทหารง่อก๊กเหนื่อยล้าอ่อนกำลังลงหลังการปิดล้อมหลายวัน จึงล้มเหลวในการพังกำแพงซินเสีย จูกัดเก๊กเห็นว่าขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายตนตกต่ำ จึงไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องถอนทัพกลับง่อก๊ก[7]

ราชสำนักวุยก๊กยกย่องเตียวเต๊กจากความกล้าหาญในการป้องกันซินเสีย จึงแต่งตั้งให้เตียวเต๊กเป็นขุนพลตำแหน่งเบ็ดเตล็ด (雜號將軍 จ๋าเฮ่าเจียงจฺวิน)[a] ภายหลังเตียวเต๊กได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองอานเฟิง (安豐郡 อานเฟิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครลู่อาน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน)[8]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและยุคสามก๊ก ยศขุนพลสองแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ขุนพลตำแหน่งสำคัญ (重號將軍 จ้งเฮ่าเจียงจฺวิน) และขุนพลตำแหน่งเบ็ดเตล็ด (雜號將軍 จ๋าเฮ่าเจียงจฺวิน) ประเภทแรกประกอบด้วยขุนพลที่มีการแต่งตั้งโดยเช่นเฉพาะ เช่น มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน), ขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน), ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) และขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน) ประเภทหลังประกอบด้วยขุนพลที่ไม่มีการแต่งตั้งโดยเฉพาะ เช่น ขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน), ขุนพลนายพัน (裨將軍 ผีเจียงจฺวิน), ขุนพลปราบอนารยชน (破虜將軍 พั่วหลู่เจียงจฺวิน) และขุนพลโจมตีกบฏ (討逆將軍 เถานี่เจียงจฺวิน) ยศของเตียวเต๊กจัดอยู่ในประเภทหลัง

อ้างอิง[แก้]

  1. (特字子產,涿郡人) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  2. (先時領牙門,給事鎮東諸葛誕,誕不以為能也,欲遣還護軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  3. (會毌丘儉代誕,遂使特屯守合肥新城。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  4. (及諸葛恪圍城,特與將軍樂方等三軍衆合有三千人,吏兵疾病及戰死者過半,而恪起土山急攻,城將陷,不可護。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  5. (特乃謂吳人曰:「今我無心復戰也。然魏法,被攻過百日而救不至者,雖降,家不坐也。自受敵以來,已九十餘日矣。此城中本有四千餘人,而戰死者已過半,城雖陷,尚有半人不欲降,我當還為相語之,條名別善惡,明日早送名,且持我印綬去以為信。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  6. (乃投其印綬以與之。吳人聽其辭而不取印綬。不攻。頃之,特還,乃夜徹諸屋材柵,補其缺為二重。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  7. (明日,謂吳人曰:「我但有鬬死耳!」吳人大怒,進攻之,不能拔,遂引去。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  8. (朝廷嘉之,加雜號將軍,封列侯,又遷安豐太守。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.

บรรณานุกรม[แก้]